แก้พืชผลตกต่ำก่อนรากหญ้าล่มสลาย

บทบรรณาธิการ

ช่วงเก็บเกี่ยวพืชผลทางการเกษตรสำคัญ อาทิ ข้าวนาปี ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน ฯลฯ ปีนี้มาถึงพร้อม ๆ กับวัฏจักรราคาที่ส่วนใหญ่ยังเป็นขาลง น่าห่วงว่าจากนี้ไปจนถึงสิ้นปีซึ่งผลผลิตพืชหลายชนิดจะทยอยออกสู่ตลาดเพิ่มมากขึ้นอีก เกษตรกรจะยิ่งได้รับความเดือดร้อน

ส่งผลให้การเคลื่อนไหวเรียกร้องรัฐบาลแก้ไขปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำมีบ่อยครั้งขึ้น ล่าสุด แกนนำชาวสวนปาล์มในจังหวัดกระบี่ระดมเกษตรกรชาวสวนปาล์มในพื้นที่ 6 จังหวัดภาคใต้รวมตัวกันประท้วงใหญ่ หลังผลผลิตปาล์มราคาร่วงลงเหลือ 2.5 บาท/กก. หนักสุดในรอบหลายสิบปี

ประกอบกับความไม่พอใจที่ถึงขณะนี้ราคายางยังไม่กระเตื้อง ทั้งที่รัฐบาลเคยให้คำมั่น และออกมาตรการให้หน่วยราชการ รัฐวิสาหกิจใช้ยางพาราเป็นส่วนผสมในการก่อสร้างถนน ฟุตปาท ลู่วิ่ง สระน้ำ ลานกีฬา ฯลฯ ตั้งเป้าหมายรับซื้อยาง 2 แสนตัน แต่ในทางปฏิบัติค่อนข้างล้มเหลวเพราะทำได้แค่หลักพันตันเท่านั้น

ไม่แปลกที่เศรษฐกิจภาคใต้ซึ่งพึ่งพารายได้จากพืชเศรษฐกิจหลักอย่างยางพารา ปาล์มน้ำมัน จะอยู่ในสภาพฟุบไม่ฟื้น แถมเคราะห์ร้ายผลผลิตมะพร้าว กุ้งขาว กุ้งกุลาดำ ฯลฯ เจอวิกฤตราคาถล่มซ้ำ แนวโน้มที่กำลังซื้อภาคใต้ซึ่งที่ผ่านมาดิ่งลงหนักจะโงหัวได้คงต้องใช้เวลาอีกนาน

ขณะที่เกษตรกรในภาคกลาง เหนือ อีสาน ตะวันออก ก็ประสบปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำมากบ้างน้อยบ้างไม่แตกต่างกัน

ทั้งนี้ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) รายงานตัวเลขดัชนีรายได้เกษตรกรช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมาว่า ภาพรวมรายได้อยู่ที่ 149.24 ลดลงจากเดือนกันยายน 2560 ร้อยละ 4.04

เป็นผลมาจากดัชนีราคาปรับตัวลดลงร้อยละ 6.00 โดยสินค้าสำคัญที่มีราคาลดลง ได้แก่ ปาล์มน้ำมัน ลองกอง เงาะ และไก่เนื้อ ส่วนดัชนีผลผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.08 สินค้าสำคัญที่ผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้า ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ยางพารา ลองกอง ปาล์มน้ำมัน ไก่เนื้อ ไข่ไก่

ประเด็นเรื่องรายได้กับราคาสินค้าเกษตรตกต่ำจึงยังเป็นปัญหาใหญ่ที่รัฐบาลต้องเร่งแก้ไข หากต้องการสร้างสมดุลระหว่างภายในกับนอกประเทศ ให้สอดรับกับสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งสงครามการค้าที่มีแนวโน้มรุนแรงและจะกระทบการส่งออกตั้งแต่ปีนี้จนถึงปีหน้า

ด้วยเงื่อนเวลาที่มีจำกัดท่ามกลางความสุ่มเสี่ยงและปัจจัยลบรอบด้าน จากนี้ไปรัฐบาลต้องทำทุกวิถีทางตอบโจทย์สารพัดปัญหาของประชากรส่วนใหญ่ของประเทศให้ได้ เพราะหากปล่อยเวลาให้เนิ่นนานออกไป ภาคการเกษตร เศรษฐกิจรากหญ้าที่อ่อนล้าอยู่แล้วจะยิ่งติดหล่มลึกเสี่ยงจะล่มสลาย