“พาราควอต” เกม “ปิดหู ปิดตา” ยุคโลกโซเชียล 4.0

ภาพจาก : www.kehakaset.com

คอลัมน์ ชั้น 5 ประชาชาติ

โดย กฤษณา ไพฑูรย์

 

เป็นกระแสร้อนต่อเนื่องมา 2 สัปดาห์แล้ว สำหรับข่าวลือเรื่องการปลด “อ.ยักษ์” หรือ “ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ออกจากตำแหน่ง ด้วยเหตุว่าไปประกาศเจตนารมณ์ประเทศไทยต้องไม่ใช้สารกำจัดศัตรูพืชทุกประเภท โดยมีเป้าหมายการทำเกษตรอินทรีย์ควบคู่เกษตรทฤษฎีใหม่ ให้ได้ไม่ต่ำกว่า 5 ล้านไร่ ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

นั่นหมายรวมถึง การห้ามใช้สารเคมีกำจัดวัชพืช 3 ชนิด ที่มีปริมาณนำเข้าสูง คือ “พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเสต”…ซึ่งเจตนารมณ์ดังกล่าวของ อ.ยักษ์ อาจจะไปขวางทางผลประโยชน์ของใครหรือไม่ ?

แต่ที่แน่ ๆ ไปขัดแย้งกับมติของ “คณะกรรมการวัตถุอันตราย” เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2561 ที่ได้มีมติเห็นชอบเพียง “ให้จำกัดการใช้” สารเคมี 3 ชนิด ได้แก่ 1.ไม่ให้ใช้สารทั้ง 3 ชนิดโดยสิ้นเชิงในพื้นที่ปลูกผักสวนครัว สมุนไพร พื้นที่ต้นน้ำ และพื้นที่สาธารณะ สนามกอล์ฟ และบ้านเรือน 2.กำหนดสถานที่หรือโซนนิ่งสำหรับพืชเศรษฐกิจที่ใช้ 2 สารเคมี คือ พาราควอต และไกลโฟเสต คือ ข้าวโพด มันสำปะหลัง อ้อย ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และไม้ผล และ 3.ให้ใช้สารคลอร์ไพริฟอสในการปลูกไม้ผล (เพื่อกำจัดหนอนเจาะลำต้น) ไม้ดอก และพืชไร่เท่านั้น

หากมองย้อนกลับ นับเป็นเวลากว่า 1 ปี 4 เดือนมาแล้ว ที่เรื่องราวของ “3 สารเคมีกำจัดวัชพืช” มูลค่าการค้าหลายหมื่นล้านบาท ถูกยื้อยุดฉุดกระชากให้กลับมาคืนชีพ !

ทั้งที่ผลการประชุม “คณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง” ครั้งที่ 4/2560 ตั้งแต่เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2560 ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน พร้อมด้วยตัวแทนจากหน่วยงานภาครัฐ

5 กระทรวง มีมติให้ยกเลิกการใช้สารเคมี 2 ชนิด คือ “พาราควอต และคลอร์ไพริฟอส” โดยถูกกำหนดให้เป็นวัตถุอันตรายชนิด 4 ที่ไม่อนุญาตให้มีการใช้ ส่วน “สารไกลโฟเสต” ให้จำกัดการใช้อย่างเข้มงวด เพื่อความปลอดภัยต่อเกษตรกรและผู้บริโภคด้วยเพราะสารเคมี “พาราควอต” มีพิษเฉียบพลันสูง และยังไม่มียาถอนพิษ 47 ประเทศทั่วโลกยกเลิกการใช้แล้ว ส่วน “คลอร์ไพริฟอส” เป็นสารกำจัดแมลงศัตรูพืช ผลิตภัณฑ์ในบ้านเรือนกำจัดมด ปลวก เห็บ แมลงสาบ สารตัวนี้พบตกค้างสูงสุดในกลุ่มสารกำจัดแมลง ทำให้เกิดความผิดปกติด้านพัฒนาสมอง ไอคิวเด็กลดลง สมาธิสั้น หลายประเทศห้ามใช้ในบ้านเรือน ผักผลไม้ ส่วน “สารไกลโฟเสต” เป็นสารกำจัดวัชพืช หรือยาฆ่าหญ้าที่มีปริมาณนำเข้าสูง องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดให้เป็นสารที่น่าจะก่อมะเร็ง มีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคเพิ่มมากขึ้น 22 โรค เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง อัลไซเมอร์ ฯลฯ

และกระทรวงสาธารณสุขออกมาตอกย้ำชัดอีกครั้งด้วยผลการประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เมื่อวันที่ 15 ก.พ. 61 ว่า ยืนยันตามมติของคณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาการใช้สารเคมีฯ ครั้งก่อน คือ ให้ “ยกเลิก” การใช้ แต่ดูเหมือนเสียงของ “กระทรวงสาธารณสุข” ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านการแพทย์ ที่มีบทบาทในการดูแลสุขภาพของคนไทย กลับไม่มีผู้บริหารกระทรวง และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องรับฟัง !

เพราะตลอดระยะเวลากว่า 1 ปี มีการตั้งคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการขึ้นมาอีกนับไม่ถ้วน เพื่อ “ซื้อเวลา” กันมาตลอด แถมล่าสุดยังมีการปิดบังข้อมูลผลการวิจัย และพิษภัยที่ประชาชนควรทราบ

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ได้ออกมาบอกว่า มติที่ห้ามใช้สารกำจัดวัชพืชเฉพาะในพืชผักสวนครัว สมุนไพร แต่ให้ใช้ได้ในพืชเศรษฐกิจ สารเคมีสามารถไหลผ่านดินเข้าไปบริเวณรอบบ้านที่อยู่อาศัยได้ รวมถึงสามารถซึมเข้าไปในแหล่งน้ำต่าง ๆ ทำให้เกิดการปนเปื้อนในน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคได้

ขณะที่ นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (BioThai) กล่าวว่า สารพิษกำจัดวัชพืชพาราควอต ต่างประเทศยกเลิกการใช้แล้ว 51 ประเทศ และเตรียมการแบนในปี 2020 อีก 2 ประเทศคือ จีน และบราซิล สารฆ่าแมลงชนิดนี้ศาลสหรัฐเพิ่งตัดสินไปเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2561 สั่งการให้สำนักงานสิ่งแวดล้อมสหรัฐ (EPA) ดำเนินการแบนภายใน 60 วัน เช่นเดียวกับที่ไกลโฟเสต ซึ่งสถาบันมะเร็งนานาชาติ (IARC) ขององค์การอนามัยโลก ประกาศให้เป็นสารน่าจะก่อมะเร็งนั้น ศาลสหรัฐเพิ่งตัดสินให้บริษัทมอนซานโต้ต้องจ่ายค่าเสียหายแก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบ มีมูลค่าสูงเกือบ 1 หมื่นล้านบาท

เช่นเดียวกับที่ นางสาวปรกชล อู๋ทรัพย์ ผู้ประสานงานเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) ระบุว่า การพิจารณาของอนุกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาการควบคุมวัตถุอันตรายพาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเสตไม่นำประเด็นสาเหตุหลักของการแบนมาใส่ในรายงาน เช่น การที่สำนักงานสิ่งแวดล้อมสหรัฐล่าสุดประกาศให้พาราควอต เป็นสารพิษที่มีพิษเฉียบพลันสูง แค่จิบเดียวก็ตายได้ และไม่มียาถอนพิษ ไม่ใส่งานวิจัยเป็นจำนวนมากที่พบว่า คลอร์ไพริฟอส ก่อให้เกิดผลกระทบต่อพัฒนาการทางสมองของทารกอย่างถาวร พยายามปิดกั้นการนำเสนอข้อมูลการพบการตกค้างของพาราควอตในขี้เทาทารกแรกเกิดของมหาวิทยาลัยมหิดล โดยอ้างว่ายังไม่มีการตีพิมพ์ แต่กลับนำเอาข้อมูลซึ่งไม่มีการตีพิมพ์ของหน่วยงานที่สนับสนุนการใช้สารพิษต่อ เช่น ข้อมูลของบริษัทมอนซานโต้ สมาคมวิทยาการวัชพืช ทั้งหมดเพื่อเสนอต่อคณะกรรมการวัตถุอันตรายคณะใหญ่ และนำไปสู่การลงมติอัปยศ ให้มีการใช้สารพิษทั้ง 3 ชนิดต่อ


การเล่นเกม “ปิดหู ปิดตา” กับประชาชนแบบเดิม ๆ ของบางหน่วยราชการ ในวันที่โลกโซเชียลเปิดกว้าง พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยน…วิถีทางเดิมที่เคยล้างสมองคนไทยจะใช้ได้ในยุคโซเชียล 4.0 ! หรือไม่…รอดูผลกันต่อไป