ปีแห่งความหวัง “เลือกตั้ง” มา พาเศรษฐกิจคึกคักในพริบตา

คอลัมน์ ชั้น 5 ประชาชาติ

โดย วิไล อักขระสมชีพ

เข้าสู่โค้งท้ายปีแล้ว เหลือเวลาอีก 2 เดือนก็จะหมดสิ้นปี 2561 กันแล้ว จากนั้นก็นับถอยหลังเข้าสู่วันเลือกตั้ง 24 กุมภาพันธ์ 2562 ซึ่งเวลานี้ รัฐบาล “บิ๊กตู่” ยังยืนยันไม่เปลี่ยนวันเลือกตั้งแน่ แต่โลกก็มีแต่ความไม่แน่นอนเป็นแน่แท้กว่า ก็ต้องรอดูกันไป

ตลาดหุ้นก็นับเป็นกระจกเงาที่สะท้อนบรรยากาศความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจในประเทศไทย ในมุมของภาคธุรกิจ ผู้บริหารส่วนใหญ่ มั่นใจ ว่าถ้ามีการเลือกตั้งมาจริง ก็น่าจะทำให้เศรษฐกิจไทยสดใสขึ้น เพราะนั่นหมายถึงเงินหาเสียงของพรรคการเมืองจะสะพัดไปถึงรากหญ้า เหมือนสมัยก่อนที่มีการเลือกตั้ง ก็จะเห็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจเกิดขึ้น รถกระบะก็จะมียอดขายเพิ่มขึ้น เป็นต้น ชาวบ้านมีกำลังซื้อในมือเพิ่มขึ้น

ในช่วงจากนี้ไปถึงต้นปีหน้า บรรยากาศของการเลือกตั้งก็จะเข้ามาปกคลุมเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะชาวบ้านที่ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรมีรายได้หลักก็จะขึ้นกับราคาสินค้าเกษตรทั่วโลก แต่ถ้ามีเลือกตั้งก็จะมีรายได้ที่เกิดจากกิจกรรมเลือกตั้งเพิ่มเข้ามาให้จับจ่ายใช้สอย ฝั่งเศรษฐกิจภาคธุรกิจเอสเอ็มอียังป้อแป้ อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกปัจจัยของทุกปี คือ ไตรมาส 4 จะเป็นช่วงฤดูใช้จ่ายสูงเพราะมีเทศกาลต่าง ๆ และวันหยุดเยอะด้วย

ล่าสุด ดัชนีความเชื่อมั่นเศรษฐกิจฐานราก (GSI) ของศูนย์วิจัยเศรษฐกิจ ธุรกิจและเศรษฐกิจฐานราก ธนาคารออมสินได้สำรวจจากกลุ่มตัวอย่างประชาชนที่มีรายได้ไม่เกิน 15,000 บาททั่วประเทศ จำนวน 2,150 ตัวอย่างบ่งชี้ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นเศรษฐกิจฐานรากจะปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องจากไตรมาส 3 ที่ผ่านมา ที่ดัชนี GSI อยู่ที่ระดับ 43.8 สาเหตุที่ไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ยังเพิ่มขึ้นก็เนื่องจากแนวโน้มสถานการณ์ด้านปริมาณผลผลิตและราคาสินค้าเกษตรที่สำคัญมีทิศทางดีขึ้น ผลจากมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยและเกษตรกรของภาครัฐที่ออกมาอย่างต่อเนื่อง อาทิ โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ประกอบกับเศรษฐกิจโดยรวมที่มีเสถียรภาพและความชัดเจนในการเลือกตั้งปีหน้า

โค้งท้ายปีนี้เศรษฐกิจไทยจึงได้แรงหนุน “ยกกำลังสาม” ทั้งจากฤดูใช้จ่ายสูง มาตรการภาครัฐที่ช่วยรากหญ้าและอานิสงส์เลือกตั้งที่เข้ามาหนุนให้การบริโภคคึกคักขึ้นไปอีก และจะเป็นแรงส่งไปถึงต้นปี 2562 โดยเฉพาะชาวบ้านที่มีความคาดหวัง “เงินกำลังจะหมุนมา”

แต่อย่างไรก็ตาม นี่เป็นเพียงภาพสดใสเฉพาะหน้าของชาวบ้านที่หายใจคล่องขึ้นเท่านั้น เพราะเนื้อในของชาวบ้านทั่วไปก็ยังมีภาระหนี้ที่แบกกันอยู่ไม่น้อย จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานว่า เงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือน (หนี้ครัวเรือนไทย) ณ สิ้นไตรมาส 2/61 ยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนขยับขึ้นมาอยู่ที่ 12.34 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.7% จากช่วงเดียวกันปีก่อน

ขณะที่ข้อน่าสังเกตจากศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า ไตรมาส 2/61 ยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นราว 1.71 แสนล้านบาท จากไตรมาสแรกที่ผ่านมาส่วนใหญ่น่าจะเป็นผลมาจากการเร่งตัวขึ้นของยอดคงค้างของสินเชื่อบ้าน และสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ ซึ่งสินเชื่อทั้ง 2 ตัวนี้จัดอยู่ในกลุ่มสินเชื่ออุปโภคบริโภค

นอกจากนี้ ข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนจากสำนักงานสถิติแห่งชาติยังสะท้อนอีกว่า โดยเฉลี่ยแล้วครัวเรือนไทยก้าวเข้าสู่ปีนี้ด้วยสถานะทางการเงินที่มีความ “เปราะบางมากขึ้น” เพราะปี 2560 สัดส่วนภาระหนี้ต่อรายได้ (DSR) เฉลี่ยเพิ่มขึ้นสูง 29.1% จากปี 2556 ที่มีสัดส่วน 27.2% และพิจารณาตามกลุ่มรายได้ก็พบว่า ไม่ใช่แค่ครัวเรือน กลุ่มรายได้ค่อนข้างน้อย (รายได้ 8,000-15,000 บาท/เดือน) ที่มีสัดส่วน DSR ที่เพิ่มขึ้นสูง แต่ยังมีกลุ่มรายได้ระดับกลาง-บน เช่น กลุ่มรายได้ 70,000-100,000 บาท/เดือน ก็ยังมีสัดส่วน DSR (หนี้สินต่อรายได้) เพิ่มสูงขึ้นมากด้วยเช่นกัน

ดังนั้นปีหน้าดูเหมือนบรรยากาศประเทศไทยจะสดใส แต่อีกด้านหนึ่งก็ยังมีโจทย์ใหญ่รอทดสอบรัฐบาลที่ต้องบริหารประเทศ จะสามารถประคองเศรษฐกิจเดินไปอย่างไร โดยเฉพาะเรื่องความต่อเนื่องในการฟื้นตัวของกำลังซื้อ รวมไปถึงแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่จะเข้าสู่จังหวะขาขึ้น

เพราะจะเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนบางกลุ่มอยู่ ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า หากดอกเบี้ยขึ้น 0.50% อาจส่งผลให้ภาระการผ่อนชำระต่อเดือนเพิ่มขึ้นมากกว่า 4% เทียบกับกรณีที่ไม่มีการปรับขึ้นดอกเบี้ย ดังนั้น หากผ่านพ้นปีนี้ไปแล้ว ช่วงปีหน้ามีแนวโน้มคนที่มีหนี้ก็จะต้องเผชิญกับภาระหนี้ที่จะเพิ่มขึ้นจากดอกเบี้ยที่ขยับขึ้นด้วย

นี่แค่ปัจจัยในประเทศ ซึ่งยังไม่รวมมรสุมปัจจัยต่างประเทศที่จะมากระแทกเศรษฐกิจไทยอีกเป็นระลอก ๆ

เห็นอย่างนี้แล้วก็ต้องเตรียมรับมือกัน ซึ่งหลายบริษัททำแผนรับปีหน้ารอแล้ว