ทำไมใช้หลัก กม.ล้มละลายโบราณ มาลงโทษคนดีในยุค 4.0

คอลัมน์ นอกรอบ

โดย ศาสตราจารย์พิเศษ อธึก อัศวานันท์

ปรากฏความที่เกี่ยวกับการมีหนี้สินล้นพ้นตัว หรือล้มละลายในกฎหมายเก่า คือ ในบทที่ ๕๐, ๕๑ และ ๕๒ ของพระไอยการลักษณะกู้หนี้ ศักราช ๑๒๗๘ (เมื่อเทียบศักราชแล้วน่าจะเป็น พ.ศ. ๒๑๙๔ ซึ่งเป็นรัชสมัยของพระเจ้าปราสาททอง โดยตรากฎหมายนี้ห้าปีก่อนสมเด็จพระนารายณ์มหาราชในเรื่อง “บุพเพสันนิวาส” จะขึ้นครองราชย์) ว่า ถ้าข้าราชการทหารและข้าราชการพลเรือนไม่สามารถชำระหนี้สิน ก็ให้เอาตัวมายืนขายเป็นทาส ขายได้เท่าไรให้แบ่งครึ่งหนึ่งให้แก่ทางราชการ เงินที่เหลือจึงเอาไปแบ่งให้เจ้าหนี้ (กรณีข้าราชการนี้กฎหมายไม่พูดถึงการเอาลูกเมียของลูกหนี้ไปขาย) ส่วนราษฎรที่ไม่สามารถชำระหนี้สินก็จะโดนหนักกว่า คือท่านให้นำมาใส่ขื่อแช่น้ำ ๓ วัน แล้วตากแดด ๓ วัน ถ้ายังไม่ชำระให้เอาทรัพย์สิน ข้าทาส ลูกเมียของลูกหนี้และตัวลูกหนี้มาขายเป็นทาสเอาเงินมาแบ่งชำระหนี้แก่เจ้าหนี้

หลักกฎหมายโบราณนี้เอื้อประโยชน์แก่นายทุนผู้ปล่อยกู้ให้สามารถกดดันทั้งข้าราชการและราษฎรผู้เป็นลูกหนี้ต้องหาทางมาชำระหนี้ให้ได้ แต่น่าจะเกิดผลร้ายต่อเศรษฐกิจของไทยเพราะสร้างแรงจูงใจให้บรรดาประชาราษฎร์ในไทยหลีกเลี่ยงไม่ทำธุรกิจที่ต้องกู้ยืมเงิน เพราะเกรงว่าถ้าเคราะห์ร้ายธุรกิจล่มจมแล้วลูกหนี้ทั้งครอบครัวก็ไม่แคล้วกลายเป็นทาสแล้วต้องเข้าขื่อแช่น้ำตากแดดอีกด้วย จึงปล่อยให้ชาวต่างด้าวผู้ซึ่งไม่ต้องกู้ยืมเงินจากนายทุนในไทยเป็นผู้ทำมาค้าขายประกอบธุรกิจหลักแทน

กฎหมายนี้ใช้มาหลายร้อยปี จนถึง พ.ศ. ๒๔๓๔ สมัยรัชกาลที่ ๕ ก็มีการค้าขายติดต่อกับต่างประเทศมากขึ้น (ความต่อไปนี้ย่อจากส่วนของพระราชปรารภในพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม ลักษณะกู้หนี้ยืมสิน ร.ศ. ๑๑๐)

“พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทววงษ์วโรปการ เสนาบดีว่าการต่างประเทศ กราบบังคมทูลว่า ทุกวันนี้การค้าเจริญรุ่งเรืองขึ้นกว่าเก่าก่อน เจ้าทรัพย์สินทดรองทุนให้คนที่มีแรงทำการค้าขาย แลธรรมดาการค้าขายก็ย่อมมีเวลาวัฒนะและหายนะตามกาลสมัยเหมือนการงานอื่น ๆ บางคนบางพวกที่เคราะห์ร้ายทำการค้าขายไปก็ขาดทุนโดยไม่ได้คิดฉ้อฉลผู้ใด เจ้าหนี้ผู้ที่ให้กู้ยืมทรัพย์ไป เห็นใจจริงของลูกหนี้ว่าเคราะห์ร้ายแล้ว ก็กรุณาลดหย่อนผ่อนเอาส่วนทรัพย์คืนแต่น้อย พอควรแก่กฎหมายแลธรรมเนียมยุติธรรมที่เป็นอยู่ทั่วไปในประเทศอื่น ๆ แต่เจ้าหนี้บางคนมีใจโลภเหลือเกิน ใช้ช่องตามกฎหมายเก่าก็คิดขัดขวางไม่ยอมลดหย่อนผ่อนผันแก่ลูกหนี้ ทำให้เกิดคดีทั้งเป็นที่เดือดร้อนแก่ลูกหนี้ผู้ยากไร้ยิ่งนัก”

รัชกาลที่ ๕ จึงทรงพระเมตตาแก่อาณาประชาชนทั่วไปเพื่อให้ได้ทำมาหากินโดยสุจริตและไม่คิดฉ้อโกงกัน จึงมีพระบรมราชโองการแก้ไขกฎหมายลักษณะกู้หนี้ยืมสิน ร.ศ. ๑๑๐ โดยไม่มีการนำตัวลูกหนี้มาลงโทษหรือขายเป็นทาสกันอีก โดยให้ลูกหนี้สามารถละลายหนี้ให้หนี้นั้นหายไปเพื่อให้สามารถเริ่มต้นชีวิตใหม่ได้ ต่อมามีการแก้ไขกฎหมายขึ้นอีกหลายครั้งเพื่อป้องกันลูกหนี้ใช้กลโกงต่าง ๆ แต่โดยหลักแล้วคือให้ลูกหนี้ที่ไม่สามารถชำระหนี้สินได้ มีโอกาสที่จะนำทรัพย์สินที่มีอยู่ทั้งหมดมาให้เจ้าหนี้แบ่งปันกันไป เพื่อที่ลูกหนี้ที่มีหนี้สินล้นพ้นตัวสามารถเริ่มต้นทำงานสร้างตัวเลี้ยงครอบครัวได้ใหม่

หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง รัฐสภาไทยในประกาศใช้พระราชบัญญัติล้มละลาย ๒๔๘๓ ซึ่งบัญญัติว่า ลูกหนี้ผู้ล้มละลายต้องอยู่ในสภาพล้มละลายรอจนครบสิบปีนับจากวันที่แบ่งทรัพย์สินครั้งสุดท้ายแล้วจึงจะขอยกเลิกการล้มละลายได้ เป็นการกลับหลักกฎหมายล้มละลายในสมัยที่รัชกาลที่ ๕ ท่านโปรดเกล้าตราเอาไว้เพื่อให้บรรดาลูกหนี้ที่ทำการค้าพลาดให้มีโอกาสตั้งตัวใหม่ได้โดยเร็ว

โดยพระราชบัญญัติล้มละลายฉบับ ๒๔๘๓ นี้วางหลักในเชิงลงโทษลูกหนี้ คือให้ลูกหนี้อยู่ในสภาวะล้มละลายอย่างน้อยสิบปี แม้ว่าใน พ.ศ. ๒๕๔๗ จะแก้กฎหมายให้สามารถปลดลูกหนี้จากการเป็นคนล้มละลายได้เมื่อครบสามปีของการล้มละลาย เพื่อเปิดโอกาสให้ลูกหนี้สามารถเริ่มต้นชีวิตใหม่ได้เร็วขึ้น แต่ก็ยังเป็นการลงโทษคนที่ไม่ใช่อาชญากรอย่างรุนแรง

ฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารลืมว่า คือกฎหมายล้มละลายในปัจจุบันลงโทษผู้ล้มละลายทั้งที่ล้มละลายโดยสุจริต และล้มบนฟูก (คือล้มละลายแล้วยังมีความเป็นอยู่ที่ดี) โดยไม่เลือกปฏิบัติ เช่น มีการออกระเบียบราชการไม่ให้ผู้ล้มละลายรับราชการอีกต่อไป ทำให้ภาคเอกชนก็ถือปฏิบัติตามโดยไม่จ้างคนล้มละลายเหล่านี้ไว้

คิดง่าย ๆ ถ้าลูกหนี้ล้มละลายวันนี้ (แบบไม่ได้ล้มบนฟูก) เย็นวันนี้ลูกหนี้จะนอนที่ไหน จะเอาข้าวที่ไหนกิน คำตอบที่น่าสยองขวัญ คือ ลูกหนี้เขาหิวก็เริ่มคิดไปในทางสายมืด เช่น ขายยาเสพติดหรือลักขโมยจี้ปล้นเพื่อเลี้ยงปากท้องตัวเอง กลายเป็นภาระสังคม

ยิ่งร้ายกว่านั้น ถ้าพ่อแม่ไม่ล้มละลายบนฟูก พรุ่งนี้ลูกน้อยของเขาจะนอนที่ไหน ไปเรียนหนังสือได้ไหม เมื่อไม่มีที่นอนที่เรียนท้องก็หิว เด็กน้อยจะทำอย่างไร คำตอบที่น่าสยองขวัญมากขึ้น คือ เด็ก ๆ เขาอาจจะต้องช่วยพ่อแม่เขาขายยาเสพติด หรือลักเล็กขโมยน้อยจี้ปล้นเพื่อประทังความหิว

ขนาดอาชญากรติดคุกอยู่ รัฐเรามีงบประมาณเลี้ยงข้าวเขา ฝึกอาชีพเขาให้อาชญากรเหล่านี้สามารถออกมา
ตั้งตัวเองได้ไม่ต้องเป็นภาระแก่สังคม แล้วทำไมกับคนที่ไม่ได้ก่ออาชญากรรมอะไรเพียงแค่ทำธุรกิจพลาด ทั้งฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารทำโทษเขากีดกันออกจากสังคมสามปี สิบปี ไม่ให้เขารับราชการ หรือทำงาน ไม่สนใจว่า เขาจะเอาอะไรกิน ลูกของเขาก็ไม่ได้ทำอะไรผิดเลยก็ขาดโอกาสในการศึกษาหมดอนาคตไปด้วย กลายเป็นภาระของสังคมต่อไป คนล้มละลายไม่ใช่อาชญากรรัฐไม่ต้องเลี้ยงดู เพียงให้โอกาสเขาทำงานเลี้ยงตัวเองและครอบครัวเขาก็พอครับ

เรื่องนี้แก้ง่ายมาก แก้ระเบียบราชการให้คนที่ล้มละลายที่ไม่ได้ทุจริตสามารถรับราชการต่อไปได้ อย่าดูถูกน้ำใจเขา คนที่พลาดทางธุรกิจก็สามารถอุทิศทั้งชีวิตและเลือดเนื้อรับใช้ชาติอยู่แล้ว ขอให้ฝ่ายบริหารช่วยเป็นผู้นำทำให้ภาคเอกชนและสังคมให้โอกาสผู้ที่ล้มละลายให้สามารถเลี้ยงตัวเองได้ เขาไม่ใช่อาชญากร กฎหมายล้มละลายนี้วางหลักมาตั้งแต่ ๒๔๘๓ โบราณเต็มที

ทั้งฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารต้องปรับปรุงกฎหมายทั้งทางเศรษฐกิจและทางแพ่งให้ทันสมัยขึ้นมาบ้าง ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๗๕ มาก็เห็นปรับปรุงกันแต่กฎหมายปกครอง ถ้ามองประชาชนและกฎหมายส่งเสริมเศรษฐกิจมากกว่านี้ เราก็ไปโลด