ฟื้นท่องเที่ยว อย่าแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ

บทบรรณาธิการ

เศรษฐกิจโลกได้รับผลกระทบจากสงครามทางการค้ารุนแรงขึ้นเท่าใด เศรษฐกิจไทยซึ่งพึ่งพารายได้หลักจากการส่งออกก็เสี่ยงจะกระทบมากขึ้นเท่านั้น ภาคท่องเที่ยวที่ขยายตัวต่อเนื่องจึงเป็นแหล่งรายได้ใหม่ที่ถูกคาดหวังว่าจะสร้างรายได้บางส่วนทดแทน

อาศัยความได้เปรียบแหล่งท่องเที่ยวและทรัพยากรธรรมชาติที่หลากหลาย ทั้งทะเล หาดทราย น้ำตก ภูเขา ฯลฯ และจุดเด่นศิลปวัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์ บวกอัธยาศัยไมตรีที่ดึงดูดใจต่างชาติให้เข้ามาเยือนประเทศไทย

ปริมาณนักท่องเที่ยวต่างชาติ 37 ล้านคน รายได้ 2 ล้านล้านบาท คือเป้าหมายที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กำหนดไว้ในปีนี้เทียบกับปี 2560 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยกว่า 35 ล้านคน สร้างรายได้เข้าประเทศ 1.8 ล้านล้านบาท ไม่รวมรายได้และนักท่องเที่ยวไทยเที่ยวไทย

ที่กำลังเป็นประเด็นร้อนทำให้หลายฝ่ายวิตกกังวล คือ นักท่องเที่ยวจีนซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าหลักที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยสูงสุดกว่าทุกชาติมีแนวโน้มลดลงจนน่าห่วง เพราะแม้เวลานี้ปริมาณนักท่องเที่ยวจีนยังมีเพิ่มขึ้น แต่ยอดการเติบโตลดลงชัดเจน

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ระบุว่า ช่วงวันหยุดยาววันชาติจีน หรือโกลเด้นวีก วันที่ 1-7 ตุลาคม ซึ่งปกตินักท่องเที่ยวจีนจะนิยมเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศ แต่ปีนี้พบว่ายอดจองตั๋วเครื่องบินของนักท่องเที่ยวจีนที่จะเดินทางมาท่องเที่ยวในไทยลดลงราว 35% สวนทางกับญี่ปุ่นที่มีนักท่องเที่ยวจีนไปเยือนแซงหน้า

ผลพวงจากปัจจัยลบเกิดขึ้นซ้ำ ๆ ตั้งแต่การปราบทัวร์ศูนย์เหรียญ ก่อนจะเกิดเหตุการณ์เรือล่มที่จังหวัดภูเก็ตช่วงเดือนกรกฎาคม 2561 ทำให้นักท่องเที่ยวจีนหวาดผวา สถิติการเดินทางมาไทยช่วงเดือนสิงหาคม-กรกฎาคมที่ผ่านมา ดิ่งลงติดต่อกัน 2 เดือนซ้อน

แถมเจอเรื่องร้ายข่าวไข้เลือดออกระบาดในประเทศไทยถล่มซ้ำ โดยสื่อจีนบางสำนักนำไปจุดกระแส บวกกับเหตุการณ์เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยสนามบินดอนเมืองทำร้ายนักท่องเที่ยวจีนปลายสัปดาห์ก่อน จนถูกนำไปแชร์ว่อนสังคมโซเชียล ล่าสุด แม้รัฐบาลจะออกมาขอโทษแต่อาจสายเกินแก้ เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่โดนรุมกระหน่ำทางออนไลน์ทำให้ทั่วโลกมองการท่องเที่ยวไทยในด้านลบ

การฟื้นภาพลักษณ์และความเชื่อมั่นให้กับภาคการท่องเที่ยวทั้งระบบ จึงเป็นโจทย์ใหญ่ที่หน่วยงานรัฐและภาคเอกชนต้องเร่งดำเนินการ นอกเหนือจากการสื่อสารทำความเข้าใจ และออกมาตรการผ่อนปรนหรือจูงใจ ที่สำคัญหากมีวิธีใดป้องกันปัญหา หรือป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ไม่พึงปรารถนาก็ต้องทำ เพราะจะดีกว่าต้องตามแก้ที่ปลายเหตุ