กว่าจะเป็น…ไอคอนสยาม

คอลัมน์ สามัญสำนึก

โดย พัฒนพันธุ์ วงษ์พันธุ์

นาทีนี้คงไม่มีใครไม่รู้จัก “ไอคอนสยาม” ซึ่งเปิดประตูให้บริการตั้งแต่เช้าวันเสาร์ที่ 10 พฤศจิกายนเป็นต้นมา

ความใหญ่โตมโหฬาร บนผืนที่ดิน 55 ไร่ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา มีพื้นที่ใช้สอยทั้งส่วนรีเทล ไอคอนสยาม-ไอคอนลักซ์ บวกกับที่พักอาศัยอีก 2 ตึก รวมพื้นที่กว่า 750,000 ตารางเมตร เสมือนเมืองย่อม ๆ เมืองหนึ่ง

ตัวดีไซน์สะท้อนเอกลักษณ์ และพยายามสื่อความเป็นไทยในทุก ๆ จุด ต้องใช้เม็ดเงินลงทุนทุก ๆ ส่วนรวมกันถึง 54,000 ล้านบาท มากที่สุดเท่าที่เคยเกิดขึ้น เงินลงทุนขนาดนี้สามารถนำไปสร้างรถไฟฟ้าได้สายหนึ่งแบบสบาย ๆ

ภายในไอคอนสยามมีผู้ประกอบการในรูปแบบต่าง ๆ รวมกันถึง 5 พันราย ลำพังพนักงานที่คอยให้บริการปาเข้าไป 20,000 คน ไม่นับรวมถึงผู้ใช้บริการหลักแสนคนในแต่ละวัน

ไม่แปลกที่ “ไอคอนสยาม” ถูกยกให้เป็น “อภิมหาโครงการ” นับตั้งแต่เปิดตัวโครงการเมื่อ 6 ปีที่แล้ว

มีโอกาสซักถาม คุณแป๋ม-ชฎาทิพ จูตระกูล แม่ทัพคนสำคัญสยามพิวรรธน์ ตั้งแต่ยุคเปิดตัวสยามดิสคัฟเวอรี่ สยามพารากอน จนมาถึงไอคอนสยาม สัมผัสได้ถึงความมุ่งมั่น ไม่ยอมมองข้ามรายละเอียดใด ๆ

“สิ่งที่เราทำไอคอนสยามมากว่า 6 ปีไม่ง่าย โครงการนี้ท้าทายมาก เปลี่ยนมุมมองเราในการทำงานทุกอย่าง มีอะไรที่เป็นที่สุดอยู่เยอะมาก”

ทุกโครงการที่เราเคยทำมากว่า 30 ปีของสยามพิวรรธน์ อะไรที่เคยทำมาอย่างไร ต้องโยนทิ้งให้หมด

…แป๋มเคยไปนั่งรอเซอร์นอร์แมน ฟอสเตอร์ สถาปนิกเก่งที่สุดในโลกอยู่หลายชั่วโมง ให้มาเป็นที่ปรึกษาด้านสถาปัตยกรรม เพื่อเล่าถึงโครงการไอคอนสยามที่กำลังจะเกิดขึ้น

เช่นเดียวกับที่ไปเชิญศิลปินแห่งชาติ และคนเก่ง ๆ จากที่ต่าง ๆ ให้เข้ามาเป็น the maker เพราะตั้งใจแต่แรก ถ้าจะทำไอคอนสยามขึ้นมาต้องทำให้เป็น talk of the world ทำให้คนพูดถึงเมืองไทยให้ได้

“ไอคอนสยามยากมาก เพราะไม่ได้คิดว่าจะเป็นศูนย์การค้า แต่ต้องการเป็นเดสติเนชั่น บอกเล่าเรื่องราวความเป็นไทย ความภาคภูมิใจความเป็นไทย”

ว่ากันว่า ไอคอนสยามเป็นโครงการที่สถาปนิก อินทีเรียร์ ผู้รับเหมา ปวดหัวสุด ๆ เพราะเจ้าของแก้แบบตลอดเวลา

“ร้านค้าทุกร้านไม่เคยมีใครทำแบบนี้มาก่อน คือ เราไป challenge ว่าทุกคนต้องมี story ตั้งแต่ลักเซอรี่แบรนด์จนถึงร้านค้าเล็ก ๆ”

ลักเซอรี่แบรนด์ต่าง ๆ จึงไม่ได้มาในหน้าตาปกติ เพราะขอให้เขาทำงานร่วมกับศิลปินไทย ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะให้ยอมรับความคิดนี้

ย้ำด้วยว่า…

ที่เราทำไอคอนสยามไม่ใช่แค่เปิดประตูแล้วขายของ เวลานี้ของกลายเป็นสุดท้ายและง่าย ความยากอยู่ที่การนำเสนอ

“วันนี้ถ้าให้ไปสร้างศูนย์การค้าอีก เราก็จะไม่ทำแล้ว เพราะเปิดออกมาจะมีร้านค้าซ้ำ ๆ กัน ทุกศูนย์การค้าก็เหมือน ๆ กันหมด”

“ในไอคอนสยามมีพื้นที่แบบนั้นบ้างมั้ย ตอบเลยว่ามี แต่สัดส่วนไม่ถึงครึ่ง อีกครึ่งมาพร้อมกับสิ่งที่คิดกันขึ้นใหม่ จะสำเร็จไหมเราไม่รู้หรอก แต่เชื่อมั่นว่าธุรกิจสมัยนี้ทำคนเดียวไม่ได้”

…ตลอด 3 ปีเราทำงานหนักมากกับทุกฝ่าย ภาครัฐ ผู้ประกอบการร้านค้า เตรียมการเดินทางไว้หมดทั้ง 3 ช่องทาง “รถ-ราง-เรือ”

ถามตรง ๆ อีกว่า ไอคอนสยามจะหรูหราไฮเอนด์จนคนไม่กล้าเข้าไปเดินช็อปปิ้งมั้ย คำตอบที่ได้รับก็คือ “ไม่หรู ไอคอนสยามเป็นที่ทุกคนจับต้อง สัมผัส เข้าถึงได้”

จริงอยู่แม้ไอคอนสยามจะพยายามดึงความเป็นไทยมาใส่ในทุกรายละเอียด แต่อาจถูกตั้งคำถามถึงการเป็นเมืองมนุษย์สร้าง อาจขาดซึ่งจิตวิญญาณ

แต่ถ้ามองถึงความมุ่งมั่น ความกล้าหาญ ใช้เงินลงทุนจำนวนมหาศาลหลายหมื่นล้านในห้วงเวลาแบบนี้ เพื่อหวังให้เป็น talk of the world สร้างชื่อให้กับประเทศ

มองมุมนี้ก็น่าจะให้กำลังใจ “ไอคอนสยาม” แสดงฝีมือต่อชาวโลกมิใช่หรือ