วังวนแก้ “ปาล์มน้ำมัน” อียูเปลี่ยน…แต่ไทยยังไม่เปลี่ยน

คอลัมน์ ชั้น 5 ประชาชาติ
โดย กฤษณา ไพฑูรย์

วังวนในการแก้ปัญหาราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำของรัฐบาล โดยเฉพาะ “ปาล์มน้ำมัน” ที่กำลังมีแนวโน้มราคาดิ่งลงอย่างต่อเนื่อง ดูเหมือนเป็นวิธีการแก้ปัญหา “เฉพาะหน้า” ให้ผ่านฤดูกาลไป

ยกตัวอย่าง ในส่วนของปาล์มน้ำมันที่ราคาดิ่งลงอย่างหนักในรอบ 10 ปี จากกิโลกรัมละ 5 บาท เหลือเพียง 2.50-2.70 บาทต่อ กก. ต่ำกว่าต้นทุนการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 3.60-3.80 บาท/กก. จนเกษตรกรชาวสวนปาล์มจากหลายจังหวัดต่างออกมาเคลื่อนไหว

ทางกระทรวงพาณิชย์ได้เสนอทางออก โดยเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรีอนุมัติงบประมาณกลาง 525 ล้านบาทมาชดเชย เพื่อผลักดันการส่งออก ช่วยปรับสมดุลสต๊อกน้ำมันปาล์มที่มีถึง 3.8 แสนตัน

ขณะที่กรมการค้าภายในจะให้ความช่วยด้านราคาปุ๋ย เพื่อช่วยลดต้นทุนการปลูก ร่วมถึงความร่วมมือกับฝ่ายความมั่นคงตรวจสอบและจับกุมการลักลอบน้ำเข้าน้ำมันปาล์ม การเพิ่มปริมาณการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี 10 บี 20

และล่าสุด กระทรวงพลังงานให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) นำน้ำมันปาล์มดิบ 1.6 แสนตัน ไปใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าสำหรับโรงไฟฟ้าราชบุรี และบางปะกง เป็นเวลา 3 เดือน ตามมติของคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) เมื่อวันที่ 1 พ.ย. 2561 แม้จะมีต้นทุนเพิ่ม 1,000 ล้านบาท

แต่รัฐบาลจะนำเงินจากงบฯกลาง 525 ล้านบาทมาชดเชย และส่วนอีก 500 ล้านบาท จะเกลี่ยจากค่าสายส่งที่ กฟผ.จะเป็นผู้รับผิดชอบรับภาระไป

ขณะที่ปัจจัยภายนอกประเทศเปลี่ยนไปอย่างพลิกฝ่ามือ โดยเฉพาะตลาดการค้าน้ำมันปาล์มโลกตกอยู่ในภาวะซบเซา เพราะ “สหภาพยุโรป” (อียู) หนึ่งในประเทศผู้นำเข้ารายใหญ่ ประกาศจะใช้มาตรการ “zero palm oil” เลิกใช้น้ำมันปาล์มภายในปี 2020-2021 และได้จำกัดการใช้น้ำมันปาล์มเพิ่มในการผลิตพลังงานทดแทน

ขณะที่ “อินเดีย” อีกประเทศผู้นำเข้ารายใหญ่ ประกาศปรับขึ้นภาษีนำเข้าจาก 15% เป็น 40% มาตรการของทั้ง 2 ประเทศส่งผลกระทบทำให้ราคาน้ำมันปาล์มดิบในตลาดโลกปรับตัวลดลงมาเหลือ กก.ละ 19.50 บาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ กก.ละ 26 บาท ถือเป็นราคาน้ำมันที่ต่ำที่สุดในรอบ 20 ปีความจริง

“แผนระยะยาวในการแก้ปัญหาปาล์มน้ำมัน” เรียกว่า ถกกันมาตลอดกว่า 20 ปี แต่พอมีรัฐบาลใหม่ ข้าราชการเสนอทำเป็นยุทธศาสตร์ฉบับใหม่ “ยุทธศาสตร์การปฏิรูปปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มทั้งระบบ” ระยะเวลา 20 ปี ระหว่างปี 2559-2579

ที่ครอบคลุม 6 ด้าน ได้แก่ ด้านการผลิต ด้านนวัตกรรม ด้านมาตรฐาน ด้านพลังงาน ด้านการตลาด และด้านการบริหารจัดการ รวมถึงการบริหารจัดการสต๊อกให้มีประสิทธิภาพ และจะยกเลิกการแทรกแซงตลาดปาล์มตั้งแต่ปี 2565 รวมถึงการลอยตัวราคาน้ำมันปาล์มบรรจุขวดที่กำหนดเพดานสูงสุด 42 บาทต่อขวดซึ่งทั้งหมดจะทยอยดำเนินการในแต่ละปี ยังไม่เห็นผลเป็นรูปธรรมอย่างมีนัยสำคัญ

ปัจจุบันสวนปาล์มของไทยมีต้นทุนสูง ผลผลิตต่ำ โดยผลผลิตเฉลี่ยของไทยอยู่ที่ประมาณ 2.5-3 ตันต่อไร่ต่อปี แต่มาเลเซียทำได้ถึง 3.5 ตันต่อไร่ต่อปี

ต้นทุนที่ต่ำ ทำให้มีการ “แอบลักลอบ” นำเข้าปาล์มจากมาเลเซีย เข้ามาซ้ำเติม “กดดัน” ราคาดิ่งลงไปอีกแต่หากมองไปยังประเทศผู้ผลิตน้ำมันปาล์มรายใหญ่ของโลกอย่างอินโดนีเซีย และมาเลเซีย รัฐบาลทั้ง 2 ประเทศมีพัฒนาการที่เป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน ทั้งการส่งเสริมการผลิต ตลาดส่งออก และการแปรรูปเพิ่มมูลค่า การแก้ปัญหาระยะยาวของไทย

หลายคนวิเคราะห์ว่า สาเหตุที่ไม่คืบหน้าไปถึงไหน เพราะ “กลไก” การบริหารจัดการวัตถุดิบไปอยู่ในมือของ “นายทุน” โรงงานผลิตน้ำมันปาล์ม ไม่ต่างจากวงการอ้อย วงการเกษตรปศุสัตว์ที่บรรดาโรงงานรวมหัวกัน “ฮั้วราคา” หรือไม่

เพราะเมื่อใดที่ผลผลิตในประเทศน้อย ราคาปาล์มในประเทศสูง โรงงานไม่สามารถปรับขึ้นราคาน้ำมันพืชได้เกิน 42 บาท โรงงานจะเรียกร้องขอนำเข้าน้ำมันปาล์ม

แต่หากนำเข้าได้ไม่มาก และต้องซื้อวัตถุดิบในประเทศราคาสูง แต่โรงงานยังอยู่กันได้อย่างสบาย เพราะบายโปรดักต์ที่ได้จากกระบวนการผลิต “ปาล์มสเตียรีน” (palm sterine-PS) สามารถต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มไปทำเนยขาว (shortening) มาร์การีน (margarines) เนยเทียม ครีมเทียม เครื่องสำอาง สบู่ และยา ฯลฯ ได้อีกมากมาย

ดังนั้น เกษตรกรชาวสวนปาล์ม และชาวสวนยางพาราทั้งหลายคงต้องปรับตัว จะหวังพึ่งพามาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐอย่างเดียวคงไม่ได้

โดยเฉพาะการลดต้นทุนการผลิต และการปลูกพืชผสมผสาน เลี้ยงปศุสัตว์ ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 ไม่ควรปลูกพืชเศรษฐกิจเชิงเดี่ยวอย่างเดียว เพื่อกระจายความเสี่ยง เมื่อภาวะผลผลิตล้นตลาด และกำลังซื้อในตลาดโลกลดความต้องการลง