“รถไฟความเร็วสูง” เมดอินไชน่า “CRCC-CRRC” หัวขบวนขับเคลื่อน

4 สิ่งประดิษฐ์แห่งยุคสมัยปัจจุบันของชาวจีนรุ่นใหม่ มี “รถไฟความเร็วสูง” (high-speed rail) รวมอยู่ด้วย นอกเหนือไปจาก “ระบบจ่ายเงินผ่านมือถือ, การซื้อสินค้าออนไลน์ และการแชริ่ง “จักรยานสาธารณะ” แม้ไม่สามารถกล่าวได้ว่าเป็นผู้คิดค้นเป็นรายแรก แต่ “จีน” ได้ทำให้นวัตกรรมเหล่านั้นได้รับความนิยมและมีผู้ใช้จำนวนมาก ในบ้านเรารัฐบาลก็กำลังจะมีโครงการรถไฟความเร็วสูง (high-speed rail) เช่นกัน

“จีน” ปักธงผู้นำ HSR ครบวงจร

ประเทศจีนเพิ่งจะมี “รถไฟความเร็วสูง” ในช่วงสิบปีที่แล้วแต่ขึ้นมาเป็นเบอร์ 1 ของโลกได้สำเร็จ ทั้งในแง่ระยะทางที่เปิดให้บริการ ณ สิ้นปี 2017 อยู่ที่ 25,000 กิโลเมตร คิดเป็น 66.3% ของระยะทางในการให้บริการของทั้งโลก ในแง่ขน “คน” ก็มากกว่า 1.7 เท่าของประเทศอันดับ 2-10 รวมกัน

10 กว่าปีก่อนมีรถไฟความเร็วสูงสายแรก “จีน” ส่งคนไปเรียนรู้เทคโนโลยีจากประเทศที่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญ ทั้งญี่ปุ่น, ฝรั่งเศส, อิตาลี, สเปน และเยอรมนี เพื่อไปหาว่าเทคโนโลยีใดที่เหมาะกับตนมากที่สุด และพัฒนามาเป็นเทคโนโลยีของตนเองที่เรียกว่า “ไฮบริด”และวางเป้าหมายไว้ตั้งแต่แรกว่า ถ้าจะทำต้อง “ครบวงจร” ทั้งการออกแบบ, ก่อสร้างระบบ, การผลิตทั้งภายในและภายนอกรถไฟ, ระบบอาณัติสัญญาณต่าง ๆ และการบริหารจัดการการเดินรถ รวมถึงการซ่อมบำรุงเองให้ได้ด้วย เรียกว่า ทำตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำได้โดยเบ็ดเสร็จ

“ฟู่ซิง” ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ

จีนตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาข้อมูลและเตรียมการเรื่องการพัฒนาบุคลากรด้านรถไฟความเร็วสูงมาก่อนที่รถไฟความเร็วสูง สาย “ปักกิ่ง-เซี่ยงไฮ้” จะเปิดให้บริการไม่น้อยกว่าสิบปี โดยมีความรู้ความชำนาญด้านรถไฟอยู่แล้ว เพราะมีอุตสาหกรรมรถไฟมายาวนาน เมื่อตัดสินใจทำรถไฟความเร็วสูงจึงเป็นการเรียนรู้และพัฒนาต่อยอดจากสิ่งที่มีอยู่เดิม

รถไฟความเร็วสูงของจีนแบ่งได้ 3 รุ่นตามความเร็ว คือ 250 กม./ชม., 350 กม./ชม. และความเร็วสูงกว่า 400 กม./ชม.

รุ่นใหม่ที่วิ่งด้วยความเร็ว 350 กม./ชม. ชื่อ “ฟู่ซิง” (Fuxing) แปลว่า “ฟื้นฟู” หมายถึง “ความเป็นประชาชาติที่ยิ่งใหญ่ของจีนได้รับการฟื้นฟู” รถไฟรุ่นนี้จัดอยู่ในระดับแถวหน้าของโลกในทุกดีไซน์ของรถไฟความเร็วสูง

และไม่เฉพาะรถไฟที่มี “ล้อและราง” แต่จีนยังกำลังพัฒนารถไฟความเร็วสูงแบบใหม่ทั้ง maglev ที่ใช้พลังงานแม่เหล็กไฟฟ้า และ hyperloop อีกด้วย

โครงการรถไฟความเร็วสูงของจีนจะถือเป็นยุทธศาสตร์ชาติ จึงไม่ได้มุ่งไปที่การสร้างกำไรเป็นหลัก แต่เส้นทางสาย “ปักกิ่ง-เซี่ยงไฮ้” ระยะทางกว่า 1,300 กิโลเมตร ช่วงแรกหลายฝ่ายมองว่าไม่น่าได้รับการตอบรับที่ดี เพราะคงมีราคาแพง แต่ปรากฏว่าเมื่อเปิดบริการกลับเป็นเส้นทางที่ได้รับความนิยมมากจนถึงขั้นหาตั๋วโดยสารได้ยาก

รัฐบาลลงทุน-ท้องถิ่นบริหาร

ตั้งแต่ริเริ่มโครงการรัฐบาลจีนจะเป็นผู้ลงทุนเองทั้งหมด และดำเนินการโดยบริษัทรัฐวิสาหกิจของจีน คือ China Railway Construction Corporation หรือ CRCC (1 ใน 31 บริษัทที่ซื้อซองประมูลโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินบ้านเรา)

CRCC ไม่ได้ทำแค่รถไฟความเร็วสูง แต่เป็นบริษัทที่ทำระบบคมนาคมครบวงจร ทั้งรถไฟใต้ดิน, สะพาน, ทางหลวง และอุโมงค์ต่าง ๆ สยายปีกการลงทุนไปในประเทศต่าง ๆ กว่า 112 ประเทศทั่วโลก

ต่อมาในปี 2013 รัฐบาลจีนเริ่มเปิดให้บริษัทเอกชนจีนเข้ามาร่วมลงทุนใน 2 สาย คือ สาย “ชิงเต่า-จีหนาน” และ “หางโจว-เส้าชิง” ไม่รวมการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์รอบสถานี (transit oriented development) หรือ TOD เพราะมั่นใจว่าเฉพาะรายได้จากการขายตั๋วก็ทำให้คุ้มทุนได้

แม้รัฐบาลลงทุนแต่การบริหารสถานีในแต่ละพื้นที่จะเป็นของหน่วยงานในท้องถิ่น เช่น สถานีรถไฟความเร็วสูง “หงเฉียวเซี่ยงไฮ้” บริหารงานโดย Shanghai Railway Bureau

“หงเฉียวเซี่ยงไฮ้” เป็นสถานีรถไฟความเร็วสูงที่ใหญ่ที่สุดในจีน เพราะเป็นสถานีชุมสายเชื่อมต่อรถไฟความเร็วสูง 5 ทิศทาง เชื่อมโยงการคมนาคมขนส่งทุกรูปแบบครอบคลุมทั้งท่าอากาศยาน,ทางหลวง (highway) รถไฟระหว่างเมือง ระบบขนส่งมวลชนรถไฟใต้ดิน (metro), รถประจำทางสาธารณะ และแท็กซี่ ในแต่ละวันจึงมีผู้โดยสารเดินทางมากกว่า 260,000 คน ยิ่งในช่วงเทศกาล เช่น ตรุษจีน จะมากถึง 500,000 คน/วัน

“รถไฟ” เปลี่ยนชีวิตคนจีน

“โจ๋ว เหล่ย” ประธานกรรมการ บริษัท China Railway Construction Corporation (International) Limited หรือ CRCC International กล่าวว่า การสร้างสิ่งใหม่ ๆ ในแต่ละประเทศย่อมมีคนเห็นต่างกัน ก่อนมีรถไฟความเร็วสูงในสังคมจีนมีการพูดกันว่าจะสร้างทำไมทั้งที่มีบริการราคาถูกอยู่แล้ว สร้างแล้วจะมีคนนั่ง หรือสร้างให้คนรวยนั่งใช่ไหม แต่ทุกวันนี้ “คนจีนทุกคนจะพูดว่า รถไฟความเร็วสูงเปลี่ยนชีวิตคนจีน ไม่มีใครพูดแล้วว่า สร้างให้คนรวยใช้”

และถ้ามีการเดินทางในระยะทางไม่เกิน 1 พันกิโลเมตร คนจีนจะเลือกใช้รถไฟความเร็วสูงไม่ใช้เครื่องบินประธาน CRCC ยกตัวอย่างว่า บริษัทมีบริษัทลูกอยู่ที่เมืองจีหนาน เมื่อก่อนจะมาประชุมที่ปักกิ่งต้องนั่งรถไฟมาก่อน 1 วัน ค้าง 1 คืน ปัจจุบันไปเช้ากลับบ้านเย็นได้

นอกจากนี้ รัฐบาลจีนยังมีแผนการลงทุนเพื่อพัฒนาระบบรางทั้งแบบความเร็วสูงและแบบธรรมดาอย่างต่อเนื่องอีกปีละประมาณ 4 ล้านล้านบาท ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ

ฐานการผลิตรถไฟโลก

อีกบริษัทที่มีบทบาทในอุตสาหกรรมรถไฟจีนและของโลก คือ บริษัท CRRC Qingdao Sifang Co., Ltd. เริ่มจากผลิตรถไฟหัวจักรไอน้ำ ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ครอบคลุมทั้งรถไฟใต้ดิน, รถไฟระหว่างเมือง, รถไฟความเร็วสูง ตั้งแต่ 250-400 กม./ชม.

โดยก่อนปี 2003 บริษัทยังไม่มีเทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูงของตนเอง แต่มีทีมวิจัยและพัฒนาที่ทำงานกับทั่วโลกในการศึกษาเบื้องหลังเทคโนโลยีแต่ละอันเพื่อนำมาต่อยอด ทำให้ผลิตรถไฟความเร็วสูงรุ่นแรก 380A ได้ในปี 2008 วิ่งได้ 350 กม./ชม.

ต่อมาต่อยอดไปรุ่นที่วิ่งได้ 605 กม. พัฒนารถไฟความเร็วสูงที่วิ่งในอุณหภูมิต่ำหรือสูงรับมือภัยธรรมชาติต่าง ๆ ได้ ผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความนิยม คือ รถไฟความเร็วสูง “ฟู่ซิง” ที่ต่อยอดจาก 380A ทำตลาดไปในหลายประเทศ

ผู้บริหารบริษัท CRRC ย้ำว่า บริษัทต้องการเป็นบริษัทที่มุ่งพัฒนาการขนส่งระบบรางที่มีผลิตภัณฑ์ครอบคลุมทุกความต้องการของผู้บริโภคทำให้มีประสบการณ์ที่ดี สะดวกสบายทำให้แต่ละมิติของชีวิตคู่ขนานไปกับการเดินทางโดยรถไฟ


“ต้นทุนของจีนถูกกว่าคนอื่นไม่ใช่แค่นิดเดียว จีนเป็นโรงงานของโลกเกือบทุกอย่างที่รถไฟใช้ มีบ้างที่ต้องนำเข้าแต่น้อยมาก การทำรถไฟความเร็วสูงถ้าเราคำนึงว่าลงทุนเท่าไร มีรายได้จากการขายตั๋วเท่าไร คุ้มไหม เป็นโลจิกที่ผิด เพราะไม่ได้สร้างขึ้นมาเพื่อขายตั๋ว โครงการรถไฟความเร็วสูงทำให้หัวเมืองใหญ่ที่มีเศรษฐกิจดี ประชากรเยอะ เชื่อมไปยังเมืองอื่น ๆ ได้ จึงมีผลต่อเศรษฐกิจของประเทศ”