แบงก์แย่งตัวมนุษย์ AI

คอลัมน์ สามัญสำนึก

โดย สุดใจ ชาญชาตรีรัตน์

ยุคที่องค์กรธุรกิจต้องปรับตัวรับกับกระแสดิจิทัลดิสรัปชั่น นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องบิ๊กดาต้า ปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) บล็อกเชน เพื่อสร้างโมเดลธุรกิจใหม่ตอบโจทย์พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป

หนึ่งในปัญหาสำคัญขององค์กรธุรกิจเวลานี้ก็คือ ขาดแคลนบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีใหม่ ๆ เหล่านี้

ทำให้เวลานี้จึงเกิดปรากฏการณ์ องค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ของไทย โดยเฉพาะธนาคารพาณิชย์ ผู้บริหารเดินสายโรดโชว์ต่างประเทศ ไม่ใช่การชักชวนนักลงทุน แต่เป็นการโรดโชว์เพื่อดึง “คนไทย” ที่มีความรู้ความสามารถที่ทำงานอยู่ต่างประเทศกลับมาร่วมงานกับบริษัทที่เมืองไทย

ช่วงปลายปีนี้กลุ่มธนาคารพาณิชย์มีคิวโรดโชว์ไปสหรัฐอเมริกาต่อเนื่องทุกเดือน เริ่มตั้งแต่วันที่ 24-26 กันยายนที่ผ่านมา ธนาคารกรุงศรีอยุธยาเดินสายไปที่บอสตัน นิวยอร์ก และซานฟรานซิสโก 20-26 ตุลาคม แบงก์ไทยพาณิชย์ (SCB) โดยมี “กวีวุฒิ เต็มภูวภัทร” หัวหน้าทีม SCB10X นำทีมควานหาตัวคนเก่งที่สหรัฐอเมริกาเช่นกัน

และ 10-13 พ.ย. 2561 เป็นคิวของธนาคารกสิกรไทย (KBANK) โดยมี “สมคิด จิรานันตรัตน์” ประธานกสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป (KBTG) ควงคู่ไปกับ “ขัตติยา อินทรวิชัย” กรรมการผู้จัดการ KBANK เดินสายไปที่ซิลิคอนวัลเลย์ ซานฟรานซิสโก และซีแอตเติล

“สมคิด จิรานันตรัตน์” เล่าให้ฟังว่า สำหรับการเดินสายไปอเมริกาในเดือน พ.ย.นี้ ถือเป็นครั้งที่ 2 ของปีนี้ หลังจากเมื่อต้นปีไปมาแล้ว 1 รอบ การที่ต้องไปหาทาเลนต์จากต่างประเทศ เพราะคนไทยที่ทำงานบริษัทเทคโนโลยีในสหรัฐจะมีประสบการณ์ผ่านปัญหาต่าง ๆ มาเยอะ มีโอกาสทำงานร่วมกับคนเก่ง ๆ ระดับโลก จะช่วยทำให้เรามีมุมมองที่กว้างขึ้น

วิธีการก็คือ ไปเมืองใหญ่ ๆ ที่คิดว่ามีคนไทยทำงานอยู่ และมหาวิทยาลัยดี ๆ ที่มีคนไทยเรียนอยู่ ตอนนี้หลาย ๆ ธนาคารและองค์กรใหญ่ ๆ ก็มีแนวคิดแบบเดียวกัน เห็นความสำคัญของทาเลนต์ที่อยู่ต่างประเทศ

ประธาน KBTG เล่าว่า กระบวนการชักชวนกลุ่มคนเหล่านี้กลับมาทำงานเมืองไทย ไม่ใช่ไปครั้งเดียวแล้วจะดึงมาได้เลย ต้องเดินทางไปหลายรอบเพื่อสร้างความเชื่อมั่น ความเข้าใจในสิ่งที่ธนาคารกำลังจะทำ เพราะส่วนใหญ่เขาจะสนใจว่าจะมาทำ จะช่วยสร้างความสามารถการแข่งขันให้กับองค์กร ให้กับประเทศได้อย่างไร

“แม้ว่าตอนนี้จะมีหลาย ๆ องค์กรไปแย่งชิงตัวมากขึ้น แต่วิธีของเราจะไม่ใช้การทุ่มซื้อตัว เพราะเป้าหมายต้องการสร้างทีมที่มีแพสชั่นเหมือนกัน ที่จะสามารถทำงานร่วมกันในระยะยาว”

และตอนนี้ได้ระดับ Ph.ฏ. มากว่า 10 คน มาทำเรื่องแมชีนเลิร์นนิ่งรวมกับเด็กเก่ง ๆ ในประเทศก็มีประมาณ 60 คน เป็นทีมทำเรื่อง AI ซึ่งมีเป้าหมายที่จะสร้างทีมให้ถึง 200 คน เพราะตอนนี้ธนาคารได้นำเอไอเข้าไปเป็นส่วนประกอบสำคัญในแอปพลิเคชั่น “เคพลัส” ที่จะเป็นโอเพ่นแพลตฟอร์มต่อยอดการทำธุรกรรมและให้บริการอื่น ๆ อีกมากมาย

ขณะที่ “ฐากร ปิยะพันธ์” ประธานกรรมการกรุงศรี คอนซูมเมอร์ และผู้บริหารสายงานดิจิทัลแบงกิ้งและนวัตกรรม ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ย้ำว่า ธุรกิจปัจจุบันต้องอาศัยการวิเคราะห์ข้อมูลการทำบิ๊กดาต้า ทำให้มีความต้องการผู้เชี่ยวชาญด้านนี้อย่างมาก ไม่ใช่แค่กลุ่มธนาคาร และในอนาคตโลกธุรกิจทั้งหมดจะกลายเป็น tech company และ data company ทำให้ทาเลนต์ด้านเทคโนโลยีในประเทศไม่เพียงพอ

ขณะที่องค์กรธุรกิจมีการดึงทาเลนต์เข้ามาทำงานอีกหนึ่งปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในองค์กรขนาดใหญ่ คือ การตั้งทีมพิเศษ หรือหน่วยงานพิเศษ แยกออกมาจากโครงสร้างเดิม ๆ เพื่อรองรับการทำงานของมนุษย์เอไอเหล่านี้


เพราะการสร้างโลก (ธุรกิจ) ใหม่ไม่สามารถใช้โครงสร้างพื้นฐานเดิม วิธีการเดิม และวัฒนธรรมการทำงานแบบเดิม ๆ ได้