รีเทลตามซอก

คอลัมน์ สามัญสำนึก

โดย สมถวิล ลีลาสุวัฒน์

เมื่อคืนวันศุกร์หลบหนีความจำเจ ลองเปลี่ยนบรรยากาศไปนอนบ้านเพื่อนสนิทที่ย่านบางนา

ย่านที่ได้ชื่อว่าเป็น “ดงคอนโดฯ” ของคนรุ่นใหม่ ที่เลือกใช้ชีวิตอยู่ใกล้แนวรถไฟฟ้า

ตื่นเช้ามาได้ตักบาตร เพราะมีพระสงฆ์จาก 2-3 วัด ในทำเลสุขุมวิทตอนปลาย ยังเดินบิณฑบาตตามตรอกซอกซอย

โดยมีลูกศิษย์สูงวัยถีบจักรยานตามต้อย ๆ ช่วยขนของที่ญาติโยมตั้งใจทำบุญ

เดินมาสักพัก เจอร้านขายข้าวชื่อ “ทิพย์กับข้าวตามสั่ง” พร้อมเบอร์ โทร.ตัวเบ้อเริ่ม

แต่เจ้าของร้านผัวเมียกลับอยู่ในร้านที่เป็นซอกเล็ก ๆ (เล็กจริง ๆ เท่าที่เคยเห็น)

วิญญาณความเป็นนักข่าวแก่ ๆ อดไม่ได้ที่ต้องถาม “ความเป็นไปและความเป็นมา”

“ทิพย์” เล่าว่า เธอกับสามีเป็นคนอีสาน มาหากินที่กรุงเทพฯ เคยคิดจะไปขายของตลาดนัด

แต่ต้องล้มเลิก เพราะตลาดนัดมีคนเยอะจริง แต่คนขายมากกว่าคนซื้อ

เลยมาเช่าพื้นที่ว่าง เปิดร้านขายกับข้าวตามสั่ง และชวนเพื่อนมาขายกาแฟสด ขายมา 10 กว่าปี ตั้งแต่ในซอยไม่มีคน จนวันนี้คนเป็นพัน

เพราะ BTS เปลี่ยนทำเล คนต่างถิ่นมาอยู่คอนโดฯมากขึ้น

กับข้าวตามสั่งเลย “ขายดี” มากขึ้นตาม

“ทิพย์” เล่าถึงตรงนี้ น้ำตาเธอรื้น ๆ เหมือนปลื้มปริ่มกับความสำเร็จที่คาดไม่ถึง

“ร้านเราขายดีมาก เพราะมีลูกค้าประจำพวกอยู่คอนโดฯ เช้ามาก็รับออร์เดอร์ ส่วนใหญ่จะใช้ LINE มีทั้งมารับเองตอนออกไปทำงาน และชะลอรถรับหน้าร้าน”

ส่วนกาแฟสด ลาเต้ คาปูชิโน่แก้วละ 30 บาทก็ขายดีมาก

เป็นความลงตัวทั้ง “คนขาย” กับ “คนซื้อ”

เพราะอาหารสดใหม่ อร่อย สะอาด และไม่แพง ข้าวราด 30 บาท โปะไข่ดาว ไข่เจียว เพิ่มอีก 7 บาท

นี่คือชีวิตจริง ๆ ของมนุษย์งานตลาดแมส หรือชนชั้นกลาง ที่เป็นประชากรขนาดใหญ่สุดของกรุงเทพฯที่พอมีกำลังซื้อ จับจ่ายใช้สอย เป็นทราฟฟิกมหึมา ที่ผู้ประกอบการอยากขายสินค้าให้คนกลุ่มนี้มากที่สุด

เราถามต่อ “ทำไมร้านคุณมาอยู่ตรงนี้ พื้นที่แคบไปนะ”

“ที่เดิมกว้างค่ะ แต่เจ้าของที่ไม่ให้เช่าแล้ว เขาอยากขายที่ดินให้พวกทำคอนโดฯ อยากได้เงินก้อน”

“เราเลยหยุดขายไปพักใหญ่เมื่อกลางปี เพราะหาที่เช่าไม่ได้ ถามแล้วแถวนี้จะเอาค่าเช่าเดือนละ 30,000 บาท ไม่ไหวค่ะ เราสู้ไม่ไหว”

ส่วนเพื่อนที่ขายกาแฟสดเลิกขายไปเลย เพราะตะลอนหาที่ไม่ได้เหมือนกัน

สุดท้าย อู่ซ่อมรถเก่าแก่ในซอย โทร.หา ให้มาขายตรงซอกข้างอู่ เถ้าแก่บอกว่า อั๊วสงสารลื้อ แล้วอั๊วก็ไม่มีอะไรกินเลย ไปเซเว่นฯก็ซื้อนะ แต่อั๊วเบื่อ ไอ้เด็ก ๆ มันชอบ แอร์เย็น แต่กินข้าวกะเพราแล้ว นึกถึงร้านลื้อ

สรุป “ทิพย์กับข้าวตามสั่ง” ฟื้นคืนชีพ

แต่ต้องทำตัวลีบลง และใช้ฟังก์ชั่นพื้นที่ใช้สอยทุกตารางนิ้วให้มีค่ามากที่สุด

ในที่สุดเธอกับสามีก็ปรับตัวปรับใจได้ ลูกค้าคอนโดฯก็เฮโลยินดี เฮียเจ้าของอู่ก็ไม่ต้องฝืนใจเข้าร้านเซเว่นฯ

ฟังเรื่องราวทั้งหมดก็เดินย้อนกลับไปทำเลร้านเก่าของทิพย์ เห็นป้ายประกาศขายที่ดิน ที่ตั้งประชันกับ “อสังหาฯเจ้าสัว” เจ้าของเดียวกับคอนโดฯหรู และร้านสะดวกซื้อ 7-11 ในซอย

เรื่องนี้บอกอะไรบ้าง ?

บอกว่า “ไม่ว่าธุรกิจไหนก็ต้องมีหน้าร้านของตัวเอง”

แม้โลกออนไลน์จะมาแทนที่ แม้ IOT จะเป็นทุกสิ่ง

แต่ความจำเป็นของทุกธุรกิจก็ต้องมีที่ยืนของตัวเอง เพื่อขายสินค้า และบริการ

ไม่เว้นแม้แต่ธุรกิจการเงินที่จะ “ลด-เลิก” จำนวนสาขาลง แต่นายแบงก์ก็ต้องจำใจขึ้นห้างแทน

ไม่แปลกใจเลย ทำไม “เจ้าสัว” ในเมืองไทย ต่างโหยหา “ที่ดิน” แล้วหันมาทำ “รีเทล” กันถ้วนหน้า

“รีเทล” จึงเป็นเทรนด์ฮิตของเจ้าสัว เป็นธุรกิจขาขึ้น

และกำลังเป็น “สงคราม” ในกลุ่มเจ้าสัวด้วยกันเอง