เศรษฐกิจ…อมโรค ภาษีชาวบ้านสูญเปล่า

คอลัมน์ชั้น 5 ประชาชาติ

โดย ขุนพินิจ

ในช่วง 1-2 เดือนมานี้ นั่งคิดนั่งตั้งคำถาม และพยายามที่จะหาคำตอบว่า เศรษฐกิจไทยฟื้นและดีขึ้นจริงหรือเปล่า เพราะบรรยากาศการค้าการขาย การจับจ่ายก็ยังเหงา ๆ ซึม ๆ กันไปหมด ซึ่งสวนทางกับสถิติข้อมูลการแถลงข่าวของสำนักพยากรณ์เศรษฐกิจต่าง ๆ ที่ออกมาบอกว่าตัวเลขจีดีพี การส่งออก หรือท่องเที่ยวดีอย่างนั้นอย่างนี้

แต่ทำไมคนรายรอบตัวในหลากหลายอาชีพที่ได้ไปสัมผัสพูดคุยทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด โดยเฉพาะบรรดาลูกจ้างภาคเอกชน มนุษย์เงินเดือน พ่อค้าแม่ค้า เหตุใดมีแต่คนบ่นอุบว่าขายของไม่ดี ขายยาก มีแต่คนหนีร้อนมาเดินห้าง แต่ยากที่จะควักเงินซื้อสินค้า

นอกจากอารมณ์และการจับจ่ายจะไม่คล่องแล้ว จริง ๆ ก็คือเงินในกระเป๋าก็มีเท่าเดิม และแฟบลง เพราะหลายคนเงินเดือนไม่ปรับขึ้นมาหลายปีแล้ว อีกทั้งไม่มีโบนัส โอทีเหมือนเมื่อก่อน แต่ภาระเงินผ่อน รายจ่ายประจำ และค่าครองชีพ ราคาอาหารการกินไม่เคยลดลง ขึ้นแล้วขึ้นเลย

ใครที่หมุนเงินไม่ทัน ก็ต้องหันไปพึ่งหนี้นอกระบบ ไปยืมเงินญาติหรือเพื่อนฝูง ตกอยู่ในสภาวะใกล้สิ้นเดือนจวนสิ้นใจ ฐานะการเงินคนส่วนใหญ่ของประเทศ ก็ยังคงชักหน้าไม่ถึงหลังต่อไป

นี่ยังไม่นับรวมผู้คนในภาคเกษตร ที่เจอวิบากกรรม ราคาผลผลิตตกต่ำทุกตัว ชีวิตแขวนไว้บนความเสี่ยงจากดิน ฟ้า น้ำ อากาศ และกลไกตลาดที่บิดเบือนหนักเข้าไปอีก

ล่าสุดยังมาเจอภัยธรรมชาติถั่งโถมน้ำท่วมอีกกว่า 30 จังหวัดในภาคอีสาน ภาคเหนือ และภาคกลางบางจังหวัด ตอนนี้พายุฝนก็ไล่ลงไปตกหนักในภาคใต้

ซึ่งสภาพอากาศแปรปรวนไปหมดแล้ว หลายจังหวัดไม่เคยท่วม ก็ท่วม บ้านเรือน ทรัพย์สิน ไร่นา ร้านค้าจมไปกับสายน้ำที่จู่โจมเข้ามาแบบฉับพลัน แม้จะเป็นเหตุการณ์ชั่วคราว แต่ก็ทำเอาหลายคนหมดเนื้อหมดตัว ไร้ที่พึ่ง เป็นแบบนี้แล้ว จะดีได้อย่างไร

อีกเรื่องที่เห็นว่าผิดปกติก็คือ เงินงบประมาณนับหมื่นล้าน แสนล้าน และสารพัดโครงการที่รัฐอัดลงไป เพื่อจะช่วยปลุกเศรษฐกิจฐานราก และให้เงินหมุนเวียนสะพัดขับเคลื่อนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ

แต่ทำไมผลลัพธ์ที่ออกมาก็ยังแผ่ว ๆ นิ่ง ๆ ซึมกระทือ เป็น “คนอมโรค” ไม่ทันจะฟื้นก็ฟุบลงมาอีก ก้าวไปข้างหน้าไม่ได้สักที

ความจริงอีกอย่าง ก็คือ งบประมาณที่อัดฉีดลงไปนั้น ก็ยังอยู่ในวังวนเดิม ๆ กระจายไปกระจุกในหมู่คนที่เข้าถึงระบบอุปถัมภ์เหล่านี้

นั่นคือปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นและเป็นอยู่ของสังคมไทย

คราวนี้ เรามาฟังเสียงสะท้อนภาวะเศรษฐกิจไทยส่วนหนึ่ง จาก “ดร.วิรไท สันติประภพ” ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่กล่าวไว้เมื่อสัปดาห์ก่อน

“ภาพรวมเศรษฐกิจไทยขณะนี้มีการฟื้นตัวขึ้น ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับเศรษฐกิจโลก โดยแรงขับเคลื่อนหลักมาจากการส่งออกที่เติบโตดีขึ้นมาก ซึ่งยังมีแนวโน้มเติบโตได้ต่อเนื่องในครึ่งปีหลัง ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวช่วงครึ่งปีแรกก็ขยายตัวได้ดี รวมถึงเม็ดเงินจากภาครัฐเข้าไปมีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังกระจุกตัวอยู่มาก โดยประชาชนกลุ่มฐานรากและธุรกิจเอสเอ็มอียังมีความยากลำบาก”

“ปีที่แล้วเราเจอภัยแล้ง ภาคต่างจังหวัดภาคเกษตร ได้รับผลกระทบแรงมาก คนที่พึ่งกำลังซื้อจากต่างจังหวัดก็จะได้รับผลกระทบแรง อีกตัวหนึ่งที่เรายังเห็นไม่ชัด คือ การส่งออกที่ดีขึ้น ยังไม่นำไปสู่การจ้างงานเพิ่มมากขึ้นในภาคอุตสาหกรรม ค่าล่วงเวลา (โอที) ก็ยังไม่มี อำนาจซื้อของคนก็ยังไม่ชัดเจน ส่วนตัวฉุดรั้งใหญ่อีกตัว ก็คือ หนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ระดับสูงมากในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา คนไทยเป็นหนี้เร็วขึ้น มากขึ้น และนานขึ้น แม้ใกล้เกษียณหนี้ก็ยังไม่ลด”

“ฉะนั้นเมื่อรัฐบาลกระตุ้นใส่เงินอะไรเข้าไป ก็ไปชำระหนี้หมด ไม่ได้ไปหมุนในระบบเศรษฐกิจ นี่เป็นปัญหาระดับประเทศว่าการกระตุ้นการบริโภคทำได้ยากขึ้น เพราะมีปัญหาหนี้ครัวเรือน”

นับว่าเป็นข้อมูลที่ไม่อาจมองข้ามกันเลยทีเดียว ซึ่งผู้บริหารประเทศจะต้องนำมาคิด วิเคราะห์ แยกแยะ เพื่อแก้ไขปัญหาที่ต้นตอให้ถูกจุดจริง ๆ เพราะไม่เช่นนั้นการปฏิรูปประเทศก็จะเป็นเพียงวลีที่สวยหรู และการใช้เงินภาษีของประชาชนที่หามาด้วยความยากลำบาก จะได้ไม่สูญเปล่า !!!