เรื่องของสมอง

คอลัมน์ Healthy Aging

โดย ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

ผมต้องขอขอบคุณหนังสือพิมพ์ “ประชาชาติธุรกิจ” ที่กรุณาให้ผมกลับมาเขียนบทความอย่างเป็นประจำอีกครั้งหนึ่ง โดยในคอลัมน์ Healthy Aging-แก่ตัวอย่างมีคุณภาพ

ผมขอเขียนเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพเป็นหลัก เรื่องเศรษฐศาสตร์จะนำมากล่าวถึงในบางครั้ง ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพเพราะปัจจุบันแก่ตัวลงอายุใกล้ครบ 62 ปีแล้ว จึงได้หันมาสนใจอ่านบทความและเรียนรู้เกี่ยวกับการดูแลและรักษาสุขภาพของตัวเอง โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะแก่ตัวอย่างมีคุณภาพ หรือ Healthy Aging แปลว่า หากจะต้องตายตอนอายุ 80 ปี ซึ่งเป็นสถิติอายุคาดเฉลี่ย (life expectancy) ของชายไทยอายุ 60 ปี (สำหรับผู้หญิงไทยอายุ 60 ปี ตามสถิติจะมีชีวิตอยู่ได้อีก 23 ปี) ผมก็หวังจะใช้ชีวิตที่เหลืออีก 20 ปี อย่างมีคุณภาพ กล่าวคือ ต้องการให้ช่วงที่เจ็บป่วย และสุขภาพไม่สมบูรณ์ (morbidity) สั้นที่สุด

จากสถิติปัจจุบันของคนไทยนั้น ช่วง morbidity นานถึง 7.6 ปี สำหรับชายไทย และ 9.3 ปี สำหรับหญิงไทย จึงเป็นความต้องการของผมที่จะทำให้ช่วงปลายชีวิตที่ต้องเผชิญความเจ็บป่วยและทรมานร่างกายให้มีระยะเวลาสั้นที่สุด

หากช่วง morbidity เหลือไม่เกิน 1 สัปดาห์ได้จะยิ่งดี ทั้งกับตัวเองและลูกหลาน ที่ต้องรับภาระดูแลคนป่วย ไม่ต้องพูดถึงค่าใช้จ่ายในการดูแลคนเจ็บหนักที่เห็นมาหลายกรณีว่า ต้องใช้เงินนับล้านบาท ช่วง 1-2 ปีสุดท้ายของชีวิต

สิ่งที่ผมเชื่อว่าผู้สูงอายุทุกคนต้องการคือ die young at a very old age ซึ่งเป็นวัตถุประสงค์หลักของการหาข้อมูลมาเขียนลงในคอลัมน์นี้ และหากช่วยให้อายุยืนยาวขึ้นไปเป็น 90 ปี หรือมากกว่านั้น ก็ยิ่งดี แต่ต้องเป็นช่วงที่สามารถใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพ

เมื่อไม่นานมานี้ นาง Sandra Day O”Connor วัย 88 ปี สตรีคนแรกที่เคยดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาศาลฎีกาของสหรัฐ ประกาศยุติภารกิจทุกประเภทที่เกี่ยวข้องกับการทำงานด้านกฎหมาย เพราะพบว่ากำลังมีอาการสมองเสื่อม (demen-tia) สงสัยว่าจะเป็นโรค alzheimer”s ซึ่งปัจจุบันไม่มียารักษา และจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด เพราะปัจจัยเสี่ยงสูงสุดคือการแก่ตัว

พบว่าคนส่วนใหญ่จะเริ่มมีอาการสมองสูญเสียสมรรถภาพเบื้องต้น (mild cognitive impairment หรือ MCI) อายุ 65 ปีเป็นต้นไป (แต่บางคนอาจมีอาการตั้งแต่อายุ 40 ปี) จากการเริ่มมีปัญหาทางสมอง หรือ MCI แล้วจะพัฒนาไปสู่สภาวะสมองเสื่อม (dementia) ในระยะต่อไป โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันที่ประชากรกำลังแก่ตัวอย่างรวดเร็ว

สถิติปัจจุบันพบว่ามีคนที่มีปัญหาสมองเสื่อม 50 ล้านคน จะเพิ่มเป็น 75 ล้านคนในปี 2030 และ 131.5 ล้านคนในปี 2050 ประเมินว่าสภาวะสมองเสื่อมจะเพิ่มขึ้นมากที่สุดในประเทศกำลังพัฒนา (ไม่ใช่ประเทศพัฒนาแล้ว)

ค่าใช้จ่ายรักษาโรคและดูแลผู้ป่วยเป็น dementia นั้น ประเมินว่าเท่ากับ 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ (1.25% ของจีดีพีโลก) ส่วนใหญ่ 60% คือค่าดูแลผู้ป่วย (เป็นภาระโดยตรงกับลูกหลาน) 40% เป็นค่ายารักษา (ซึ่งเป็นภาระทางการเงินและเป็นภาระของระบบสาธารณสุขของประเทศ)

กล่าวโดยสรุปคือ ผู้สูงอายุเกิน 75 ปีนั้น 1/3 จะเป็นโรคสมองเสื่อมโรคใดโรคหนึ่ง ส่วนใหญ่ (60-70%) จะเป็นโรค alzheimer”s ซึ่งปัจจุบันยังไม่มียารักษา แม้จะได้มีความพยายามค้นคว้าหายารักษามานานหลาย 10 ปีแล้ว เพราะโรคนี้เป็นที่รู้จักมานานกว่า 110 ปีแล้ว

โรคสมองเสื่อมนั้นต้องยอมรับว่าเป็น “โรคคนแก่” กล่าวคือ ยิ่งอายุมากก็ยิ่งมีความเสี่ยงมากขึ้น แต่ทราบหรือไม่ว่าคนที่อายุ 90 ปี หรือมากกว่านั้น หากเป็นผู้ชายมีสัดส่วนเป็นโรคสมองเสื่อม (dementia) เพียง 28% แต่ผู้หญิงมีสัดส่วน 45% และแม้ว่าจะมีสัดส่วนที่สูง และจะเพิ่มขึ้นไปเรื่อย ๆ เมื่ออายุมากขึ้น แต่ยังมีสัดส่วนมากกว่า 50% ที่อายุสูงถึง 90 ปี แต่สมองก็ยังปกติดี จึงน่าจะตั้งความหวังได้ว่าจะหลีกเลี่ยงโรคสมองเสื่อมได้ จนกว่าชีวิตจะจบสิ้นลง

ทั้งนี้ ต้องดูแลสุขภาพสมองให้ดีตั้งแต่ต้น เพื่อหลีกเลี่ยงกาเผชิญกับภาวะสมรรถภาพสมองเริ่มถดถอย (mild cognitive impairment) และหากพบว่ากำลังเป็น MCI ก็ยังมีกระบวนการรักษาสมองมิให้ถดถอยต่อไปอีกจนไปสู่การเป็นโรคสมองเสื่อม หรือ dementia กล่าวคือ พยายามไม่ให้เกิด MCI แต่หากเกิดขึ้นก็ยังไม่สายเกินแก้ แต่หากเข้าสู่สภาวะ dementia แล้วน่าจะสายเกินแก้ไปแล้ว

อาการเตือนภัยความเสี่ยงจากการเสื่อมถอยของสมรรถภาพสมองนั้น ดูได้ไม่ยาก คนที่สมองเริ่มมีปัญหาจะเดินช้าลง งานวิจัยพบว่าคนที่เดินโดยใช้ความเร็ว 3 กม.ต่อ ชม. หรือต่ำกว่านั้น เสี่ยงอย่างมากที่จะเป็นโรคสมองเสื่อมในอนาคต (คนส่วนใหญ่จะเดิน 5-6 กม.ต่อ ชม. เพราะฉะนั้น หากเดินตามถนนแล้วพบว่าคนอื่น ๆ เดินแซงต่อเนื่องก็ต้องรีบตรวจสุขภาพตัวเองอย่างละเอียดโดยเร็ว)

การประเมินความเสี่ยงจะยิ่งแม่นยำขึ้น หากให้เดินแล้ววัดความเร็วเทียบกับการเดินพร้อมกับการให้ใช้สมองคิดอะไรง่าย ๆ เช่น นับถอยหลัง หรือบวกเลขพร้อมไปกับการเดิน คนปกติจะสามารถเดินโดยใช้ความเร็วได้เท่าเดิมพร้อมการใช้สมอง แต่คนที่กำลังจะมีปัญหาทางสมองจะเดินช้าลง 20% เมื่อต้องเดินและใช้สมองคิดพร้อมกันไป โดยนักวิจัยพบว่าวิธีการวินิจฉัยโรคดังกล่าวมีความแม่นยำมากกว่า 95%

จะเห็นได้ว่าการเดินมีความสำคัญอย่างมาก เพราะอันที่จริงแล้วเป็นกิจกรรมที่ต้องใช้สมองประสานงานหลายส่วนของร่างกาย ให้เคลื่อนที่ และเปลี่ยนทิศทางตลอดจนสามารถหลีกเลี่ยงอุปสรรคที่ขวางหน้า ในขณะที่ต้องรักษาความสมดุลของร่างกายไม่ให้ล้มลง จึงไม่น่าแปลกใจว่าการออกกำลังกายโดยการเดิน จะเป็นประโยชน์อย่างมากกับการรักษาและดูแลสมอง ดังนั้น หากอ่านบทความเกี่ยวกับการป้องกันโรคสมองเสื่อม คำแนะนำอันดับแรกมักจะเป็นการแนะนำให้ออกกำลังกายโดยการเดินเร็ว ครั้งละ 1/2 ชั่วโมง ประมาณ 3-4 ครั้งต่อสัปดาห์ กล่าวคือ เดินสัปดาห์ละ 180-240 นาที โดยให้เดินเร็วประมาณ 6 กม.ต่อ ชม.

วัตถุประสงค์คือให้หัวใจเต้นเร็ว 60% ของการเต้นเร็วที่สุดของหัวใจ ซึ่งคำนวณได้จากการนำเอาอายุไปหักออกจากตัวเลข 220 เช่น คนที่อายุ 50 ปี หัวใจเต้นเร็วสูงสุดไม่ควรเกิน 170 ครั้งต่อนาที จึงควรเดินเร็วจนกระทั่งหัวใจเต้นประมาณ 102 ครั้งต่อนาที เป็นต้น

ถามว่ามีข้อมูลทางวิชาการอะไรมาเชื่อมโยงการเดินกับการบำรุงสมอง ก็ต้องบอกว่ามีวิจัยชิ้นหนึ่งของมหาวิทยาลัย Pittsburg เมื่อเดินตุลาคม 2018 พบว่าการที่เส้นเลือดใหญ่ (aorta) แข็งตัวน่าจะเป็นสาเหตุสำคัญที่นำไปสู่การเป็นโรค alzheimer”s เพราะเมื่อเส้นเลือดแข็งตัวและตีบตัน ก็นำไปสู่การเสื่อมถอยของสมอง กล่าวคือ สมองนั้นต้องอาศัยการมีเส้นเลือดที่แข็งแรง และการสูบฉีดเลือดอย่างพอเพียง เป็นที่มาของคนที่เป็นโรคสมองเสื่อม มักมีปัญหาเส้นเลือดในสมองตีบตัน และมักจะเป็นโรคหัวใจอีกทางหนึ่งด้วย

งานวิจัยล่าสุดค้นพบว่าสมองของคนเรานั้นมิได้ค่อย ๆ เสื่อมลงเรื่อย ๆ (เดิมทีเชื่อว่าจำนวนเซลล์ในสมองจะค่อย ๆ ตาย ทำให้มีจำนวนเซลล์ลดลงไปเรื่อย ๆ ตามอายุที่เพิ่มขึ้น) แต่สามารถฟื้นฟูตัวเองและปรับตัวได้ หรือที่เรียกว่า neuroplasticity นอกจากนั้น ยังสามารถผลิตเซลล์สมองเพิ่มขึ้นได้อีกด้วย (neurogenesis) ซึ่งโปรตีนที่มีบทบาทสำคัญอยากมากในกระบวนการฟื้นฟูสมองและเพิ่มเซลล์สมอง คือ BDNF หรือ brain-derived neurotrophic factor ซึ่งมีข้อสรุปทางวิชาการว่าความผิดปกติเกือบทุกประเภทของสมองเกิดขึ้นพร้อมกับการที่มีระดับ BDNF ต่ำ นอกจากนั้น คนที่มี BDNF น้อยยังประสบปัญหาการแก่ตัวเร็ว (accelerated aging) และการเป็นโรคอ้วน (obesity) อีกด้วย

วิธีกระตุ้นให้ BDNF เพิ่มขึ้นนั้น ทำได้ตรงที่สุดโดยการออกกำลังกายประเภททำให้หายใจเร็ว (aerobics) ทำให้หัวใจเต้นเร็วเท่ากับ 60-75% ของการเต้นเร็วที่สุด (ตัวอย่าง คนอายุ 50 ปี คือ หัวใจเต้น 102-128 ครั้งต่อ 1 นาที) นอกจากนั้น อาจใช้วิธีลดอาหาร (caloric restriction) หรืออดอาหารเป็นครั้งคราว คือ intermittent fasting (เช่น ไม่กินอาหารวันอังคารและพฤหัสบดี) ซึ่งจะกระตุ้นให้ BDNF เพิ่มขึ้น

จะเห็นได้ว่าการดูแลให้สุขภาพของสมองแข็งแรงนั้น มิได้แตกต่างมากนักจากการดูแลสุขภาพร่างกายโดยทั่วไป ดังนั้น หากอ่านคำแนะนำเกี่ยวกับการดูแลสมองจะพบว่าคล้าย ๆ กับคำแนะนำเกี่ยวกับสุขภาพทั่วไป เช่น ให้ออกกำลังกาย การรักษาน้ำหนักตัวให้เหมาะสม การกินอาหารที่ถูกสุขลักษณะ การไม่สูบบุหรี่ การดื่มสุราอย่างจำกัด และการนอนหลับให้เพียงพอ ซึ่งประเด็นหลังนี้เป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับสมองและสุขภาพโดยรวมของเรา โดยผมจะขอนำเอาเรื่องการนอนมาเขียนให้อ่านกันในครั้งต่อไป

ประเด็นสุดท้ายที่ขอย้ำคือเมื่อร่างกายแข็งแรง สมองก็จะแข็งแรงพร้อมกันไปด้วย งานวิจัยในวารสาร Neurology วันที่ 14 มีนาคม 2018 รายงานการติดตามดูพัฒนาการด้านสมองของหญิงสวีเดน 191 คน อายุเฉลี่ย 50 ปี ในตอนเริ่มต้นของงานวิจัย โดยติดตามกลุ่มนี้นานถึง 44 ปี พบว่า หญิงที่ฟิตมาก (highly fit) มีโอกาสเป็นโรคสมองเสื่อมเพียง 5% ส่วนหญิงที่ฟิตปานกลางมีความเสี่ยง 25% ฟิตน้อย 32% และไม่ฟิต 45%

นักวิจัยสรุปว่าหญิงที่ฟิตมาก หากเป็นโรคสมองเสื่อมก็จะเป็นตอนอายุ 90 ปี นานกว่าหญิงที่ฟิตปานกลาง ซึ่งเป็นโรคสมองเสื่อมอายุ 79 ปี ผมสรุปว่าการฟิตตัวให้ผลคุ้มค่าอย่างมหาศาลครับ…