เกมชิงจังหวะนำ

คอลัมน์ สามัญสำนึก
โดย ดิษนีย์ นาคเจริญ

หลังจากสู้ไม่ถอยมาแล้วในทุกศึกชิงคลื่นความถี่ ตั้งแต่ 2100 MHz (15 MHz ที่ราคา 14,625 ล้านบาท) คลื่น 1800 MHz ชุดแรก (15 MHz ที่ราคา 40,986 ล้านบาท) คลื่น 900 MHz ครั้งที่สอง จำนวน 10 MHz ที่ราคา 75,654 ล้านบาท (ครั้งแรก แจส ประมูลได้ไป แต่ไม่นำเงินมาจ่ายจึงต้องเปิดประมูลรอบสอง)

และล่าสุด ส.ค. 2561 ที่ผ่านมา “เอดับบลิวเอ็น” ในเครือเอไอเอส ได้คลื่น 1800 MHz เข้ามาเติมอีก 5 MHz ที่ราคา 12,511 ล้านบาท เบ็ดเสร็จแล้ว “เอไอเอส” ใช้เงินไปกับการสะสมคลื่นกว่า 1.4 แสนล้านบาท ไม่รวมการลงทุนโครงข่ายอีกปีละหลายหมื่นล้านบาท

คลื่น 1800 MHz ลอตล่าสุด แม้จะแค่ 5 MHz แต่ทำให้ “เอไอเอส” พลิกเกมกลับขึ้นมาชิงผู้นำด้านเครือข่ายในแง่ที่ว่า มีคลื่นความถี่มากที่สุดได้ โดยเฉพาะแถบความถี่ 1800 MHz เพราะมีคลื่นติดกันขนาดใหญ่สุด เท่าที่มือถือจะรองรับได้ คือ 40 MHz (20 MHz x2) หรือ “ซูเปอร์บล็อก” ส่งผลให้ความเร็วในการใช้งานเพิ่มขึ้น 20-30%

“สมชัย เลิศสุทธิวงค์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) ยอมรับว่า เป็นครั้งแรกในรอบ 29 ปี ที่มีคลื่นมากกว่าคู่แข่งแต่ไหนแต่ไรมา แม้จะชิงส่วนแบ่งตลาดจนมีลูกค้ามากที่สุด แต่ข้อจำกัดเรื่องความถี่ทำให้ไม่สามารถชิงความเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีมาได้ ยิ่งในช่วงรอยต่อของการก้าวข้ามจาก 2G มายัง 3G “เอไอเอส” เปิดให้บริการช้ากว่าคู่แข่งกว่า 2 ปี

“ทรูมูฟ เอช” แม้มาทีหลัง และ (เคย) เป็นน้องเล็กสุดแต่ถ้ายังจำกันได้เป็นรายแรกที่เปิด 3G รวมกับยุทธศาสตร์ธุรกิจ “คอนเวอร์เจนซ์” ซึ่งแม่ทัพกลุ่มทรู “ศุภชัย เจียรวนนท์” มุ่งมั่นผลักดันมาตลอดนับตั้งแต่เปลี่ยนชื่อแบรนด์จาก “ทีเอ” เป็น “ทรู” ยิ่งเสริมส่งให้ภาพลักษณ์ด้านผู้นำเทคโนโลยีของ “ทรูมูฟ เอช” โดดเด่นในสายตาผู้บริโภคจนถึงทุกวันนี้

เกมบุกแบบสู้ไม่ถอยทุกรูปแบบ ยังทำให้ “ทรูมูฟ เอช” ขยับแซง “ดีแทค” ขึ้นเป็นผู้ให้บริการที่มีลูกค้ามากเป็นอันดับ 2 ได้สำเร็จอีกด้วย แม้ฐานลูกค้าจะตามหลังเบอร์หนึ่งค่อนข้างมาก แต่ “ทรูมูฟ เอช” ไม่ใช่คู่แข่งที่ “เอไอเอส” ประมาทได้เลย

“เอไอเอส” รู้ดี จึงตั้งใจมากที่จะใช้จังหวะนี้ ปูพรมคิกออฟแคมเปญ “AIS ที่ 1 ตัวจริง” เพื่อทำให้ภาพลักษณ์ด้านเครือข่ายตีตื้นขึ้นมาให้ได้ โดยนำพรีเซ็นเตอร์ในสังกัด ซึ่งเป็นซุปตาร์ตัวท็อปในวงการบันเทิงทั้ง 11 คน มาเป็นตัวแทนสื่อสารไปยังผู้บริโภคแบบไม่อ้อมค้อม ผ่านคลิปวิดีโอที่ปล่อยในสื่อโซเชียล ว่า “มีคลื่นมากสุด เร็วสุด แรงสุด และครอบคลุมที่สุด”

วันรับใบอนุญาต (24 ก.ย. 2561) ทีมผู้บริหาร “เอไอเอส” ควง 2 ซุปตาร์ “เจมส์-จิรายุ” และ “แต้ว-ณฐพร” ไปรับใบอนุญาตด้วย ถึงสำนักงาน “กสทช.”เป็นการใช้พลังพรีเซ็นเตอร์สร้างแรงกระเพื่อมอีกระลอก

ซีอีโอ “เอไอเอส” ย้ำว่า คลื่น 1800 MHz ที่ได้มาเพิ่มทำให้ลูกค้าได้รับประสิทธิภาพในการใช้บริการทั้ง 3G และ 4G เพิ่มขึ้น 30% ทำให้ “สมาร์ทโฟนโลว์เอนด์จะสามารถใช้ได้ดีเหมือนไฮเอนด์”

“สิ่งที่เราเน้นย้ำมาตลอด คือ คุณภาพเครือข่าย และการบริการ ช่วงหลังเราพยายามผลักดันแอปพลิเคชั่นทั้งคอนเทนต์, เพย์เมนต์ ให้ลูกค้าเรามั่นใจว่าเราเป็นที่ 1 ตัวจริง”

สำหรับแคมเปญ เอไอเอสที่ 1 ตัวจริง “ปรัธนา ลีลพนัง” หัวหน้าคณะผู้บริหารกลุ่มลูกค้าทั่วไป “เอไอเอส” บอกว่า ตั้งใจยิงยาวไปถึงสิ้นปี เพื่อตอกย้ำจุดเด่นด้านเครือข่ายที่เหนือกว่าคู่แข่งจากความถี่ที่มากกว่า เพื่ออธิบายว่า “ทำไมลูกค้า ถึงควรย้ายมาใช้บริการของเอไอเอส”

ไม่ได้ใช้แค่ พลัง “พรีเซ็นเตอร์” แต่มีโปรโมชั่นจัดเต็มอีกชุดใหญ่ เพื่อกระตุ้นให้ลูกค้าตัดสินใจย้ายค่ายเบอร์เดิมมาใช้ “เอไอเอส” ง่ายขึ้น ต้องดูกันต่อว่า เมื่อ “เอไอเอส” ลุกขึ้นมาเร่งเกมชิงจังหวะนำเรื่องความถี่ดึงลูกค้าย้ายค่ายในช่วงโค้งท้ายก่อนสิ้นปีแบบนี้แล้ว คู่แข่งรายอื่น ๆ จะว่ายังไงกัน