สร้างชุมชนต้นไม้มีค่า โดย พิเชษฐ์ ณ นคร

แฟ้มภาพ

คอลัมน์ สามัญสำนึก

โดย พิเชษฐ์ ณ นคร

 

มติ ครม.เมื่อ 18 ก.ย. 61 เห็นชอบการขับเคลื่อนโครงการชุมชนไม้มีค่า ตามที่สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (กช.) เสนอและมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการ เพื่อเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ของประเทศและเพิ่มรายได้ประชาชน

เป็นผลต่อเนื่องมาจากมติที่ประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนและเร่งรัดการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาล (กขร.) เมื่อ 30 เม.ย. 61 ที่เห็นชอบในหลักการให้แก้ไข พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 ให้สามารถนำไม้สัก ยาง พะยูง ชิงชัน ยางนา และไม้มีค่าอื่น ๆ ที่ปลูกในที่ดินกรรมสิทธิ์ หรือที่ดินที่มีสิทธิในการใช้ประโยชน์โดยชอบด้วยกฎหมาย มาใช้ประโยชน์ได้ เพื่อส่งเสริมประชาชนปลูกไม้เศรษฐกิจ ช่วยเพิ่มพื้นที่ป่าเศรษฐกิจให้กับประเทศ แต่จะมีระบบกำกับ ควบคุม ตรวจสอบย้อนหลัง และการรับรองไม้ในที่ดินกรรมสิทธิ์ตามมาตรฐานสากล

สอดคล้องกับมติ ครม.เมื่อ 24 ก.ค. 61 ที่อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ทรัพย์สินอื่นเป็นหลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ… ที่กำหนดให้ไม้ยืนต้นที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ เช่น ต้นไม้ตามบัญชีท้ายกฎหมายว่าด้วยสวนป่า เป็นทรัพย์สินที่ใช้เป็นหลักประกันทางธุรกิจได้ ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ

กับมติ ครม.เมื่อ 7 ส.ค.61 ที่อนุมัติหลักการร่าง พ.ร.บ.ป่าไม้ (ฉบับที่…) พ.ศ…ที่แก้ไขให้ไม้ทุกชนิดในที่ดินกรรมสิทธิ์ หรือสิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายที่ดิน ไม่เป็นไม้หวงห้าม การทำไม้ไม่ต้องได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่อีกต่อไป

ถือเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาและแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็งมั่นคง และมาตรการลดก๊าซเรือนกระจกร้อยละ 7-20 ภายในปี 63 ตามข้อตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ไทยประกาศเจตนารมณ์ไว้ รวมทั้งสอดรับกับการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้ตามแนวพระราชดำริ “ปลูกป่า ปลูกคน”

ด้วยการส่งเสริมการปลูกไม้มีค่าทางเศรษฐกิจระยะยาว อาทิ ไม้สัก ไม้มะค่า พะยูง โดยปรับปรุงระเบียบกฎหมาย ส่งเสริมและสร้างแรงจูงใจภาคเอกชน ภาคประชาชน และเกษตรกรรายย่อย จัดตั้งตลาดกลางค้าไม้ พัฒนาระบบโลจิสติกส์ในการค้าและขนส่งไม้ สนับสนุนกลไกทางการเงินเพื่อการปลูกป่า

โดยมอบหมายให้ กช.สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์กรมหาชน)(สพภ.) กรมป่าไม้ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) บูรณาการร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (ออป.) กรมอุทยานแห่งชาติฯ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สมาคมธนาคารไทย สมาคมธุรกิจไทย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ฯลฯ

วางเป้าหมายขับเคลื่อนโครงการชุมชนไม้มีค่าให้เกิดขึ้น 2 หมื่นชุมชนใน 10 ปี เกษตรกรรายย่อยเข้าร่วม 2.6 ล้านครัวเรือน ปลูกป่าครัวเรือนละ 400 ต้น รวมต้นไม้ 1,040 ล้านต้น จะได้พื้นที่ป่าเพิ่มขึ้น 26 ล้านไร่ จะเกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ 1.04 ล้านล้านบาท

เพื่อให้โครงการเดินหน้าได้อย่างรวดเร็วและเป็นรูปธรรม หน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องที่ได้รับมอบหมายภารกิจจะขับเคลื่อนโครงการ เริ่มจากการให้ข้อมูลและขยายผลต่อยอดโครงการชุมชนไม้มีค่า โดยจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สร้างแรงจูงใจ ปรับปรุงระเบียบกฎหมาย จัดกลุ่มและลงทะเบียนชุมชนที่มีความพร้อมและต้องการเข้าร่วมโครงการส่งเสริมสนับสนุนการปลูกไม้มีค่าในพื้นที่เป้าหมาย สนับสนุนการคัดเลือกและเพาะพันธุ์ไม้ กำหนดราคากลาง สำรวจและเผยแพร่ราคาไม้แก่ผู้ปลูกผู้รับซื้อ การทำประกันต้นไม้ ส่งเสริมการตลาดและการแปรรูป ฯลฯ

หากสัมฤทธิผล “ชุมชนไม้มีค่า” จะสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจให้กับประชาชนและเกษตรกร สร้างมูลค่าเพิ่มจากสินทรัพย์ เป็นหลักประกันทางสินทรัพย์ เป็นการเก็บออมในต้นไม้ ซึ่งจะสามารถใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันจากการเติบโตของไม้มีค่าทางเศรษฐกิจ คิดเป็นมูลค่า 1.04 ล้านล้านบาทใน 10 ปีข้างหน้า