แล้งหน้ายังไม่วิกฤติ

เขื่อนอุบลรัตน์-แฟ้มภาพ

คอลัมน์ สามัญสำนึก

โดย ถวัลย์ศักดิ์ สมรรคะบุตร

เหลือเวลาอีกไม่นาน ประเทศไทยก็จะเข้าสู่ปีน้ำของปี 2562 แล้ว โดยสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั่วประเทศขณะนี้มีปริมาตรน้ำรวมกันถึง 56,917 ล้าน ลบ.ม. (16 ตุลาคม 2561) หรือคิดเป็นร้อยละ 80 ซึ่ง “ใกล้เคียง” กับปริมาตรน้ำในช่วงเวลาเดียวกันของปี 2560 ที่ 57,149 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 81 น้อยกว่าแค่ 233 ล้าน ลบ.ม.เท่านั้น ในขณะที่ปริมาตรน้ำใช้การได้จริงอยู่ที่ 33,372 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 70 มีปริมาตรน้ำไหลลงอ่าง 112.28 ล้าน ลบ.ม. และปริมาตรน้ำระบาย 93.38 ล้าน ลบ.ม. ยังสามารถรับน้ำได้อีก 14,021 ล้าน ลบ.ม.

นั่นหมายถึงว่า ฤดูแล้งหน้าที่กำลังจะมาถึงในอีก 6 เดือนข้างหน้า สถานการณ์ไม่ถึงกับขั้นเลวร้ายมากนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ปลูกข้าว 2 ฝั่งของลุ่มน้ำเจ้าพระยา เนื่องจากน้ำจากอ่างเก็บน้ำในเขื่อนหลัก 4 แห่ง ได้แก่ เขื่อนภูมิพล (9,167 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 60), เขื่อนสิริกิติ์ (8,328 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 88), เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน (726 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 77) และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ (688 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 72) รวมกันมีปริมาตรน้ำ 18,910 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 76 และยังมีน้ำไหลลงอ่างอยู่วันละ 47.53 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำระบายอยู่ที่ 19.38 ล้าน ลบ.ม.เชื่อว่ากรมชลประทานสามารถบริหารจัดการน้ำจำนวนนี้เพียงพอไปจนหมดฤดูแล้งปีหน้า

อย่างไรก็ตาม กรมชลประทานได้มีคำสั่งให้อ่างเก็บน้ำขนาดกลางและขนาดใหญ่ที่มีปริมาณน้ำกักเก็บ “น้อยกว่า” ร้อยละ 30 ให้พิจารณาจัดสรรน้ำเฉพาะการอุปโภค-บริโภค รักษาระบบนิเวศและสำรองน้ำไว้ใช้สำหรับต้นฤดูฝนปี 2562 เป็นสำคัญ สำหรับอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและขนาดใหญ่ที่มีปริมาณน้ำเก็บกักน้อยกว่าร้อยละ 60 ให้บริหารจัดการน้ำหรือระบายน้ำตามแผนการจัดสรรน้ำอย่างระมัดระวังเพื่อลดความเสี่ยงจากการขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง

โดยขณะนี้มีอ่างเก็บน้ำขนาดกลางที่มีปริมาณน้ำเก็บกักน้อยกว่าร้อยละ 30 อยู่จำนวน 38 แห่ง และระหว่างร้อยละ 30-60 อยู่จำนวน 89 แห่ง

ล่าสุด อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีปริมาตรน้ำน้อยกว่าร้อยละ 30 อยู่ในตอนนี้มีเพียงอ่างเดียวคือ อ่างเก็บน้ำทับเสลา มีปริมาตรน้ำ 48 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 30 ปริมาตรน้ำใช้การได้ 31 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 22 เท่านั้น โดยแทบไม่มีน้ำไหลลงอ่างเลย ส่วนการระบายน้ำเป็นศูนย์ เพื่อสำรองน้ำไว้ใช้จนถึงต้นฤดูฝนปีหน้า

ส่วนอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาตรน้ำใช้การน้อยกว่า 40% ลงมา จะมีอยู่ 4 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่มอด ปริมาตรน้ำ 35 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 32, เขื่อนอุบลรัตน์ 839 ล้าน ลบ.ม.

หรือร้อยละ 35, เขื่อนลำนางรอง 42 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 34 และเขื่อนกระเสียว 105 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 35 ในขณะที่ภาคตะวันตก อ่างเก็บน้ำส่วนใหญ่อยู่ในสภาพ “เกือบเต็มอ่าง” ไม่ว่าจะเป็น ศรีนครินทร์ มีปริมาตรน้ำ 16,227 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 91 เขื่อนวชิราลงกรณ 7,856 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 89

ด้านภาคตะวันออก ซึ่งเป็นพื้นที่ตั้งสำคัญของ EEC ฤดูแล้งหน้าก็จะมีน้ำเพียงพอจากอ่างเก็บน้ำ 5 อ่างหลัก ได้แก่ ขุนด่านปราการชล-คลองสียัด-หนองปลาไหล-ประแสร์ และนฤบดินทรจินดา รวมกันถึง 1,440 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 95 ส่วนภาคใต้ มีปริมาตรน้ำจาก 4 เขื่อนหลัก (แก่งกระจาน-ปราณบุรี-รัชชประภา-บางลาง) รวมกัน 6,696 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 82

ส่วนการเตรียมความพร้อมในการรับสถานการณ์ภัยแล้งปีหน้านั้น สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติได้มอบหมายหน่วยงานในพื้นที่พิจารณาดำเนินการใน 4 แนวทาง ได้แก่ 1) บริหารจัดการทรัพยากรน้ำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

2) เตรียมความพร้อมของเครื่องจักร-เครื่องมือ-เครื่องสูบน้ำ 3) เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดในทุกพื้นที่ และ 4) การแจ้งเตือนเกษตรกรล่วงหน้าในพื้นที่ที่เสี่ยงได้รับผลกระทบ ส่วนแผนการปฏิบัติจะพิจารณาปริมาตรน้ำโดยรวมทั้งประเทศ หลังจากที่กรมอุตุนิยมวิทยาประกาศสิ้นสุดฤดูฝนปีนี้อย่างเป็นทางการอีกครั้ง