หั่นงบฯวิจัยสวนทางไทยแลนด์ 4.0

บทบรรณาธิการ

 

การปรับลดงบประมาณด้านการวิจัยและพัฒนาของมหาวิทยาลัยรัฐหลายแห่งกำลังสร้างความกังขาให้กับสาธารณชน จากก่อนหน้านี้ก็เคยมีกระแสข่าวในทำนองเดียวกันว่า หน่วยงานในระดับกระทรวง กรม ถูกหั่นงบฯที่ยื่นขอจัดสรรทำให้แต่ละหน่วยงานเหลือวงเงินสำหรับใช้ในการศึกษาวิจัยลดน้อยลงมาก

สวนทางกับนโยบายข้อ 8 ของรัฐบาลที่แถลงต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2557 ว่า จะให้ความสำคัญต่อการวิจัย การพัฒนาต่อยอด และการสร้างนวัตกรรมเพื่อนำไปสู่การผลิตและการบริการที่ทันสมัย โดยเฉพาะการสนับสนุนการเพิ่มค่าใช้จ่ายในการวิจัยและพัฒนาของประเทศ เพื่อมุ่งไปสู่เป้าหมายให้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 1 ของรายได้ประชาชาติ แยกเป็นสัดส่วนรัฐต่อเอกชน 30 : 70 ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

เพื่อให้ประเทศมีความสามารถในการแข่งขันและมีความก้าวหน้าทัดเทียมกับประเทศอื่นที่มีการพัฒนาใกล้เคียงกัน และจัดระบบบริหารงานวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัย และนวัตกรรมให้มีเอกภาพและประสิทธิภาพ โดยให้มีความเชื่อมโยงกับภาคเอกชน

ขณะเดียวกันก็ไปคนละทางกับการผลักดันโมเดลเศรษฐกิจใหม่ “ไทยแลนด์ 4.0” นำพาประเทศก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลางสู่ประเทศที่ประชากรมีรายได้ต่อหัวในระดับที่สูง เปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจไปสู่ value based economy หรือเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม ซึ่งจำเป็นต้องพึ่งพาเทคโนโลยีและการวิจัยพัฒนา

การที่รัฐปรับลดงบประมาณด้านการค้นคว้าวิจัย ทั้ง ๆ ที่พยายามผลักดันให้ทุกภาคส่วนหันมาให้ความสำคัญในเรื่องนี้ อย่างการออกมาตรการทางภาษีให้ผู้ประกอบการภาคเอกชนนำค่าใช้จ่ายในการวิจัยพัฒนามาหักลดหย่อนภาษีได้ 3 เท่า จึงดูชอบกล เพราะก่อนหน้านี้ก็เน้นย้ำให้หน่วยงานภาครัฐ สถาบันการศึกษาสนับสนุน R&D พร้อมให้นำผลการศึกษาวิจัยที่ส่วนใหญ่ถูกเก็บเข้าลิ้นชักมาใช้ให้เกิดประโยชน์ทั้งกับประเทศชาติและเชิงพาณิชย์


ย้อนแย้งและตรงกันข้ามกับสิ่งที่รัฐกำลังทำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังคณะรัฐมนตรี (ครม.) ปลดล็อกงานวิจัยเปิดโอกาสให้เจ้าของผลงานสามารถนำผลงานไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ ที่ต้องนำไปขบคิดเป็นการบ้านคือ การจัดสรรงบประมาณ แต่ละครั้งต้องจัดลำดับความสำคัญและให้น้ำหนักงบฯวิจัยพัฒนาเป็นพิเศษ ขณะที่หน่วยงานเจ้าของโครงการ สถาบันการศึกษาก็ต้องปรับวิธีคิด เลือกค้นคว้าวิจัยสิ่งที่เป็นประโยชน์ และนำมาปรับใช้ในการพัฒนายกระดับคุณภาพชีวิต เศรษฐกิจ สังคมได้จริง ผลวิจัยจึงจะคุ้มค่าและตอบโจทย์ประเทศได้ตรงจุด