เพราะโลกร้อนหรือเมืองร้อน กับวิธีการบรรเทาที่เป็นไปได้

คอลัมน์ เปิดมุมมอง

โดย กรนภา ยังคง ทีมกรุ๊ป

ปัจจุบันคนไทยมักคุ้นชินกับคำว่า “ภาวะโลกร้อน” และส่วนใหญ่มักใช้คำนี้ในการเอ่ยถึงหรือบ่นถึงในยามที่เกิดสภาพอากาศแปรปรวน ยามที่ทุกคนรู้สึกร้อนจัด หรือแม้กระทั่งในยามเกิดเหตุภัยทางธรรมชาติที่ผิดแปลกไป ภาวะโลกร้อนจึงเป็นจำเลยสำคัญที่มนุษย์ใช้เอ่ยถึงเมื่ออากาศร้อนจัด แต่รู้หรือไม่ว่าภาวะโลกร้อนที่จริงแล้วนั้นหมายถึงการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศที่เกิดจากการกระทำหรือกิจกรรมของมนุษย์ที่เป็นสาเหตุหลักทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มสูงขึ้น เราจึงเรียกว่า “ภาวะโลกร้อน” (global warming)

เคยสงสัยกันหรือไม่ ? เหตุใดเมื่อเราอยู่ในพื้นที่ที่เป็นที่อยู่อาศัย หรือพื้นที่ที่เรียกว่า เมือง ถึงรู้สึกร้อนกว่าพื้นที่ที่ปราศจากสิ่งปลูกสร้าง หรือพื้นที่ป่า นี่แหละคือคำถามชวนฉุกคิดที่พอจะทำให้หลายคนเห็นภาพได้ว่า เจ้าสภาวะความร้อนหรือสภาพอากาศที่ร้อนจัดที่ทุกคนสัมผัสได้และมักบ่นว่าเป็นผลมาจากภาวะโลกร้อนนั้น ความจริงแล้วสภาวะที่เรากำลังเผชิญและรู้สึกได้อยู่ทุกวันนี้ มันคือปรากฏการณ์เกาะร้อน (urban heat Island) หรือปรากฏการณ์โดมความร้อนเมือง พูดให้ง่ายขึ้นก็คือ ทุกพื้นที่ได้รับความร้อนจากดวงอาทิตย์เท่า ๆ กัน แต่ดูดซับและสะท้อนกลับได้ไม่เท่ากัน

เกิดขึ้นได้อย่างไรนั้น ? เหตุก็มาจากสภาพพื้นที่เมืองหรือชุมชนเมืองมีสิ่งปลูกสร้างที่ทำมาจากวัสดุที่เก็บกักความร้อนเป็นจำนวนมาก เช่น อาคารบ้านเรือน ตึกสูง พื้นที่ดาดแข็งต่าง ๆ ถนนหนทาง ล้วนแล้วแต่มีการดูดซับความร้อนได้ง่าย แต่การคายความร้อนและการสะท้อนความร้อนกลับสู่ชั้นบรรยากาศเกิดขึ้นน้อยหรือช้า จึงทำให้ความร้อนนั้นยังคงอยู่และถูกสะสมไว้นั่นเอง

และถ้าหากพื้นที่อยู่อาศัยหรือเมืองนั้น ๆ มีอาคารสูงแออัดรวมกันเป็นจำนวนมาก พื้นที่เปิดโล่งระหว่างอาคารน้อย แสงอาทิตย์หรือพลังงานความร้อนที่ตกกระทบผนังของอาคารแต่ละอาคารจะเกิดการสะท้อนไปกระทบกับอาคารโดยรอบไปมา กอปรกับอากาศและลมก็จะไม่สามารถพัดพาความร้อนที่สะสมไว้ออกสู่ชั้นบรรยากาศได้ ความร้อนที่ถูกสะสมไว้จึงเกิดเป็นเกาะอุณหภูมิความร้อนหรือโดมความร้อนขึ้นและแผ่รัศมีความร้อนไปยังพื้นที่รอบ ๆ

จึงเป็นคำตอบได้ว่า “เหตุใดเราจึงรู้สึกร้อนขึ้นทุกวัน” คงไม่ใช่เพราะโลกร้อนเพียงอย่างเดียว หรือที่เราเข้าใจว่าเป็นเหตุมาจากสภาวะโลกร้อนอย่างแน่นอน

แต่สิ่งปลูกสร้างก็ไม่ใช่สาเหตุของปรากฏการณ์เกาะความร้อนหรือโดมความร้อนเมืองเพียงอย่างเดียว พฤติกรรมการใช้ชีวิตของผู้คน ก็ยังเป็นสาเหตุที่สำคัญที่ก่อให้เกิดความร้อนในรูปแบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะพฤติกรรมด้านการสัญจร ยวนยานพาหนะ มลพิษที่เกิดจากเครื่องยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน พลังงานความร้อนต่าง ๆ ที่มนุษย์ใช้สอยแลกกับความสะดวกสบาย แต่รู้หรือไม่ยิ่งเราใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าเท่าไร นอกจากจะสิ้นเปลืองรายจ่ายแล้วท่านกำลังสะสมพลังงานความร้อนให้บ้านของตนเองมากขึ้นเท่านั้น

เมื่อเกิดความร้อนขึ้น เราสัมผัสกับอากาศร้อนที่ความรู้สึกเกินทนรับไหว สิ่งแรกที่เรานึกถึงในการแก้ปัญหาหรือบรรเทาความร้อนนั่นก็คือ เครื่องปรับอากาศ แต่เครื่องปรับอากาศนั้นไม่ได้ทำลายความร้อนให้เรา แต่เครื่องจะนำความร้อนในห้องหรือในบ้านของเราออกไปทิ้งภายนอก เพราะฉะนั้น ความร้อนก็คงอยู่ไม่ได้หายไปไหน เพียงแต่เราพากันเอาออกมาทิ้งไว้ภายนอกอาคาร สุดท้ายความร้อนนั้นถ้าระเหยกลับสู่ชั้นบรรยากาศไม่ได้ทั้งหมด ความร้อนก็ยังวนเวียนอยู่รอบตัวท่าน แค่ก้าวขาออกจากบ้านก็จะแสบร้อน ยิ่งถ้าเราไม่มีต้นไม้ แหล่งน้ำมาช่วยในการคายความชื้นเพื่อลดอุณหภูมิความร้อนของอากาศโดยรอบตัวเรานั้นแล้ว เราคงต้องทนอยู่ในสภาวะอากาศที่ร้อนขึ้น ๆ ทุกวันต่อไปอย่างนี้หรือ ?

เมื่อเราหันกลับไปมองอดีตจากสิ่งใกล้ตัว ในยุคที่ไทยยังอยู่ในวิถีชีวิตแบบกสิกรรม รูปแบบของอาคาร วัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างล้วนแล้วแต่ไม่ดูดซับความร้อน รูปแบบการตั้งถิ่นฐานลักษณะการวางที่ตั้งอาคาร การอยู่อาศัยก็ไม่ได้เฉกเช่นทุกวันนี้ แต่ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนไป การพัฒนาประเทศและการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ ความเจริญทางด้านการศึกษาและการเข้าถึงสังคมโลก ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหลากหลายมิติ

ที่เห็นได้ชัดคือ ทางด้านสังคมในการเลือกลักษณะของที่อยู่อาศัย เทรนด์และสไตล์ที่อยู่อาศัยที่ถูกเปลี่ยนแปลงไป ราคาที่ดินที่สูงขึ้น อาคารจากที่เคยอยู่ในลักษณะแนวราบสู่รูปแบบการพัฒนาอาคารที่อยู่อาศัยในแนวดิ่ง ความเป็นเมืองสู่ยุคการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมและเทคโนโลยี ซึ่งเป็นสิ่งที่เราปฏิเสธไม่ได้ว่าเมืองต้องพัฒนา

แล้วเราจะทำอย่างไร ? ให้เราสามารถอยู่ในสภาวะอากาศที่มีแนวโน้มที่สูงขึ้นทุก ๆ วันนี้ได้ นี่คงไม่ใช่คำถามที่เพิ่งเกิดใหม่ แต่เป็นคำถามซ้ำซากมาเป็นสิบ ๆ ปีที่ทุกคนควรหันกลับมามองอย่างจริงจัง และเริ่มบรรเทาเพื่อป้องกันวิกฤตสิ่งแวดล้อมอย่างเอาจริงเอาจังจากปัญหาตรงนี้ได้แล้ว ทุกภาคส่วนควรตระหนักและพึงรู้ถึงวิธีทางการบรรเทาเพื่อหลีกเลี่ยงมหันตภัยร้ายที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต หรือผ่อนปรนให้ทุเลาเบาลง เพราะปรากฏการณ์เกาะร้อนหรือเจ้าโดมความร้อนเมืองถือว่าเป็นปัญหาที่สร้างความเปลี่ยนแปลงที่เราสามารถรับรู้ได้ และส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของทุกคนอย่างชัดเจน

วิธีการบรรเทาปัญหาเกาะความร้อนมีด้วยกันหลายวิธีการ ทั้งการเริ่มจากที่อยู่อาศัยของตัวเราเอง อาคารสำนักงานที่ทำงาน โดยสามารถนำการแก้ปัญหาทางภูมิสถาปัตยกรรมมาช่วยในการบรรเทา ตั้งแต่กระบวนการวางผังโครงการ การจัดวางอาคารให้สัมพันธ์กับทิศทางลม หรือด้วยวิธีการง่าย ๆ โดยการเพิ่มพื้นที่สีเขียวโดยรอบอาคารหรือชั้นดาดฟ้า การออกแบบให้ลานจอดรถ ทางเดินต่าง ๆ เป็นพื้นที่ที่ซึมน้ำได้ ลดพื้นที่ลานคอนกรีตให้น้อยลง

การใช้กระเบื้องมุงหลังคาที่ปัจจุบันมีนวัตกรรมมากมายในการสะท้อนแสง การใช้วัสดุและสีที่มีสีอ่อน การมีต้นไม้ใหญ่ และไม้พุ่มโดยรอบอาคารสิ่งก่อสร้าง แม้กระทั่งหลังคาหรือชั้นดาดฟ้าจะช่วยลดการใช้พลังงานในการทำความเย็นลดลง ช่วยประหยัดการใช้ไฟฟ้า และต้นไม้ยังช่วยดูดซับฝุ่นละออง และกรองสารพิษในอากาศเพื่อสภาวะแวดล้อมพื้นที่อาคารได้ดีอีกด้วย

“สถาบันอาคารเขียวไทย” ก็เป็นองค์กรหนึ่งที่ประชาชนทั่วไปสามารถขอคำปรึกษาและขอความรู้หรือข้อมูลเกี่ยวกับการสร้าง การปรับปรุงอาคาร รวมถึงเทคโนโลยีหรือวัสดุต่าง ๆ ที่จะช่วยให้อาคารลดการดูดซับและปลดปล่อยความร้อน

แต่จุดสำคัญของการริเริ่มแก้ไขปัญหาก็น่าจะมาจากการที่ทุกคน ไม่ว่าจะเป็นนักออกแบบที่ต้องมีจิตสำนึกต่อการออกแบบโดยคำนึงถึงผลกระทบสภาพแวดล้อมเป็นหลัก เจ้าของอาคารขนาดใหญ่จวบจนขนาดเล็ก บ้านเรือนต่าง ๆ ที่ควรหันมาใส่ใจและร่วมกันรับผิดชอบผลที่เกิดจากสิ่งปลูกสร้างของตนเอง

สิ่งที่จำเป็นในการแก้ไขสูงสุด คือ การเริ่มปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเองที่เป็นสาเหตุให้เกิดปรากฏการณ์เกาะความร้อน โดยเริ่มจากสิ่งง่าย ๆ ใกล้ตัว พื้นที่หย่อมเล็กรอบ ๆ บ้านก็ได้ โดยมองไปถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และอนาคตของสิ่งแวดล้อมรอบตัวเป็นสำคัญ ถ้าเรารับผิดชอบในส่วนของเราเองก่อน

ทุกคนทำเหมือน ๆ กันด้วยวิธีการง่าย ๆ และด้วยใจที่อยากจะทำ ปรากฏการณ์เกาะความร้อน (urban heat Island) ก็คงบรรเทาลงได้ไม่มากก็น้อย