6 มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม

สมุนไพร/แฟ้มภาพไม่เกี่ยวข้องกับข่าว

คอลัมน์ นอกรอบ

โดย นคร ปณิตฐา

ต้นเดือนตุลาคม 2561 ที่ผ่านมา กรุงเทพมหานครออกประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง รายการมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร ประจำปี 2561 เป็นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม พ.ศ. 2559 ที่กำหนดให้คณะกรรมการส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม กทม.ร่วมกับชุมชน รวบรวมมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมในพื้นที่ กทม. นำไปเผยแพร่ให้ประชาชนตระหนักและรับรู้ถึงความสำคัญ รวมทั้งให้สามารถค้นคว้า อ้างอิง และตรวจสอบได้ และคณะกรรมการชุดดังกล่าว ได้พิจารณาคัดเลือกมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมในพื้นที่ กทม. ประกาศให้เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม กทม.ประจำปี 2561 รวม 6 สาขา

1.สาขาวรรณกรรมพื้นบ้านและภาษา ได้แก่ ตำราดูลักษณะแมวของ สมเด็จพระพุฒาจารย์ พุทธสรมหาเถระ (นวม พุทธสโร) วัดอนงคาราม เขตคลองสาน เป็นตำราที่บันทึกลักษณะของแมวไทยพันธุ์โบราณที่สมเด็จพระพุฒาจารย์ (นวม พุทธสโร) ท่านให้รวบรวมไว้ พร้อมทั้งให้จำลองภาพแมวชนิดต่าง ๆ ประกอบกับลักษณะที่บอกไว้ในตำรา

ตำราดูลักษณะวิฬาร์ หรือที่เรียกว่าตำราดูลักษณะแมวที่ท่านค้นคว้านั้นไม่ปรากฏชื่อผู้แต่ง ไม่ระบุปีที่แต่ง หรือปีที่คัดลอกบันทึกเรื่องราว แต่พิจารณาจากรูปอักษร อักขรวิธี คำ และสำนวนภาษาที่ใช้ พบว่ามีอายุไม่เก่าเกินกว่าสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ในตำราได้บันทึกถึงแมวไทยโบราณ 23 ชนิด แบ่งเป็นแมวมงคล 17 ชนิด แมวให้โทษ 6 ชนิด โดยบรรยายลักษณะ รูปร่าง สีสันของแมวชนิดต่าง ๆ ลักษณะแมวดี แมวร้าย

ปัจจุบันแมวสายพันธุ์ที่ระบุในตำราสูญหายเป็นจำนวนมาก คงเหลือ 4 ชนิด คือ แมววิเชียรมาศ แมวมาเลศ หรือสีดอกเลา ปัจจุบันเรียกแมวไทยพันธุ์โคราช แมวศุภลักษณ์ หรือทองแดง และแมวโกญจา

2.สาขาศิลปะการแสดง ได้แก่ ทะแยมอญ เป็นชื่อที่คนไทยเรียกการแสดงอย่างหนึ่งของคนมอญ ซึ่งน่าจะเพี้ยนมาจากภาษามอญว่า “แตะเหยห์” (แตะ-หะ-หยิ) หมายถึงการขับร้อง ทะแยมอญ เป็นศิลปะการแสดงพื้นบ้านของชาวมอญ ที่มีลักษณะเป็นเพลงปฏิพากย์ คือ การร้องโต้ตอบระหว่างชายหญิง คล้ายการเล่นเพลงลำตัด เพลงฉ่อย เพลงอีแซว ฯลฯ นักร้องฝ่ายชาย และฝ่ายหญิง ร้องโต้ตอบกันเป็นคู่ ๆ พร้อมร่ายรำประกอบเนื้อร้องเกี่ยวกับพุทธประวัติ นิทานชาดก และประวัติศาสตร์ขับร้องโต้ตอบระหว่างชาย-หญิง เดิมเป็นภาษามอญล้วน ๆ ปัจจุบันประยุกต์คำร้อง

ทั้งเป็นภาษามอญ และมอญปนไทย มักใช้กับทำนองเพลงสมัยใหม่ ปัจจุบันมีคณะเดียว คือ “คณะหงส์ฟ้ารามัญ” นายกัลยา ปุงบางกระดี่ เป็นหัวหน้าวง

3.สาขาแนวปฏิบัติทางสังคม พิธีกรรม ประเพณี และเทศกาล ได้แก่ ประเพณีชักพระวัดนางชี เป็นประเพณีสำคัญที่สืบเนื่องกันมาตั้งแต่กรุงรัตนโกสินทร์ เป็นงานบุญประจำปีที่ถือปฏิบัติกันมาเป็นเวลาช้านาน และเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง แสดงออกถึงงานประเพณีทางศาสนา ที่ชุมชนชาวริมน้ำทำกิจกรรมร่วมกัน ปัจจุบันรู้จักกันในชื่อ “งานแห่พระบรมสารีริกธาตุ” พื้นที่ปฏิบัติมีจุดเริ่มต้นและปลายทางที่วัดนางชีโชติการาม เขตภาษีเจริญแตกต่างจากงานชักพระในพื้นที่อื่นที่อัญเชิญพระพุทธรูป ซึ่งจัดทำกันในวันแรม 1 คำ เดือน 11 อันเป็นวันออกพรรษา แต่การจัดงานประเพณีชักพระวัดนางชี จะทำในวันแรม 2 ค่ำเดือน 12

4.สาขาความรู้และการปฏิบัติเกี่ยวกับธรรมชาติและจักรวาล ได้แก่ ยาหอมตำรับบ้านหมอหวาน คือ ยาแผนไทยโบราณที่นายหวาน รอดม่วง แพทย์แผนโบราณได้ปรุงขึ้น เพื่อจำหน่ายที่ “บำรุงชาติสาสนายาไทย” หรือ “บ้านนายหมอหวาน” ย่านเสาชิงช้า ซึ่งเป็นสถานที่ปรุงยาไทยโบราณที่ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2467

ยาหอมที่ได้รับความนิยมมี 4 ตำรับ คือ ยาหอมสุรามฤทธิ์ ยาหอมอินทรโอสถ ยาหอมประจักร์ และยาหอมสว่างภพ มีสรรพคุณในการบำรุงกำลัง บำรุงร่างกาย แก้อ่อนเพลีย แก้จุกเสียด คลื่นไส้อาเจียน วิงเวียนหน้ามืด ปวดศีรษะ ปรุงจากไม้สมุนไพรที่มีกลิ่นหอม

5.สาขางานช่างฝีมือดั้งเดิม ได้แก่ ขันลงหินบ้านบุ คือ ภาชนะใส่น้ำดื่ม ที่ใช้แพร่หลายในสังคมไทยสมัยก่อน เป็นงานฝีมือของช่างโลหะสัมฤทธิ์ (สำริด) ไทย มีส่วนผสมระหว่างทองแดง ดีบุก และเศษขันสัมฤทธิ์ กระบวนการทำโดยการนำโลหะที่ผ่านการหลอมมาตีแผ่ และตีขึ้นรูปเป็นภาชนะ จากนั้นนำมาตกแต่งให้สวยงาม

โดยนำเบ้าหลอมโลหะที่แกร่งเหมือนหินมาทุบ แล้วห่อผ้า แล้วนำไปขัดผิวโลหะให้เรียบ เรียกว่าลงหิน จึงเป็นที่มาของชื่อเรียก “ขันลงหิน”ชุมชนบ้านบุเป็นชาวกรุงศรีอยุธยาที่อพยพมาในช่วงเสียกรุงเมื่อ พ.ศ. 2310 มาตั้งหมู่บ้านบริเวณปากคลองบางกอกน้อย มีวัดสุวรรณารามวรวิหาร และวัดอมรินทรารามวรวิหาร เป็นศูนย์กลาง โดยนำวิชาชีพดั้งเดิมที่เคยทำมาด้วย ปัจจุบันบ้านเจียม แสงสัจจา ที่ชุมชนบ้านบุ เขตบางกอกน้อยเหลืออยู่เพียงแห่งเดียวในประเทศไทย

6.สาขาการเล่นพื้นบ้าน กีฬาพื้นบ้านและศิลปะต่อสู้ป้องกันตัว ได้แก่ ตะกร้อลอดห่วง เป็นกีฬาพื้นเมืองของไทยที่ปรากฏหลักฐานชัดเจนระหว่าง พ.ศ. 2470-2472 หลวงมงคลแมน (สังข์ บูรณะศิริ) ได้ริเริ่มคิดการเล่นตะกร้อลอดห่วงขึ้นใน กทม. โดยนำวิธีการเล่นตะกร้อวงผสมผสานกับท่าเตะพลิกแพลงต่าง ๆ ของการเล่นตะกร้อ และเพิ่มการแขวนห่วงที่คิดประดิษฐ์ขึ้น ห้อยไว้สูงจากพื้นตรงกลางสนาม ให้ผู้เล่นเตะป้อนลูกตะกร้อลอดเข้าห่วงที่แขวนไว้ ต่อมาปี 2474 สมาคมกีฬาสยามได้จัดให้มีการแข่งขันขึ้นเป็นครั้งแรก และแพร่หลายไปยังจังหวัดอื่น ๆ ในภาคกลาง ปัจจุบันมีการเล่นและแข่งขันกันทั่วประเทศ