เมื่อโลกทำสงครามแย่งชิงคนเก่ง ประเทศไทยทำอะไรอยู่

คอลัมน์ มองข้ามชอต
โดย พงศ์ศรัณย์ อัศวชัยโสภณ, พัชรพร ลีพิพัฒน์ไพบูลย์ ธนาคารแห่งประเทศไทย

รูปแบบของเศรษฐกิจโลกที่เปลี่ยนไปจากกระแสของทั้งสังคมสูงอายุและเทคโนโลยี ทำให้ “การแย่งชิงแรงงานทักษะ” หรือ “war for talents” เป็นประเด็นร้อนแรง ที่ผู้ทำนโยบายทั่วโลกจับตามอง นานาประเทศต่างมีเป้าหมายในการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ economy 4.0 จึงต่างแสวงหาคนเก่งจากทั่วทุกมุมโลก เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศตนเอง

โดยเฉพาะในโลกที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน ยากต่อการคาดเดาว่างานในอนาคตจะต้องการคนประเภทใด การผลิตคนในประเทศให้ตรงและทันกับความต้องการที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วกลายเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก ประเทศแถวหน้าทางเทคโนโลยีอย่างสหรัฐอเมริกา สามารถสร้าง data scientist ได้เพียง 35,000 คน

ในช่วงที่ผ่านมา ขณะที่ข้อมูลจาก LinkedIn ในปี 2017 เผยให้เห็นว่า ความต้องการ data scientist ทั่วโลกปรับสูงขึ้นถึง 6.5 เท่า จากอุตสาหกรรมเทคโนโลยีและคอมพิวเตอร์ที่เติบโตอย่างรวดเร็ว สร้างแรงกดดันต่อการแย่งชิงแรงงาน ทำให้กว่า 2 ใน 5 ประเทศทั่วโลกผ่อนคลายกฎระเบียบนำเข้าแรงงานต่างชาติทักษะ และมีมาตรการเชิงรุกทั้งจูงใจทางภาษีและให้เงินสนับสนุน เพื่อดึงดูดคนเก่งที่สุดและดีที่สุด (the best and the brightest) ให้กับประเทศของตนเอง

สถานการณ์แย่งชิงแรงงานรุนแรงมากขึ้นโดยเฉพาะในกลุ่มประเทศรายได้สูง

ตัวอย่างชัดเจนคือ แคนาดา ติดป้ายโฆษณาขนาดใหญ่บริเวณทางเข้า Silicon Valley เชิญชวนชาวต่างชาติ โดยเฉพาะผู้ที่จบการศึกษาใหม่ในสหรัฐ ที่ไม่สามารถหางานได้จากการจำกัดจำนวนแรงงานต่างชาติผ่านโควตาวีซ่า H-1B และสถานการณ์แย่ลงจากกระแสอนุรักษนิยม หลังการดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดี Donald Trump

แม้แคนาดาจะผลิตคนเก่งในประเทศจำนวนมากออกมาได้ทุกปี และกว่าครึ่งหนึ่งของแรงงานต่างชาติจบปริญญาตรีขึ้นไป เนื่องจากแคนาดาต้องการรวบรวมคนเก่งจากทั่วโลกเพื่อดึงดูดการลงทุนบริษัทด้านเทคโนโลยีชั้นนำให้ไปตั้งในเมืองที่ถูกวางยุทธศาสตร์ไว้ เช่น เมืองโตรอนโต

แม้แต่ในประเทศที่กระแสชาตินิยมรุนแรงอย่าง ญี่ปุ่น ก็ผ่อนคลายกฎเกณฑ์ด้านแรงงาน ควบคู่กับสร้างวัฒนธรรมการยอมรับคนต่างชาติในสังคม ลดผลกระทบจากสังคมสูงวัยที่รุนแรงขึ้น โดยญี่ปุ่นกำลังเปิดให้นำเข้าพยาบาล ตอบสนองความต้องการบุคลากรทางการแพทย์ที่สูงขึ้น และระบบการศึกษาไม่สามารถสร้างกำลังแรงงานที่มีทักษะได้ทันประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศเริ่มเข้าร่วมในสงครามแย่งชิงคนเก่งเพิ่มขึ้น

รวมถึงเพื่อนบ้านของไทย อย่าง มาเลเซีย ที่มีนโยบายเชิงรุกเป็นรูปธรรมตั้งแต่ปี 2010 โดยมีเป้าหมายเป็นศูนย์กลางคนเก่งของอาเซียน ผ่านการสร้าง-ดึงดูด-รักษา ที่บรรจุเป็นแผนยุทธศาสตร์ชาติเพื่อผลักดันอย่างจริงจัง โดยตั้งหน่วยงานรับผิดชอบโดยตรง และมีศูนย์อำนวยความสะดวกตลอด 24 ชั่วโมง (MYXpats) ให้คำปรึกษาชาวต่างชาติที่ต้องการหางานในประเทศ รวมถึงโครงการแลกเปลี่ยนบุคลากรเพื่อเปิดโอกาสให้ชาวมาเลเซียมีประสบการณ์และเรียนรู้จากต่างประเทศ

นอกจากนี้ มาเลเซียยังใช้นโยบายภาษีดึงคนเก่งที่ออกไปทำงานในต่างประเทศกลับมาช่วยพัฒนาประเทศ ซึ่งเป็นแนวทางของประเทศที่เผชิญภาวะสมองไหล เช่น อินเดีย ที่ประสบความสำเร็จในการดึงคนกลับประเทศ จนสามารถสร้าง IT Hub ที่เมืองบังคาลอร์ได้ ขณะที่จีนที่มีอัตราสมองไหลสูง

เช่นกันก็พยายามดึงคนจีนกลับบ้าน ถึงขนาดยอมให้คนจีนที่ย้ายสัญชาติไปแล้ว สามารถกลับมาถือ 2 สัญชาติได้ตัวอย่างข้างต้นแสดงให้เห็นว่า แรงงานต่างชาติจำเป็นต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ

อีกทั้งการรวมกลุ่มของคนเก่งจะยิ่งทำให้เกิดอุตสาหกรรมและการจ้างงานใหม่ ที่เห็นได้ชัดเจน คือ Silicon Valley ไม่มีทางเกิดขึ้น หากขาดการรวมกลุ่มหัวกะทิด้านเทคโนโลยีของโลก เพราะกว่า 2 ใน 3 ของแรงงานเป็นชาวต่างชาติ หรือประเทศชิลีที่เปิดให้สตาร์ตอัพต่างชาติเข้าไปลงทุนจนสามารถสร้างอาชีพให้เกิดขึ้นกว่า 5 พันตำแหน่ง

กลับมามองประเทศไทย ข้อมูลของ UN ปี 2017 พบว่า ไทยเป็นประเทศที่เปิดรับแรงงานต่างชาติมากที่สุดในอาเซียน มีมากถึง 3.6 ล้านคน แต่เป็นกลุ่มมีทักษะเพียง 1.5 แสนคน หรือร้อยละ 0.4 ของแรงงานทั้งหมด สะท้อนให้เห็นว่าไทยพึ่งพาแรงงานต่างชาติจำนวนมาก ขณะที่ยุทธศาสตร์ในการคัดเลือกและดึงดูดแรงงานทักษะที่จะตอบโจทย์เศรษฐกิจ 4.0 ยังไม่ชัดเจน

ต่างจากเพื่อนบ้านอย่างสิงคโปร์ มาเลเซีย ที่มีนโยบายด้านแรงงานทั้งระยะสั้นและระยะยาวแยกกัน ระหว่างการดึงดูดแรงงานทักษะสูงและลดพึ่งพิงแรงงานทักษะพื้นฐานเพื่อตอบสนองความต้องการเศรษฐกิจแต่ละประเทศ

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำรวจผู้ประกอบการกว่า 800 บริษัท ในปี 2017/2018 พบว่า การขาดแคลนแรงงานเป็นปัญหาสำคัญของบริษัทในไทย กว่าร้อยละ 20 ขาดแคลนแรงงานทักษะ โดยเฉพาะทักษะดิจิทัล เช่น การเขียนโปรแกรม

ซึ่งผลกระทบดังกล่าวรุนแรงถึงขนาดทำให้บริษัทยักษ์ใหญ่หลายแห่งจำเป็นต้องย้ายธุรกิจที่เกี่ยวกับการจัดการข้อมูลและการวิจัยไปลงทุนในประเทศที่มีนโยบายแรงงานที่เสรีกว่า เช่น สิงคโปร์ เพราะไม่สามารถหาแรงงานที่มีทักษะด้านการจัดการข้อมูลในไทยได้เพียงพอ ส่งผลให้ไทยสูญเสียโอกาสในการจ้างงานกว่า 1 พันตำแหน่งและด้วยบริบทของโลกที่ไร้พรมแดน

ในปัจจุบัน บริษัทสามารถจ้างคนต่างประเทศทำงานให้ได้โดยไม่จำเป็นต้องเจอหน้ากัน ทำให้การปกป้องแรงงานในประเทศด้วยการปิดกั้นชาวต่างชาติแทบจะเป็นไปไม่ได้

ในทางตรงกันข้ามการเปิดรับคนเก่งให้มาอยู่รวมกันในประเทศไทย กลับเพิ่มศักยภาพของประเทศ และทำให้เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้น ดังที่ Tim Cook เคยกล่าวว่า การที่ Apple เลือกผลิต iPhone ในจีนไม่ใช่เพราะเป็นแหล่งผลิตราคาถูก แต่เป็นเพราะจีนเป็นแหล่งรวมแรงงานทักษะที่มีจำนวนมากกว่าสหรัฐ

ระหว่างที่ทั่วโลกต่างแข่งขันกันแย่งคนเก่ง ไทยกลับทำแค่ชำเลืองมอง โดยไม่มีแผนเชิงรุกชัดเจน ทั้งที่กำลังก้าวสู่สังคมสูงวัย “แรงงาน” ถือเป็นปัจจัยสำคัญสุดสำหรับเศรษฐกิจ 4.0 เพราะไทยจะต้องหาแรงงานทักษะกว่า 5 ล้านคน เพื่อตอบโจทย์ S-curve การเปิดรับต่างชาติในช่วงเริ่มต้นจึงเป็นทางเลือกช่วยขับเคลื่อนให้บรรลุเป้าหมาย Thailand 4.0 ได้

ทัศนคติที่มองว่าแรงงานต่างชาติจะเป็นภัยคุกคามต่องานของคนไทย คือ อุปสรรคสำคัญปิดกั้นโอกาสการพัฒนาศักยภาพของประเทศ เพราะที่น่ากลัวกว่าการถูกต่างชาติแย่งงาน คือ การเลือกปกป้องผลประโยชน์ของแรงงานไทย จนทำให้ประเทศสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน และคนไทยอาจไม่มีงานทำ


หมายเหตุ : ข้อคิดเห็นในบทความเป็นความเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของ ธปท.