เหนื่อย…อีกนาน

คอลัมน์ สามัญสำนึก

โดย สมปอง แจ่มเกาะ

 

หลังมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 เมื่อวันที่ 12 กันยายนที่ผ่านมา ซึ่งกฎหมายดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้เมื่อพ้น 90 วัน และต้องจัดให้มีการเลือกตั้งภายใน 150 วันนับจากบังคับใช้

เท่ากับว่า เร็วที่สุดจะมีการเลือกตั้งในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ปีหน้า หรือช้าสุดก็ไม่เกิน 5 พฤษภาคม

กำหนดการเลือกตั้งดังกล่าว แม้จะล่าช้าไปกว่ากำหนดเดิมที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เคยกล่าวไว้ แต่ถือเป็นความสำเร็จของรัฐบาลที่มีเพียรพยายามมานานกว่า 4 ปี

วันนี้เสียงปี่กลองการเลือกตั้ง การเมือง เริ่มดังกังวานขึ้นอีกครั้ง หลังจากที่คนไทยไม่ได้เข้าคูหากากบาทมานานถึง 7 ปีเต็ม ๆ

ขณะที่อีกด้านหนึ่งก็ได้รับการขานรับจากนักธุรกิจนักลงทุน ทั้งในและต่างประเทศอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง

จากนี้ไปประเทศไทยเริ่มเดินหน้าเข้าสู่โหมดการเลือกตั้งอย่างเต็มพิกัด

ถึงวันนั้นผลการเลือกตั้งจะออกมาแบบไหน รัฐบาลจะมีรูปร่างหน้าตาอย่างไร จะเป็นเหล้าเก่าในขวดใหม่ หรือเหล้าใหม่ในขวดใหม่ หรือเหล้าใหม่ในขวดเก่า

ถึงเวลานั้นค่อยมาว่ากันอีกที ยังไม่อยากจะติเรือทั้งโกลน คาดเดาไปล่วงหน้าเมื่อเรื่องการเลือกตั้งลงเอยด้วยดีก็โล่งอกไปเปลาะหนึ่ง

แต่ในช่วงเวลาที่เหลืออยู่ รัฐบาลยังมีการบ้านข้อใหญ่ที่ค้างคาและต้องเร่งแก้ไขต่อไปอีก โดยเฉพาะกับปัญหาเรื่องปากท้องของพี่น้องเกษตรกรคนยากคนจน

ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะหัวหน้ารัฐบาล รับรู้ปัญหานี้มาโดยตลอด และให้ความสำคัญเป็นอันดับต้น ๆ โดยตลอดเวลา 4 ปีที่ผ่านมา ได้มีการทำงานอย่างหนักในหลาก ๆ มิติ แต่ก็ดูเหมือนว่า การแก้ปัญหาความยากจนจะยังย่ำอยู่กับที่ด้วยสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ไม่เป็นใจ ราคาพืชผลทางการเกษตรหลายอย่างไม่สดใส รายได้เกษตรกรไม่เพิ่ม เศรษฐกิจฐานรากจึงยังไม่ขยับ ยิ่งมาเจอกับปัญหาราคาน้ำมันในตลาดโลกที่อยู่ในช่วงขาขึ้น ค่าขนส่ง ราคาปุ๋ย ก๊าซหุงต้ม ฯลฯ ก็ขยับขึ้นเป็นเงาตามตัว

นี่ยังไม่นับรวมถึงล่าสุดที่บรรดารถร่วม บขส. รถตู้ หรือแม้แต่การรถไฟฯ ที่ฮึ่ม ๆ จะขอปรับราคาอีกเป็นระลอก ๆ และที่เป็นปัญหาหนักอย่างหนึ่งก็คือ ตัวเลขหนี้ครัวเรือนที่อยู่สูงระดับ 80% ต่อจีดีพี และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

กำลังซื้อเกษตรกรชนชั้นรากหญ้าจึงตกอยู่ในภาวะจำกัดจำเขี่ย ต้องใช้จ่ายอย่างประหยัดที่สุดเท่าที่จำเป็นจริง ๆ

และเป็นที่มาของการที่นายกรัฐมนตรีได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งปรับปรุงมาตรการด้านเศรษฐกิจสำหรับผู้มีรายได้น้อยให้ดีขึ้น เมื่อช่วงต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา จากเดิมที่ผ่านมารัฐบาลได้ทุ่มงบประมาณจำนวนมากเพื่อเพิ่มรายได้ให้ผู้มีรายได้น้อย แต่ก็ยังไม่สัมฤทธิผลเท่าที่ควร เม็ดเงินที่ถมลงไปยังไม่หมุนไปถึงมือชาวบ้านอย่างทั่วถึง

เมื่อมาตรการต่าง ๆ ที่ทำลงไปยังไม่ออกดอกออกผลเท่าที่ควร ก็ต้องออกแรงอีกต่อไป

อีกด้านหนึ่ง รัฐบาลก็กำลังพยายามปลุกปั้นโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ซึ่งรัฐบาลวาดหวังว่าจะเป็นกลไกสำคัญในการพลิกฟื้นและสร้างการเติบโตให้เศรษฐกิจได้ในอนาคต

ถึงวันนี้ แม้ว่าโครงการจะมีความคืบหน้าไปมาก และทำให้นักลงทุนต่างชาติหันมาให้ความสนใจเมืองไทยมากขึ้น แต่ในความเป็นจริง กว่าโปรเจ็กต์ยักษ์นี้จะออกดอกออกผลก็ต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 5-10 ปี ถึงจะเป็นรูปเป็นร่างขึ้น

ทั้งหลายทั้งปวงนี้ เป็นความท้าทายของรัฐบาลชุดใหม่ที่กำลังจะเข้ามารับไม้ต่อการบริหารประเทศต่อ


หนทางในวันข้างหน้าดูจะยาวไกลเหลือเกิน