มึน ๆ งง ๆ สัมปทาน “ดีแทค”

คอลัมน์ ชั้น 5 ประชาชาติ

โดย สร้อย ประชาชาติ

หนึ่งเดือนที่ผ่านมาที่ผู้ที่เกี่ยวข้องกับสัมปทาน “ดีแทค” ยุ่งเหยิงกันสุด ๆ ไม่ว่าจะเป็นฝั่งดีแทคเอง ฝั่ง “กสทช.” คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ที่ตอบโต้กันไปมาว่า สิ้นสุดสัมปทาน 15 ก.ย. 2561 ดีแทคจะได้สิทธิ์เปิดให้บริการชั่วคราวไปก่อนเหมือนกับ 3 สัมปทานมือถือที่สิ้นสุดไปก่อนหน้านี้หรือไม่ ซึ่งสุดท้ายปัญหาก็ถูกลากไปสู่ศาลปกครอง

แต่ที่หนักสุด น่าจะเป็นลูกค้าของ “ดีแทค” ซึ่งมีไม่น้อยที่กังวลว่า “แล้วฉันจะซิมดับหรือเปล่า” คำถามเหล่านี้พบได้ทั้งตามเว็บบอร์ดสาธารณะ ไปจนถึงตามรายการวิทยุต่าง ๆ ที่มีแฟนคลับรุ่นเก๋าส่งคำถามถึง เหตุด้วยปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากข้อกฎหมายล้วน ๆ ซึ่งยากที่บุคคลทั่วไปที่ไม่ได้สนใจวงการโทรคมนาคมจะเข้าใจได้ง่าย ๆ

เพราะในชั้นเชิงของธุรกิจนั้น ภายใต้แบรนด์ “ดีแทค” มี 2 ระบบการให้บริการ คือ ภายใต้สัมปทาน ซึ่งดำเนินการโดย บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) และภายใต้ใบอนุญาตจาก กสทช.ที่ประมูลคลื่นได้ ซึ่งดำเนินการโดย ดีแทค ไตรเน็ต (บางแบรนด์จะซับซ้อนกว่านี้อีก)

เมื่อมีข่าวว่า ลูกค้า “ดีแทค” เสี่ยงซิมดับ ย่อมทำให้ลูกค้าสับสนมึนงงว่า “แล้วฉันจะเกี่ยวไหม” ยิ่งถ้าไม่ได้ใช้บริการแบบรายเดือนที่มีใบเสร็จรับเงิน หรือใบแจ้งหนี้ที่ระบุชื่อบริษัทที่ให้บริการให้ดูแล้ว ก็ไม่ง่ายที่จะรู้ ยิ่งก่อนหน้านี้มีโปรโมชั่นต่าง ๆ มาหลอกล่อให้ลูกค้าสมัครใช้ โดยมี *ดอกจัน ตัวเล็กจิ๋ว ระบุว่า การสมัครโปรโมชั่นดังกล่าวเป็นการยินยอมที่จะย้ายไปใช้บริการกับ ดีแทค ไตรเน็ต โดยที่ลูกค้าไม่ได้กรอกเอกสารใด แค่กดเครื่องหมายดอกจันนั่นนี่เท่านั้น จึงเชื่อว่ามีลูกค้าจำนวนไม่น้อยที่รู้แค่ว่า ฉันเป็นลูกค้าดีแทค แต่ไม่รู้ว่า “จริง ๆ บริษัทที่ตัวเองใช้บริการอยู่ชื่ออะไร”

แต่ที่ชวนให้มึนกว่าคือ ฝั่งผู้บริหาร “ดีแทค” เองก็ย้ำว่า ไม่ใช่ลูกค้าสัมปทาน 3 แสนกว่าเลขหมายทั้งหมดจะซิมดับ แต่จะกระทบเฉพาะที่ใช้บริการบนคลื่น 850 MHz ซึ่งมีอยู่ราว 9 หมื่นเลขหมาย และต้องเป็นกลุ่มที่ใช้เครื่องโทรศัพท์ที่รองรับเฉพาะคลื่น 850 MHz รวมถึงอยู่ในพื้นที่ที่มีเฉพาะคลื่น 850 MHz ให้บริการ แต่ !!! ลูกค้าของดีแทค ไตรเน็ต ที่ใช้บริการโรมมิ่งบนคลื่น 850 MHz อีกกว่า 1 ล้านเลขหมาย จะกระทบด้วย

อ้าว ! มึนหนักขึ้นไปอีก

เมื่อซักต่อว่า 1 ล้านเลขหมายนี้จะกระทบมากน้อยแค่ไหน ก็ได้คำตอบว่า แล้วแต่แฮนด์เซตและพื้นที่ใช้งาน โดยจะพัฒนาระบบให้ลูกค้าแต่ละคน กดเช็กจากมือถือตัวเองได้เอง ซึ่งล่าสุดได้แจ้งว่า ให้กด *444# แล้วโทร.ออกจากเครื่องตัวเอง

เมื่อทดลองกดจาก “มือถือปุ่มกด” ซึ่งผู้สูงวัยในบ้านใช้มา 4 ปีแล้ว และซิมการ์ดที่ใช้ยังสกรีนคำว่า Worldphone 1800 เรียกว่าเป็นซิมยุคก่อนเทเลนอร์เข้ามาซื้อหุ้นดีแทคเสียอีก จึงเป็นลูกค้าในสัมปทานแน่ ๆ กลับได้ข้อความระบุว่า “เลขหมายไม่เข้าเงื่อนไข”

ถ้าเป็นลูกค้าทั่ว ๆ ไปก็คงคิดว่า ตัวเองไม่ได้ผลกระทบจากเหตุการณ์นี้

แต่ก็อ้าวแล้ว SMS ที่ส่งมาให้เมื่อวานที่บอกว่า “เลขหมายนี้อยู่ในระบบสัมปทาน จะใช้งานไม่ได้หลังวันที่ 15 ก.ย. 2561 ขอให้มาเปลี่ยนซิมการ์ดใหม่” มันคืออะไร ???

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสะท้อนว่า “การบริหารการสื่อสารกับลูกค้า” ยังสำคัญกับทุกองค์กร ยิ่งในเรื่องที่มีความซับซ้อนยิ่งสำคัญ ขณะเดียวกันก็ “เพลียจิต” เมื่อนึกถึงกลุ่มผู้บริโภคที่เป็นกลุ่มเสี่ยงที่สุดที่จะได้รับผลกระทบ นั่นคือ กลุ่มลูกค้าที่ยังใช้เครื่องปุ่มกดรุ่นเก่า ๆ ซึ่งส่วนใหญ่ คือ กลุ่มผู้สูงวัย และกลุ่มผู้ที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล (ค่ายมือถือมักจะมีให้บริการเฉพาะคลื่นย่านต่ำกว่า 1GHz เป็นหลัก) ว่าเขาจะได้รับการสื่อสารแบบไหนหนอ

แม้ว่าสุดท้ายแล้ว ศาลปกครองกลางจะมีคำสั่งคุ้มครองให้ดีแทคสามารถเปิดให้บริการเป็นการชั่วคราวหลังสิ้นสุดสัมปทานได้จนถึง 15 ธ.ค. 2561 แต่ถ้าการสื่อสารยังไม่ไปถึงลูกค้ากลุ่มเสี่ยง สถานการณ์ตอนนี้ก็เท่ากับว่า แค่ยื้อเวลาที่ลูกค้าจะได้รับผลกระทบออกไปอีก งานนี้บอกได้แค่ว่า “ดีแทค” เสียรังวัดอย่างแรง ไม่รู้จะคุ้มไหมกับการพยายามชูประเด็นว่าจะมีลูกค้ากระทบแค่ไหน หากไม่ได้รับสิทธิ์เยียวยา