“Bitcoin” ยังไม่ถูกกฎหมายในประเทศไทย

คอลัมน์ Smart SMEs
โดย วีระศักดิ์ สุตัณฑวิบูลย์ ธนาคารกรุงเทพ

ทุกวันนี้ กลุ่มคนรุ่นใหม่ ที่เรียกว่า Millennials หรือ Millennial Generation มีพฤติกรรมการใช้สื่อออนไลน์เป็นช่องทางหลักในการรับข้อมูลข่าวสาร จากการวิจัยตลาดของ Nielson พบว่า Millennials คือกลุ่มที่เป็นเจ้าของสมาร์ทโฟนมากที่สุด มีการใช้อุปกรณ์พกพา 2-3 เครื่อง มีการใช้โซเชียลมีเดีย ทั้งเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ อินสตาแกรมและยูทูบ จัดเป็นกลุ่มที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในอนาคต มีอิทธิพลต่อการซื้อสินค้าออนไลน์มากที่สุดในยุคนี้ บวกกับศูนย์วิจัยข้อมูล Facebook IQ ได้สำรวจตลาดในอเมริกา พบว่า มิลเลนเนียลเป็นกลุ่มที่ใช้บริการของสถาบันการเงินลดลง และมองหาบริการด้านการเงินรูปแบบใหม่ ๆ มากขึ้น

โดยเฉพาะบริการโมบายแบงกิ้งมีความนิยมเพิ่มขึ้น มีสัดส่วน 49% มากกว่าการเข้าไปในธนาคารสาขาซึ่งมีสัดส่วน 36% รองลงมาเป็นการใช้บริการผ่านระบบคอมพิวเตอร์ 9% และผ่านระบบโทรศัพท์ 6% ตามลำดับ ส่งผลให้คนกลุ่มนี้ต้องการบริการใหม่ ๆ ที่เข้าถึงง่ายและมีอิสระด้านการใช้จ่าย ด้วยความที่คนรุ่นนี้ใช้ชีวิตอยู่ในโลกออนไลน์ค่อนข้างมาก จึงมีการจับจ่ายใช้สอยผ่านช่องทางดิจิทัลมากขึ้นทุกที และแม้ว่าปัจจุบันนี้ได้มีการพัฒนาบริการชำระเงินออนไลน์ออกมาอย่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการหักบัญชีเงินฝากผ่านบริการอินเทอร์เน็ตแบงกิ้ง โมบายแบงกิ้ง หรือชำระด้วยเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Money) รวมถึงการชำระผ่านเว็บไซต์ของร้านค้าออนไลน์ ด้วยบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิต เช่น LinePay, Alipay และ PayPal

แต่ยังมีการชำระเงินอีกประเภทหนึ่งที่ผู้บริโภคกลุ่ม Millennial เริ่มหันมาใช้ นั่นคือสกุลเงินดิจิทัล ที่เรียกว่า บิตคอยน์ (Bitcoin) ซึ่งเป็นสกุลเงินที่เกิดจากกลไกซึ่งกำหนดโดยระบบคอมพิวเตอร์ เพื่อมุ่งหวังจะให้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนเสมือนเงินตรา เดิมทีนั้นสกุลเงินบิตคอยน์ จะถูกจัดเก็บไว้ในเครื่องคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์

พกพาและสามารถโอนให้กันได้ผ่านระบบอินเทอร์เน็ตโดยไม่ต้องผ่านคนกลาง นั่นก็คือ สถาบันการเงินหรือธนาคาร และมีค่าธรรมเนียมในอัตราที่ถูกมาก ต่อมาได้เริ่มมีการนำมาใช้แลกเปลี่ยนกับสินค้าในลักษณะของการซื้อขายเช่นเดียวกับการใช้บัตรเครดิต ทั้งยังมีการนำมาแลกเปลี่ยนกับเงินสกุลต่าง ๆ

โดยอัตราแลกเปลี่ยนนั้นถูกกำหนดกันเองภายในแวดวงผู้ใช้ ปัจจุบันบิตคอยน์กำลังได้รับความสนใจในหลายประเทศ ทั้งในยุโรป และเอเชีย ตัวอย่างในประเทศที่ใกล้ตัวเราสักหน่อยได้แก่ การที่เชนห้างสรรพสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ Bic Camera ในญี่ปุ่นทดลองเปิดให้บริการ bitFlyer รับชำระเงินด้วยบิตคอยน์เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา หลังจากรัฐบาลญี่ปุ่นได้ปรับปรุงกฎหมายการกำกับดูแลธนาคารใหม่เพื่อรองรับบริการดังกล่าว หรือแม้แต่การที่วัดใหญ่ ๆ หลายแห่งในญี่ปุ่นหันมารับบริจาคด้วยบิตคอยน์ แสดงให้เห็นว่าบิตคอยน์กำลังเป็นที่ยอมรับมากขึ้น

วิกฤตการณ์ทางการเงินในประเทศจีนในปีที่ผ่านมา ซึ่งทำให้ค่าเงินหยวนอ่อนค่าลงอย่างมาก การทำลายธนบัตรฉบับละ 500 และ 1,000 รูปีโดยรัฐบาลอินเดีย ตลอดจนผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐอเมริกา ล้วนเป็นปัจจัยที่มีส่วนผลักดันให้ประชาชนหันมาสนใจใช้บิตคอยน์มากยิ่งขึ้น จนมีการคาดการณ์ว่าบิตคอยน์อาจจะกลายเป็นสกุลเงินหลักในอนาคต

สำหรับประเทศไทย ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังไม่รับรองว่าบิตคอยน์เป็นเงินที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย แต่วัตถุประสงค์ของผมที่นำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับบิตคอยน์ในครั้งนี้ ก็คือ ต้องการให้ท่านผู้ประกอบการไทยได้รับรู้ถึงเทรนด์ใหม่ ๆ และทำความเข้าใจกระแสสังคมและพฤติกรรมลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งรู้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี

ล่าสุด ปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา ธปท.ได้ออกประกาศเตือนประชาชนเกี่ยวกับการลงทุนในบิตคอยน์ โดยมีใจความสำคัญคือ บิตคอยน์ไม่ใช่เงินที่สามารถใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมายไทย ประชาชนควรระมัดระวัง ศึกษาข้อมูลและรายละเอียดให้เข้าใจอย่างถ่องแท้เพราะมีความเสี่ยงที่มูลค่าของหน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้จะผันผวน หรือปรับลดค่าลงได้อย่างรวดเร็ว และอาจใช้เป็นช่องทางในการหลอกลวงและฉ้อโกงประชาชนได้ โดยเฉพาะในกรณีที่มีการโฆษณาว่าเป็นผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่จะให้ผลตอบแทนสูง หากมีการหาสมาชิกเพิ่มได้มาก

ทั้งนี้หากท่านเคยได้ยินได้ฟังเกี่ยวกับบิตคอยน์มาก่อนหน้า หรือลูกค้าของท่านขอมาว่า อยากจะให้ธุรกิจของท่านรับชำระเงินได้ด้วยบิตคอยน์ หรือมีการเชิญชวนให้ลงทุนที่เกี่ยวกับบิตคอยน์

ขอเรียนว่า “อย่าเพิ่งรีบร้อน” นะครับ ท่านควรจะศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติม และพิจารณาให้ถี่ถ้วนก่อนก็จะดี เพราะการมองหาช่องทางใหม่ต้องมาพร้อมกับการวางแผนให้ดีเพื่อโอกาสทางธุรกิจในอนาคตข้างหน้าด้วยเช่นกันครับ