ทำงานกับเถ้าแก่ยังไง (ให้ได้) ดี 

คอลัมน์ เอชอาร์คอร์เนอร์

โดย พิชญ์พจี สายเชื้อ

วันนี้มีโอกาสดูบทสัมภาษณ์ (จากยูทูบ) ที่ “คุณบุญคลี ปลั่งศิริ” ไปพูดในหัวข้อ “นักบริหารกับเจ้าของสองประสานเพื่อธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืน” มีเรื่องน่าสนใจที่อยากนำมาเล่าต่อค่ะ

ก่อนอื่นต้องบอกข้อมูลสำคัญก่อนว่าทำไมเรื่องธุรกิจครอบครัวถึงเป็นเรื่องที่ hot ตลอดกาลในประเทศไทย เนื่องจากธุรกิจครอบครัวในประเทศไทยมีมูลค่าธุรกิจรวมประมาณ 28 ล้านล้านบาท (ข้อมูลจากธนาคารกสิกรไทย ณ ปี 2556) จากมูลค่าธุรกิจรวมของประเทศทั้งหมด 39 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 72% ของระบบเศรษฐกิจ

หากนับเฉพาะจำนวนบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ที่เป็นธุรกิจครอบครัว หรือควบคุมกิจการโดยบุคคลในครอบครัวมีมากถึง 50.4% ธุรกิจครอบครัวในประเทศไทยติดอันดับ 8 ของโลก และอันดับ 7 ของเอเชีย-แปซิฟิก

เอาละค่ะมาเข้าเรื่องกันต่อจากที่ “คุณบุญคลี” พูดให้ความเห็นไว้มีประเด็นที่น่าสนใจคือ

“องค์กรที่มีเจ้าของอย่างเดียว เติบโตไปได้เพียงจุดหนึ่งเท่านั้น ขณะที่องค์กรที่มีแต่มืออาชีพอย่างเดียวไม่มีเจ้าของก็เติบโตได้ช้า แต่คน 2 พันธุ์นี้ต้องอยู่ด้วยกัน”

“คุณบุญคลี” เล่าถึงคนต่างกันสองพันธุ์นี้ว่าเป็นสองสายพันธุ์ที่ต่างกันโดยสิ้นเชิง โดยบอกว่าคนแบบเจ้าของก็คิดหรือกลายเป็นมืออาชีพได้ยาก ส่วนมืออาชีพก็จะกลายเป็นเจ้าของได้ยาก แต่องค์กรที่จะเติบโตต้องการคนสองแบบนี้ทำงานร่วมกัน ถ้ามีแต่เจ้าของ บริษัทก็จะขยายได้ยาก แต่ถ้ามีแต่มืออาชีพ กิจการก็จะโตช้า

ดิฉันเห็นด้วยในส่วนนี้ว่าในองค์กรต้องการคนสองสายพันธุ์นี้ เพราะคนที่เป็นเจ้าของมีจุดเด่นคือการตัดสินใจรวดเร็ว (มืออาชีพไม่กล้าตัดสินใจเร็วอย่างนี้ เพราะไม่ใช่เงินตัวเอง ตัดสินใจไปกลัวผิด โดนไล่ออก) เจ้าของจะมอง และหวังประโยชน์องค์กรในระยะยาวจริง ๆ (ตรงนี้ต่างจากมืออาชีพบางคนที่ทำเพื่อผลสำเร็จระยะสั้น เพราะมี KPIs ประจำปีค้ำคออยู่) แต่ข้อจำกัดของเจ้าของคือการตัดสินใจเร็วนั้นมักใช้ gut feeling มากกว่าข้อมูล

ตรงนี้ถ้าได้มืออาชีพมาช่วยในการหาและวิเคราะห์ข้อมูลจะเป็นประโยชน์ และคำว่า “ทำงานแบบเถ้าแก่” ก็เกิดตรงนี้เองค่ะ คือบางทีหา และวิเคราะห์ข้อมูลมาให้แล้วยังไม่เชื่อ ยังตัดสินใจโดย gut feeling ต่อไป เพราะเชื่อมั่นในประสบการณ์ตนเอง

ดิฉันมีข้อแนะนำสำหรับมืออาชีพว่าอย่าเพิ่งถอดใจในครั้งแรก บางครั้ง gut feeling ก็ใช้ได้ดีกว่าข้อมูล ไม่เช่นนั้นเถ้าแก่ทั้งหลายคงไม่เติบโตมาเป็นร้อยล้าน พันล้าน เพียงแต่ทุกครั้งที่เจ้าของตัดสินใจโดยไม่เชื่อข้อมูลแล้วผิด เราควรนำกลับมาอธิบายท่านเพื่อให้เป็น lesson learnt ค่ะ ถ้าท่านเป็นคน open และฟัง ครั้งต่อไปก็จะทำงานร่วมกันง่ายขึ้น แต่ถ้าท่านไม่ฟังอีกก็คงต้องพิจารณาว่าเราจะ (ทน) อยู่ต่อไปได้มั้ย ?

ถัดมาอีกเรื่องที่ว่าเจ้าของจะกลายเป็นมืออาชีพได้ยาก และมืออาชีพก็กลายเป็นเจ้าของได้ยาก เพราะเป็นมนุษย์ต่างพันธุ์กันโดยสิ้นเชิง ตรงนี้ดิฉันอยากเสริมว่าผู้บริหาร ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของ (โดยเฉพาะเจ้าของใน Gen 2 หรือ 3 ที่มีการศึกษาทันสมัย) หรือมืออาชีพสามารถเป็น professional owner ได้ หมายถึงสามารถเป็นผู้บริหารที่คิดอย่างเจ้าของแต่ทำอย่างมืออาชีพได้ (think as owner, act as professional) คือการที่ผู้บริหารต้องมีการตัดสินใจที่รวดเร็วอย่างเจ้าของ ภายใต้การใช้ข้อมูลประกอบการตัดสินใจที่เหมาะสมอย่างมืออาชีพ

โดยคิดถึงผลประโยชน์ และความเสี่ยงต่อองค์กรในระยะยาวอย่างเจ้าของ เพราะเจ้าของลาออกไม่ได้ต้องอยู่กับผลระยะยาว ไม่ใช่เฉพาะ KPIs ประจำปี (หลาย ๆ ครั้งพบว่าพวกมืออาชีพพยายามทำงานให้ได้ KPIs แต่ละปีโดยไม่ได้นึกถึงผลกระทบหรือความเสี่ยงในระยะยาว แล้วพวกเขาก็ลาออกไป ทิ้งให้เจ้าของต้องมานั่งปวดหัวกับสิ่งที่พวกเขาทำไว้ ยกตัวอย่างง่าย ๆ การขายให้ได้เป้าตาม KPIs แต่ละปี โดยไม่ได้ดูความเสี่ยงของลูกหนี้ในการเก็บหนี้ พอสิ้นปียอดขายถึงได้โบนัสกันสบายใจอีก 1 ปี 2 ปี 3 ปี เก็บเงินไม่ได้ มืออาชีพออกไปแล้ว เจ้าของต้องมานั่งเคลียร์ปัญหาเอง เพราะออกไปไหนไม่ได้)

ดังนั้น ถ้าเรามีเจ้าของที่ think as owner, act as professional ได้ก็จะสมบูรณ์แบบเลย และในทางกลับกันแนวคิดนี้ก็ใช้ได้กับมืออาชีพนะคะ กล่าวคือถ้าเป็นมืออาชีพก็ต้องคิดอย่างเจ้าของ หมายถึงคิดว่าถ้าเป็นเงินของเขาเองจริง ๆ

เขาจะตัดสินใจแบบเดียวกัน (ภายใต้เงื่อนไขว่าเจ้าของต้องให้อำนาจในการตัดสินใจแก่มืออาชีพด้วย เพราะถ้าเจ้าของไม่ให้อำนาจ มืออาชีพก็ไม่กล้าตัดสินใจอยู่ดี กลัวผิด แล้วโดนไล่ออก) โดยมองถึงผลในระยะยาวเพราะว่าลาออกทิ้งไปไม่ได้ เพราะเป็นเงินของตัวเองก็ต้องอยู่กับมันไป ถ้าคิดได้อย่างนี้มืออาชีพก็สามารถเป็น professional owner ได้เหมือนกันค่ะ

ประเด็นที่น่าสนใจของ “คุณบุญคลี” อีกประเด็นหนึ่งคือการทำงานกับเถ้าแก่ หรือเจ้าของต้องเริ่มจากสร้างความไว้วางใจหรือ trust ก่อน “คุณบุญคลี” บอกว่ามืออาชีพที่เริ่มทำงานกับเถ้าแก่ หรือเจ้าของ งานอย่างแรกคือการสร้างความไว้วางใจก่อน เพราะถ้าเริ่มทำงานแล้วเถ้าแก่ไม่ไว้วางใจก็จบไม่ต้องไปต่อแล้ว ดิฉันเห็นด้วยในประเด็นนี้ โดยอิงจากประสบการณ์ตัวเองที่ทำงานกับผู้บริหารที่เป็นเจ้าของด้วยมามากมาย เจ้าของทุกท่านที่ทำงานกันมายาว ๆ เกิดจากการมี trust หรือความไว้วางใจก่อนทั้งสิ้น เราต้องสร้าง trust ก่อน

โดยเริ่มจากคิดว่าถ้าบริษัทนี้เป็นของเราเองเราจะทำอย่างไร แก้ปัญหาอย่างไร สำคัญที่สุดถ้ามีปัญหาก็ต้องบอกปัญหากันตรง ๆ ซึ่งโดยมากปัญหามักไม่มีใครกล้าพูด เพราะไม่ใช่สิ่งที่เจ้าของอยากฟังและส่วนมากปัญหามักเกิดจากเจ้าของด้วย ถ้าเจ้าของรับฟัง ขั้นตอนต่อไปก็ง่ายแล้วค่ะคือการให้คำแนะนำอย่างมืออาชีพ (เพราะนั่นคือสิ่งที่เขาต้องการ) ถ้าทำอย่างนี้ได้ก็จะเกิด trust ด้วยกันทั้งสองฝ่าย และทำงานกันต่อไปได้ยาว ๆ ค่ะ (แต่ก็มีนะคะที่ต้องเลิกทำกันไป เพราะไม่เข้าใจกัน แต่ส่วนน้อยค่ะเพราะเจ้าของส่วนมากจะ Open และอยากฟังความจริงเพื่อปรับปรุงบริษัทตัวเอง ไม่งั้นคงไม่เรียกหาที่ปรึกษาตั้งแต่แรก)

สุดท้ายสำหรับท่านผู้อ่านที่ทำงานกับเจ้าของบริษัทก็หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์ อย่าลืมว่าต้องเริ่มจากการสร้าง trust ก่อนนะคะ โชคดีค่ะ !