คอลัมน์ ชั้น 5 ประชาชาติ
โดย ประเสริฐ จารึก
เหมือนจะบานปลายไม่สงบลงง่าย ๆ โปรเจ็กต์ 4.2 หมื่นล้านอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ของสนามบินสุวรรณภูมิ ที่ “ทอท.-บมจ.ท่าอากาศยานไทย” กำลังผลักดัน
ปัจจุบันจากดราม่า “เรื่องแบบ” ที่กลุ่มดวงฤทธิ์เป็นผู้ดีไซน์ มีการนำไปสู่การวิพากษ์ถึง “แผนแม่บท” หรือมาสเตอร์แพลน 20,000 ไร่ ที่ทั้งสภาวิศวกร และสภาสถาปนิกออกมาขย่ม “ทอท.” รีวิวจนทำให้เพี้ยนไปจากเดิม แถมยังไม่ตอบโจทย์ความต้องการอย่างแท้จริง
ด้าน “นิตินัย ศิริสมรรถการ” กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. แจกแจงมาสเตอร์แพลนเดิมทำไว้เมื่อปี 2536 หรือ 25 ปีมาแล้ว ต้องปรับปรุงทุก 5 ปีให้ทันสมัย ทันกับสถานการณ์อุตสาหกรรมการบิน ผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น ที่ผ่านมาปรับปรุง 5 ครั้ง ภายใต้ข้อเสนอแนะของผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ หรือ ICAO จนมาถึงครั้งล่าสุดปี 2561 ทอท.ดำเนินการเอง จากการเก็บข้อมูลผู้โดยสารและเป็นไปตามข้อเสนอแนะ ICAO แต่ภาพรวมยังสอดคล้องแผนแม่บทเดิม
ปัจจุบันคณะกรรมการ ทอท.อนุมัติแล้ว แบ่งพัฒนา 5 เฟส จากเดิม 4 เฟส เพิ่มเฟส 3 อาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 และรันเวย์ที่ 3 เข้ามาเสริม
ตามแผนใช้เวลาพัฒนาถึงปี 2573 เมื่อแล้วเสร็จมี 3 อาคารผู้โดยสาร 2 อาคารเทียบเครื่องบิน 4 รันเวย์ รองรับผู้โดยสาร 150 ล้านต่อปี
“ปรับปรุงแผนแม่บทเพราะเฟส 2 ล่าช้าจากกรอบเวลาเดิมปี 2554-2560 ติดรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม จึงปรับกรอบเวลาใหม่เป็นปี 2559-2563 ขณะเดียวกัน ผู้โดยสารก็เพิ่มเป็น 60 ล้านคนต่อปี เกินขีดความสามารถที่รับได้ 45 ล้านคนต่อปี จึงเป็นที่มาทำไมต้องแทรกเฟส 3 เพื่อแก้ความแออัดของผู้โดยสาร ซึ่งอาคารผู้โดยสารหลังใหม่มีพื้นที่ใช้สอย 3.8 แสนตารางเมตร รับผู้โดยสารได้ 30 ล้านคนต่อปี”
ถามว่า..ทำไมไม่ทำตามแผนแม่บทเดิมที่ขยายพื้นที่อาคารปัจจุบันฝั่งตะวันออก (east wing) และฝั่งตะวันตก (west wing) ก่อนเพราะรองรับได้ 30 ล้านคนต่อปีเช่นกัน
“บิ๊ก ทอท.” แจงว่า ทางทฤษฎีทำได้ แต่ทางปฏิบัติการพัฒนาสนามบินสุวรรณภูมิตอนนี้เหมือนทำงานอยู่ในตลาดสด เพราะคนเต็มขีดความสามารถ โดยเฉพาะฝั่งตะวันออกจะกระทบมาก ต้องเจาะกระจกทำให้เสียพื้นที่เช็กอินไปราวครึ่งหนึ่ง จะเกิดโกลาหลในระหว่างก่อสร้างเพราะต้องขนวัสดุก่อสร้างจำนวนมากเข้ามาข้างใน
พร้อมย้ำว่าปรับแผนเฟส 2 สร้างฝั่งตะวันตกก่อน ไม่ได้เกี่ยวกับการต้องรื้อพื้นที่ซิตี้การ์เด้น พื้นที่ดิวตี้ฟรีของคิง เพาเวอร์ที่อยู่ฝั่งตะวันออก ยังไงก็ต้องรื้อหมด
ขณะที่อาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 สร้างแยกออกมาบนพื้นที่ใหม่ด้านทิศเหนือของอาคารเทียบเครื่องบิน A จะสร้างได้ง่ายกว่า west wing เป็นงานสุดท้ายของเฟส 2 จะเปิดประมูลปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า วงเงิน 6.6 พันล้านบาท มีพื้นที่ใช้สอย 6 หมื่นตารางเมตร เสร็จปี 2564
ขณะที่ east wing จะขยับไปอยู่เฟส 4 รวมกับอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 2 สร้างปี 2564-2569 เมื่อเสร็จจะทำให้สุวรรณภูมิรองรับได้ 105 ล้านคนต่อปี
อย่างไรก็ตาม “บิ๊ก ทอท.” ยอมรับว่าอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 จะเป็นตัวแปรขนาดพื้นที่ดิวตี้ฟรีที่จะประมูล เพราะจะนำไปรวมกับอาคารเดิม และรวบเป็นสัมปทานเดียวกัน ปัจจุบันที่ปรึกษาเตรียมร่างทีโออาร์ประมูล 2 รูปแบบ คือ แบบรวม และไม่รวมพื้นที่อาคารผู้โดยสารหลังที่ 2
ขณะที่อายุสัมปทานขึ้นอยู่กับจุดคุ้มทุนโครงการ หากคุ้มทุน 2 ปี อยู่ที่ 5 ปี ถ้าคุ้มทุน 6-7 ปี อยู่ที่ 10 ปี
“พื้นที่ดิวตี้ฟรีหากรวมอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 การบินไทยตกลงมาใช้พื้นที่ ทำให้เป็นพื้นที่น่าสนใจ เพราะมีผู้โดยสาร 25 ล้านคน อาจจะลดพื้นที่เชิงพาณิชย์อาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 ที่กำลังสร้าง”
ขณะนี้ ทอท.รออนุกรรมการด้านกฎหมายพิจารณาข้อกฎหมาย ข้อพิพาทต่าง ๆ เกี่ยวกับการประกวดแบบของกลุ่มดวงฤทธิ์ที่จะเริ่มพิจารณาต้น ต.ค.นี้
หากทีมฝ่ายกฎหมายของ ทอท.ดูแล้วไม่มีประเด็นอะไรจะเดินหน้าประมูลพื้นที่ดิวตี้ฟรี โดยนำพื้นที่เชิงพาณิชย์อาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 กว่า 2 หมื่นตารางเมตร อาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 อีก 1.2 หมื่นตารางเมตร รวมเป็นสัญญาเดียวกับพื้นที่ปัจจุบัน 2.5 หมื่นตารางเมตร ที่คิง เพาเวอร์เป็นผู้รับสัมปทานจะสิ้นสุดปี 2563 แล้วเปิดประมูลใหม่ภายใน ต.ค.นี้ โดยไม่ต้องรอเซ็นสัญญากับผู้ออกแบบอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 เพราะรู้คอนเซ็ปต์อยู่แล้ว ที่ต้องเร่งคัดเลือกเอกชนเพราะผู้ชนะประมูลต้องใช้เวลาปรับปรุงตกแต่งพื้นที่
นี่คือที่มาที่ไป ทำไมต้องมี “เทอร์มินอล 2” เข้ามาแทรกระหว่างทาง ส่วนจะคุ้มค่าต่อการลงทุนหรือเนรมิตโครงการนี้เพื่อใครหรือไม่ กาลเวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์