ช่วยกันระวังโรคระบาดแอฟริกันในหมู

แฟ้มภาพ

บทบรรณาธิการ

แม้ว่าโรคไข้อหิวาต์แอฟริกันในหมู หรือ African Swine Fever จะยังไม่พบการระบาดในประเทศไทย แต่ก็มีรายงานจากประเทศใกล้เคียงอย่างจีน พบการระบาดอย่างหนักใน 5 มณฑล โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่มณฑลเหลียวหนิง มีการระบาดหนักที่สุด และจีนได้สั่งฆ่าหมูไปแล้วกว่า 40,000 ตัว

ความน่ากลัวของโรคระบาดในหมูครั้งนี้ก็คือ ยังไม่มีวิธีการรักษา ไม่มีวัคซีนป้องกัน วิธีการที่ใช้อยู่ในปัจจุบันเมื่อพบหมูติดโรค ASF คือ การฆ่าหมูทิ้งและทำลายซากไม่นำมาบริโภคหรือใช้ประโยชน์จากซากอีก

โรคระบาดในหมูชนิดนี้ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น แต่พบต้นตอของโรคที่ภูมิภาคซับซาฮาราในแอฟริกา ในหมูป่า มาตั้งแต่ 58 ปีที่แล้ว การระบาดเริ่มแรกจำกัดวงเฉพาะ 20 ประเทศในแอฟริกา

ต่อมาเริ่มแพร่เข้าสู่กลุ่มประเทศเมดิเตอร์เรเนียนเข้าสู่ยุโรปตอนกลาง ตะวันออกกลาง อเมริกาใต้บางประเทศ และขยับเข้ามาในแถบรัสเซีย และล่าสุดได้เกิดการระบาดเข้ามาในเอเชีย สู่จีนเป็นครั้งแรก และอัตราการระบาดทวีขึ้นอย่างรวดเร็ว โรคระบาดหมูสามารถขยายวงจากจุดที่พบการระบาดได้ไกลกว่า 1,000 กิโลเมตร

สิ่งที่อุตสาหกรรมปศุสัตว์โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อุตสาหกรรมหมูและผลิตภัณฑ์ในไทยกังวลอยู่ในขณะนี้ก็คือ จุดที่เกิดการระบาดอย่างเป็นวงกว้างในประเทศจีนนั้น เมื่อวัดจากระยะทางแล้ว นับว่าใกล้ประเทศไทยมาก

แถมเชื้อไวรัสที่พบในไข้อหิวาต์แอฟริกันในหมูสามารถอยู่ในสภาวะแวดล้อมปกติได้นาน มีความทนทานต่ออุณหภูมิสูง ต้องใช้ความร้อน 56 องศาเซลเซียส เป็นเวลานานกว่า 70 นาที จึงจะฆ่าเชื้อได้

นั่นหมายความว่าหากเกิดโรคระบาด ASF รุนแรงขึ้นในฟาร์ม หมูจะตายในเวลาไม่กี่วัน การป้องกันการระบาดทำได้ทางเดียวคือ ต้องฆ่าหมูทั้งฟาร์ม-ทำลายซาก ห้ามบริโภคหมูที่ติดโรค เพื่อควบคุมโรคในการจำกัดวง และเฝ้าติดตามใกล้ชิดเพื่อให้โรคสงบ ซึ่งต้องใช้เวลายาวนาน ไม่สามารถเลี้ยงหมูในพื้นที่ระบาดได้อีก

จริงอยู่ที่ว่าโรคไข้อหิวาต์แอฟริกันในหมู ยังไม่มีรายงานการเกิดโรคในคน แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าจะเกิดขึ้นไม่ได้ เนื่องจากเชื้อไวรัสเกิดการเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งพาหะในหมู นอกจากนี้

หากเกิดการระบาดขึ้น อุตสาหกรรมหมูจะเสียหายมากที่สุด ทั้งในแง่ความเชื่อมั่นผู้บริโภค และการส่งหมูและผลิตภัณฑ์ออกไปต่างประเทศ


แต่น่ายินดีที่กรมปศุสัตว์ตระหนักถึงอันตรายจากโรคนี้ โดยได้ออกประกาศชะลอการนำเข้าหมูและผลิตภัณฑ์จากจีน 90 วัน และสั่งการให้ด่านปศุสัตว์ทั่วประเทศทั้งชายแดนและสนามบิน คุมเข้มเป็นพิเศษ ไม่ให้โรคร้ายหลุดรอดเข้ามาในประเทศไทยได้