แก้ปัญหาสินค้าเกษตร…อย่าท่าดีทีเหลว

บทบรรณาธิการ

จะมองว่าการแก้ปัญหาสินค้าเกษตรราคาตกต่ำของรัฐบาลเข้าทำนอง “ความวัวยังไม่ทันหาย ความควายเข้ามาแทรก” ก็ไม่น่าจะผิด เพราะปัญหาเก่ายังแก้ไม่ได้ก็มีปัญหาใหม่ซ้อน นอกจากยางพาราที่ฟุบไม่ฟื้นแล้วราคาปาล์มน้ำมัน อ้อย กุ้งขาวแวนนาไม ไข่ไก่ ยังดิ่งวูบเข้าขั้นวิกฤต

ทั้งที่พืชเศรษฐกิจเหล่านี้มีหลายหน่วยงานดูแล ตั้งแต่คณะกรรมการนโยบายระดับชาติ คณะทำงานของกระทรวง กรม รวมทั้งจังหวัด อำเภอ ที่่เป็นพี่เลี้ยงคอยให้คำแนะนำช่วยเหลือ

ขณะเดียวกันรัฐบาลได้นำแนวคิดบริหารจัดการสินค้าเกษตรแบบใหม่มาใช้ ชูนโยบายการตลาดนำการผลิต พร้อมนำแนวทางประชารัฐผนึกพลัง 3 ประสาน ดึงเอกชน ประชาชน มาร่วมงาน เพื่อยกระดับการพัฒนาและป้องกันแก้ไขปัญหาพืชผลการเกษตร โดยมีเป้าหมายให้เกษตรกรผลิตสินค้าให้สมดุลกับความต้องการของตลาด แต่ที่ผ่านมายังแก้โจทย์พืชผลราคาตกต่ำซ้ำซากไม่ได้

การปฏิรูปโครงสร้างการเกษตรเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจรากหญ้า และให้ภาคการเกษตรไทยขับเคลื่อนไปข้างหน้าสอดรับกับโมเดลเศรษฐกิจไทยแลนด์ 4.0 จึงเป็นเรื่องค่อนข้างยากและท้าทาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการยกระดับรายได้ และผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ในภาคการเกษตรให้สูงขึ้น เมื่อเทียบกับ GDP รวม

เพราะแม้ผลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจการเกษตรไตรมาส 3/2561 (ก.ค.-ก.ย. 2561) ของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) จะชี้ว่า ดัชนีรายได้เกษตรกรเพิ่มขึ้นอยู่ในระดับ 140.5 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2560 ซึ่งอยู่ที่ 138.7 โดยรายได้เกษตรกรในหมวดพืชผลเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.0 จากกลุ่มพืชอาหารและไม้ผลเป็นหลัก ส่วนปศุสัตว์และประมงลดลงร้อยละ 5.0 และ 25.6 แต่สวนทางกับความเป็นจริงที่เกษตรกรส่วนใหญ่ยังมีรายได้ไม่พอยังชีพ

ล่าสุดแม้รัฐบาลจะเแก้ปัญหาราคาปาล์มน้ำมันตกต่ำ ทั้งเร่งรัดการส่งออกน้ำมันปาล์มให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) รับซื้อน้ำมันปาล์มดิบไปใช้ในการผลิตไฟฟ้า เพิ่มส่วนผสมไบโอดีเซลในน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว (บี 7) ส่งเสริมการใช้ดีเซลบี 20 ตามข้อเรียกร้องของชาวสวนปาล์มแล้ว ไข่ไก่ที่ราคาตกต่ำเป็นประวัติการณ์ในรอบ 30 ปี กำลังเป็นอีกปัญหาที่ต้องเร่งแก้


นโยบายปฏิรูปการเกษตรโดยใช้การตลาดนำการผลิตแม้เป็นเรื่องถูกต้อง แต่ในทางปฏิบัติอาจยังไม่ถูกทิศทาง เพราะเมื่อไล่เรียงรายชื่อพืชผลหลักทางการเกษตร ซึ่งน่าจะเป็นดัชนีชี้วัดอนาคตของเกษตรกรไทย ตั้งแต่ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง อ้อย ปาล์มน้ำมัน สับปะรด ฯลฯ จะพบว่า กว่าครึ่งมีปัญหาซ้ำซาก มาตรการ แผนงานสารพัดที่ีออกมายังแก้ไม่ได้ สุดท้ายจึงมักจบลงแบบท่าดีทีเหลว ซ้ำแล้วซ้ำเล่า