อย่าเพิ่งดีใจเมื่อกรุงเทพฯ เป็นที่ 1 สตาร์ตอัพในเอเชีย

คอลัมน์ นอกรอบ
โดย สกุณา ประยูรศุข

นับว่าเป็นข่าวดีสำหรับประเทศไทย หลังใช้ความพยายามอย่างมากทั้งภาครัฐและเอกชน ในการผลักดันให้นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาปั้น “สตาร์ตอัพ” ให้เกิดเป็นธุรกิจที่มีคุณภาพในอนาคต

โดยภาครัฐได้กำหนดนโยบายอย่างจริงจังลงสู่กระทรวง กรมกองต่าง ๆ ซึ่งได้พบว่าความพยายามอย่างมากมายนั้นไม่สูญเปล่า

กล่าวคือเมื่อไม่นานมานี้ มีการจัดอันดับ และ “กรุงเทพมหานคร” ครองอันดับ 1 ของเมืองที่ดีที่สุดสำหรับชาวสตาร์ตอัพในเอเชีย และยังเป็นอันดับ 7 ของโลก แซงหน้าฮ่องกงและสิงคโปร์ ที่ถือว่าเป็นสถานที่อันดับต้น ๆ ที่เหมาะสมกับการเริ่มต้นธุรกิจและมีความสามารถในการแข่งขันสูง

ทั้งนี้ เป็นผลจากการสำรวจของ PeopleHour บริษัทจัดหางานอิสระ ที่ได้ทำการจัดอันดับเมืองที่ดำเนินนโยบายเอื้อต่อสตาร์ตอัพ โดยวัดจากค่าครองชีพ ค่าเช่า เงินเดือน และปัจจัยที่เหมาะสมที่สุดในการประกอบธุรกิจ ซึ่งผลการสำรวจพบว่ากรุงเทพฯ มีการเติบโตของสตาร์ตอัพอย่างต่อเนื่อง ทั้งในกลุ่มเทคโนโลยีทางการเงินและกลุ่มอื่น ๆ ทำให้กรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางอันดับต้น ๆ ของโลกที่เหมาะสมสำหรับผลักดันธุรกิจสตาร์ตอัพ

ส่วนอันดับที่ออกมาเรียงได้ดังนี้ 15 อันดับแรกของเมืองที่ได้รับการจัดอันดับ ได้แก่ 1.เมืองแวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดา 2.นครเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี 3.เมืองแมนเชสเตอร์ ประเทศอังกฤษ 4.เมืองลิสบอน ประเทศโปรตุเกส 5.กรุงสตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดน 6.เมืองซานดิเอโก สหรัฐอเมริกา 7.กรุงเทพฯ ประเทศไทย 8.เมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย 9.ลอสแองเจลิส สหรัฐอเมริกา 10.บังคาลอร์ ประเทศอินเดีย 11.กัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย 12.ประเทศสิงคโปร์ 13.เมืองอิสตันบูล ประเทศตุรกี 14.กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ 15.นครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย ในขณะที่นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ได้อันดับที่ 22 และโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ตามมาในอันดับที่ 23

สาเหตุที่แวนคูเวอร์คว้าอันดับ 1 ในการจัดอันดับครั้งนี้ เนื่องจากเป็นประเทศที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีอันดับต้น ๆ  ของโลก มีค่าครองชีพ ค่าเช่า เงินเดือน ที่เอื้อต่อการเริ่มต้นธุรกิจใหม่อย่างสตาร์ตอัพ ขณะที่กรุงเทพฯ ได้รับความสนใจในกลุ่มเทคโนโลยีทางการเงิน : FinTech ซึ่งทำให้กรุงเทพฯ กลายเป็นศูนย์กลางที่เหมาะสมสำหรับการผลักดันธุรกิจดังกล่าวสู่ภูมิภาคอาเซียนไปพร้อมกับประชากรจำนวนมหาศาลและการเติบโตของชนชั้นกลางที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

ปัจจุบันไทยมีสตาร์ตอัพที่อยู่ในช่วงพัฒนาแนวคิด (Idea startup) กว่า 8,000 ราย เกิดสตาร์ตอัพที่มีศักยภาพและเริ่มดำเนินธุรกิจจริงอีกกว่า 1,500 ราย เกิดการจ้างงานใหม่ไม่น้อยกว่า 7,500 อัตรา ซึ่งบุคลากรเหล่านี้ถือเป็นคนรุ่นใหม่ ที่จะกลายเป็นกำลังแรงงานที่มีทักษะทางเทคโนโลยี และทักษะด้านความเป็นผู้ประกอบการสูง เป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาประเทศ

ตัวเลขของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระบุว่า การเติบโตของการลงทุนในธุรกิจสตาร์ตอัพในประเทศไทยได้เพิ่มขึ้นสูงจากปีก่อนกว่า 150% มีตัวเลขการลงทุนเพิ่มจาก 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นมากถึง 35-40 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เกิดความสนใจในธุรกิจสตาร์ตอัพกระจายไปในทุกภาคส่วน ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นความจริงจังของนโยบายรัฐในการส่งเสริมและสนับสนุนสตาร์ตอัพอย่างรอบด้าน สร้างกระแสความตื่นตัวในธุรกิจ “สตาร์ตอัพ” ให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างทั้งประชาชนและนักธุรกิจในภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ

นอกจากนี้ยังระบุด้วยว่า การจัดงานที่เพิ่งจบไป มีการ pitching ในเวทีต่าง ๆ มากมายรวมกว่า 42,000 คน ถือเป็นการรวมกลุ่มสตาร์ตอัพจากทั้งในประเทศและจากต่างประเทศที่มาพบกัน ส่งผลให้เกิดการเจรจาธุรกิจประมาณ 6,000 ล้านบาท เกิดการลงทุนจากภาคเอกชนและเกิดพันธมิตรทางธุรกิจ คิดเป็นมูลค่าไม่ต่ำกว่า 30,000 ล้านบาท โดยในปีนี้ สาขาธุรกิจที่มาแรงคือกลุ่มการแพทย์และสาธารณสุข, กลุ่มอสังหาริมทรัพย์และเทคโนโลยีเมือง และกลุ่มธุรกิจบริการ

ขณะเดียวกัน สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ระบุว่า ปัจจุบันแนวโน้มสตาร์ตอัพไทยอยู่ในช่วงเติบโต และมีแนวโน้มจะเติบโตมากขึ้นในปี 2561 โดยกลุ่มของสตาร์ตอัพใหม่ที่น่าจับตาได้ขยายจากเทคโนโลยีการเงิน และ E-commerce ไปยังกลุ่มที่มีความหลากหลายมากขึ้น อาทิ กลุ่มเกษตร อาหาร และท่องเที่ยวบริการ

อย่างไรก็ตาม การที่ประเทศไทยได้รับการโหวตดังกล่าว ไม่ได้หมายความว่าไทยประสบผลสำเร็จแล้วในเรื่องของสตาร์ตอัพ แต่กลับเป็นการสะท้อนให้เห็นว่า รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยิ่งจะต้องเอาใจใส่และพยายามส่งเสริมสตาร์ตอัพอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดเป็นธุรกิจที่พัฒนาไปสู่คุณภาพอย่างแท้จริง เพราะทุกวันนี้จะว่าไปแล้ว กลุ่มสตาร์ตอัพในไทยยังขาดเงินทุนสนับสนุน เข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุน ทั้งที่ผ่านมามีการระบุว่า สตาร์ตอัพแห่งหนึ่ง ๆ ควรจะได้รับเงินสนับสนุนอย่างน้อย 5 ล้านบาท ร่วมกับมาตรการทางการเงินที่รัฐให้การสนับสนุน


หากมีเอกชนหรือสถาบันการเงินเข้ามาร่วมสนับสนุนด้วย ก็จะยิ่งทำให้ “สตาร์ตอัพ” ทั้งหลายได้ต่อลมหายใจเติบโตเป็นธุรกิจที่จะเป็นรากฐานทางเศรษฐกิจของประเทศต่อไปได้ ไม่เฉพาะแต่เรื่องของเงินทุน แต่ยังมีเรื่องกฎหมายและกฎระเบียบต่าง ๆ ที่รัฐจะต้องแก้ไขเพื่อเอื้อต่อการดำเนินธุรกิจสตาร์ตอัพด้วย