สิทธิบัตรสารสกัดกัญชา ตัวอย่างการใช้ “PCT”

คอลัมน์ ชั้น 5 ประชาชาติ
โดย กษมา ประชาชาติ

กลายเป็นประเด็นข่าวร้อนเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา จากกรณีที่มีต่างชาติยื่นขอจดสิทธิบัตร “สารสกัดจากกัญชา” เพื่อใช้เป็นยารักษาโรค ซึ่งได้รับการต่อต้านจากภาคประชาชนอย่างหนัก โดยมองว่า 1) สารสกัดจากกัญชาไม่เข้าข่ายที่จะสามารถจดรับความคุ้มครอง และ 2) ความหละหลวมของระบบการจดสิทธิบัตรของไทยกำลังส่งผลให้เกิดการยื่นจดสิทธิบัตรลักษณะนี้มากขึ้น

ข้อมูลจากภาคประชาสังคมระบุว่า คำขอสิทธิบัตรที่เป็นปัญหานั้นมี 8 คำขอสิทธิบัตร เช่น คำขอสิทธิบัตร เลขที่ 1201004672 “ไฟโตแคนนาบินอยด์ในการรักษามะเร็ง” ของบริษัท GW Pharma และ Otsuka Pharmaceu-tical ที่ยื่นจดผ่านระบบ PCT ผ่านการตรวจสอบขั้นต้นและได้ลงประกาศโฆษณาเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2557

โดยได้ตั้งข้อสังเกตประเด็นแรกว่า “สารสกัดจากกัญชา” ไม่สามารถนำมายื่นจดสิทธิบัตรได้เพราะขัดต่อ พ.ร.บ.สิทธิบัตร (ฉบับ 3) พ.ศ. 2542 มาตรา 9 (1) กล่าวคือ สารนี้จัดอยู่ในกลุ่มจุลชีพและส่วนประกอบส่วนใดส่วนหนึ่งของจุลชีพที่มีอยู่ตามธรรมชาติ สัตว์ พืช หรือสารสกัดจากพืชหรือสัตว์

และหากตรวจสอบรายละเอียดของคำขอจะพบว่า ต่างชาติยื่นขอจดสิทธิบัตร “การใช้สาร…ในการรักษาโรค…” ไม่ใช่ “สารสกัดจากพืช” จึงหลุด 9 (1) หลังจากนี้ ขึ้นอยู่ที่กรมทรัพย์สินทางปัญญาต้องตรวจสอบว่า “กระบวนการการรักษา” ที่ว่านั้น “มีความใหม่” หรือไม่

จุดสำคัญอีกด้านอยู่ที่ “กระบวนการพิจารณารับจด” ที่ภาคประชาชนสะท้อนว่า ตามกฎหมายฉบับใหม่ พ.ร.บ.สิทธิบัตร (ฉบับ 3) พ.ศ. 2542 มาตรา 28 (1) ระบุว่า ถ้าอธิบดีพิจารณาเห็นว่าคำขอรับสิทธิบัตรไม่ถูกต้องตามมาตรา 17 หรือการประดิษฐ์นั้นไม่ได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 9 ให้อธิบดีสั่งยกคำขอรับสิทธิบัตรนั้น และให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีหนังสือแจ้งคำสั่งโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับไปยังผู้ขอรับสิทธิบัตร หรือโดยวิธีอื่นที่อธิบดีกำหนดภายใน 15 วัน นับแต่วันที่อธิบดีมีคำสั่ง

หรือ (2) ถ้าอธิบดีพิจารณาเห็นว่าคำขอรับสิทธิบัตรถูกต้องตามมาตรา 17 หรือการประดิษฐ์นั้นได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 9 ให้อธิบดี “สั่งให้ประกาศโฆษณาคำขอรับสิทธิบัตรนั้น”… ประเด็นนี้สะท้อนว่า คำขอสิทธิบัตรผ่านการตรวจสอบมาถึงกระบวนการประกาศโฆษณา เปรียบเสมือนพิจารณาผ่านไปแล้วครึ่งทาง หากคำขอสิทธิบัตรนี้ผ่านประกาศโฆษณาโดยไม่มีผู้คัดค้าน ก็อาจได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย

นอกจากนี้ มีแง่มุมที่น่าสนใจอีกจุดคือ การยื่นคำขอสิทธิบัตรของไทยในปัจจุบันมีความสะดวกมากขึ้น ภายหลังจากไทยเข้าเป็นภาคี สนธิสัญญาความร่วมมือด้านสิทธิบัตร (Patent Cooperation Treaty : PCT) เมื่อปี 2551 ข้อตกลงนี้เป็นข้อตกลงระหว่างประเทศที่เปิดทางให้ยื่นสามารถจดสิทธิบัตรจุดเดียว แต่สามารถขอจดรับความคุ้มครองไปยังประเทศสมาชิกได้ทั้งหมด 148 ประเทศได้โดยไม่ต้องเดินทางไปจดด้วยตัวเอง แต่ระบบนี้ “ไม่ใช่ระบบรับจดสิทธิบัตรอัตโนมัติ” เพียงเป็นระบบอำนวยความสะดวก และลดภาระของผู้ขอรับสิทธิบัตรเท่านั้น

ข้อดีคือ ระบบ PCT ทำยื่นจดสิทธิบัตรสะดวกมากขึ้น ช่วยส่งเสริมทำให้ผู้ประกอบการไทยโดยเฉพาะเอสเอ็มอีสามารถยื่นจดสิทธิบัตรได้ง่ายและต้นทุนต่ำลง แต่อีกด้านหนึ่งต่างชาติก็สามารถขอยื่นจดสิทธิบัตรมายังประเทศไทยได้ง่ายขึ้นเช่นกัน

ประเด็นนี้ทำให้ข้อกังวลถึงความเสี่ยงว่าจะมีคำขอสิทธิบัตรจะทะลักทลายเข้าสู่ระบบจนรับมือไม่ทัน อาจก่อให้เกิดแบ็กล็อกค้าง ซึ่งกรมทรัพย์สินทางปัญญาได้มีการวางระบบการ “ตรวจสอบความใหม่ ความซ้ำซ้อน” ของสินค้าเพียงพอหรือไม่เพียงใด เพราะไม่เช่นนั้นอาจทำให้เกิดความผิดพลาดในการตรวจสอบความซ้ำซ้อน

อย่าลืมว่าในการตรวจสอบสิทธิบัตรสิ่งประดิษฐ์ต่าง ๆ รวมถึงยาจำเป็นต้องอาศัยเจ้าหน้าที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง และมีประสบการณ์มากพอที่จะวิเคราะห์ว่าคำขอสิทธิบัตรเหล่านั้นมีความใหม่จริง ไม่ใช่แค่เป็นการเพิ่มส่วนผสมที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ทางการรักษามาแฝงเพื่อต่ออายุความคุ้มครองเท่านั้น


ประเด็นทั้งหมดนี้ หากรัฐบาลมุ่งเน้นนโยบายไทยแลนด์ 4.0 จะต้องให้ความสำคัญกับการคุ้มครองสิทธิบัตรพอ ๆ กับการให้สิทธิประโยชน์ด้านการลงทุน