ขยะพลาสติกไม่ใช่แค่เทรนด์

Photograph: Fred Dufour/AFP/Getty Images

คอลัมน์ ชั้น 5 ประชาชาติ

โดย กษมา ประชาชาติ

กระแสการรณรงค์เลิกใช้โฟมและพลาสติก เป็นประเด็นที่กำลังพูดถึงอย่างกว้างขวาง หากเปิดหน้าฟีดเฟซบุ๊กจะเห็นว่าขณะนี้มีหลายประเทศ เช่น มาเลเซีย เริ่มประกาศเลิกใช้ถุงพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง

ในส่วนของประเทศไทย หลายองค์กรให้ความสำคัญในการรณรงค์เรื่องนี้อย่างจริงจัง ยกตัวอย่าง เช่น หากไปโรงพยาบาลจะเริ่มเห็นการรณรงค์ให้ประชาชนนำถุงผ้ามารับยาแทนถุงพลาสติก หรือในห้างสรรพสินค้าและโมเดิร์นเทรดจะเริ่มมีการให้คะแนนสะสมในบัตรสมาชิกเพิ่มขึ้นสำหรับลูกค้าที่ไม่รับถุงพลาสติก หรือไม่รับหลอดพลาสติก นับว่าเป็นเรื่องที่น่าภูมิใจ หากการรณรงค์นี้ประสบความสำเร็จ

ถ้าย้อนไปดูสถิติกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พบว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีปริมาณขยะพลาสติกเกิดขึ้น 12% ของปริมาณขยะทั้งหมด หรือประมาณ 2 ล้านตัน แต่ถูกนำกลับไปรีไซเคิลใช้ใหม่ ประมาณ 5 แสนตันต่อปี หรือเท่ากับว่ามีปริมาณขยะพลาสติกตกค้างปีละ 1.5 ล้านตัน หากไทยมีประชากร 66 ล้านคน เท่ากับว่าคนไทย 1 คน สร้างขยะเฉลี่ย 22 กิโลกรัม

และยังปรากฏว่ามีตัวเลขตามข้อมูลจาก www.earthday.org ระบุว่า ไทยเป็นประเทศที่มีปริมาณขยะพลาสติกถึง 1.03 ล้านตันต่อปี จัดเป็นอันดับที่ 6 ของโลก รองจากอันดับที่ 1 คือ จีน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม ศรีลังกา

ประเด็นที่น่าตกใจ คือ ไทยมีขยะพลาสติกแซงสหรัฐ ซึ่งรั้งอันดับที่ 20 ของโลก มีปริมาณ 280,000 ตันต่อปี

ฟากฝั่งภาคธุรกิจก็เริ่มตื่นตัวและให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ ยกตัวอย่างชัด ๆ คือ เอกชนรายใหญ่อย่าง พีทีทีจีซี ที่ออกมาแสดงจุดยืนที่ชัดเจนว่าในอีก 3-4 ปีข้างหน้าจะเลิกผลิตเม็ดพลาสติกสำหรับผลิตถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง (ถุงหูหิ้ว) แต่จะมุ่งพัฒนาผลิตภัณฑ์พลาสติกคุณภาพดีที่สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้

ทั้งยังมีไอเดียพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส โดยการวางบิสซิเนสโมเดลโรงงานรีไซเคิล เพื่อลดวงจรการทิ้งโดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการส่งคืนพลาสติกที่ใช้แล้วกลับเข้าสู่โรงงาน เพื่อนำกลับมารีไซเคิลใช้ผลิตเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่สร้างมูลค่าเพิ่มสูง ๆ อย่างสินค้าแฟชั่น เฟอร์นิเจอร์

แต่อุปสรรคที่ยังเป็นแรงฉุดให้ธุรกิจนี้เกิดยาก คือ ต้นทุนการผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิลยังคงสูงหากเทียบกับพลาสติกทั่วไป อย่างไรก็ตาม พีทีทีจีซีมั่นใจว่า หากผู้ซื้อรู้ว่าการซื้อเสื้อที่ผลิตจากเส้นใยจากเม็ดพลาสติกรีไซเคิล 1 ตัว จะลดขยะขวดพลาสติกได้ถึง 6 ขวด จะยอมจ่ายในราคาพรีเมี่ยมแน่นอน จุดต่อไปรอลุ้นเพียงหากโมเดลนี้ได้รับการสนับสนุนจนประสบความสำเร็จจะเป็นการพลิกโฉมวงการพลาสติกเลยก็ว่าได้

ไม่เพียงเท่านั้น “เอสซีจี” เจ้าตลาดแพ็กเกจจิ้งกระดาษ ถือเป็นผู้ประกอบการอีกหนึ่งที่ตื่นตัว ปรับโหมดสู่การสร้างนวัตกรรมแพ็กเกจจิ้งรูปแบบใหม่เพื่อลดปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยมีการลงทุนตั้งโรงงานที่ผลิตเยื่อกระดาษสำหรับใช้ผลิตกล่องที่ย่อยสลายได้ และร่วมกับหน่วยงานท้องถิ่นในหลายสิบจังหวัด ซึ่งประกาศตัวลดการใช้พลาสติกและโฟม โดยการให้ความรู้ประชาชน แต่สิ่งสำคัญที่เอสซีจีพบว่า การส่งเสริมการใช้ต้องมีแพ็กเกจจิ้งทางเลือกที่หาซื้อได้ง่ายและราคาไม่แพงเสียก่อน

เอสซีจีจึงประยุกต์การทำตลาดบรรจุภัณฑ์ทางเลือกเจาะกลุ่มพ่อค้าแม่ค้าสมัยใหม่ โดยดึงระบบอีคอมเมิร์ซมาใช้ เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า ตามกระแสการช็อปปิ้งออนไลน์ สตรีตฟู้ดที่กำลังมาแรง

อย่างไรก็ตาม การรณรงค์จะสำเร็จไม่ได้เลย หากปราศจากแรงสนับสนุนจากภาครัฐ ซึ่งในประเทศที่ประสบความสำเร็จสามารถลดปริมาณการใช้พลาสติก เกิดจากมาตรการให้แรงจูงใจเสริมจุดแข็งสร้างแต้มต่อให้ผู้ประกอบการในช่วงที่กำลังปรับเปลี่ยน โดยการให้อินเซนทีฟภาษีจูงใจแบบต่าง ๆ

ในประเด็นนี้ หน่วยงานภาครัฐของไทยได้ริเริ่มกำหนดมาตรการจูงใจการลดใช้พลาสติกอย่างเป็นรูปธรรมบ้าง เช่น กระทรวงพาณิชย์ ให้กรมการค้าภายในขอความร่วมมือให้ร้านสะดวกซื้อและซูเปอร์สโตร์ต่าง ๆ ลดราคาสินค้าเมื่อผู้บริโภคไม่รับถุงพลาสติก และให้ผู้ประกอบการขึ้นทะเบียนว่าใช้ถุงพลาสติกย่อยสลายได้ออกงานแฟร์ของกระทรวงพาณิชย์ และให้ยกเลิกการใช้โฟมบรรจุอาหารตั้งแต่มิ.ย. 2558 ลดการใช้ถุงหูหิ้ว/แก้วพลาสติกตั้งแต่ 1 ก.ค.ที่ผ่านมา

ตลอดจนให้ร้านค้าธงฟ้าประชารัฐซึ่งปัจจุบันมี 40,000 แห่ง เข้าร่วมโครงการสานพลังช่วยคน คนช่วยโลก ลดใช้ถุงพลาสติก และจัดหาถุงผ้าให้ประชาชนแทนการใช้ถุงพลาสติก เป็นต้น

นี่เป็นเพียงตัวอย่างเดียวของภาครัฐแต่ยังมีหน่วยงานอื่นอีก 20 หน่วยงานที่ประกาศคิกออฟการลดใช้พลาสติก/โฟมไปตั้งแต่ 5 มิ.ย.ที่ผ่านมา


สุดท้ายการรณรงค์เรื่องนี้จะสำเร็จได้เต็ม 100% สิ่งสำคัญอยู่ที่จิตสำนึกของประชาชนที่ต้องไม่มองว่าเรื่องนี้เป็นแค่กระแส…ถามตัวเองว่าวันนี้เราใช้พลาสติกกี่ชิ้น แล้วเริ่ม “ลด ละ เลิก” ซะแต่วันนี้