“กัญชา” แค่คลายล็อก

คอลัมน์ สามัญสำนึก
โดย ถวัลศักดิ์ สมรรคะบุตร

คณะรัฐมนตรีได้มีมติในวันที่ 13 พฤศจิกายนที่ผ่านมา รับหลักการร่าง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฉบับที่…พ.ศ. …เสนอโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งเป็นการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 เพื่อเปิดทางให้พืชกัญชา (cannabis) สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์ได้ หลังจากที่พืชชนิดนี้ถูกควบคุมเป็นพืชที่ “ให้โทษร้ายแรง” แก่ผู้สูบมาตั้งแต่ปี 2477 (พ.ร.บ.กัญชา) มาจนกระทั่งถึงการถูกจัดให้เป็น “ยาเสพติดให้โทษ” ประเภทที่ 5 (กัญชา-กระท่อม) ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ฉบับที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน

การแก้ไข พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ ว่าด้วยพืชกัญชาในครั้งนี้ เกิดจากการผลักดันจากความต้องการของสถาบันทางการแพทย์ ที่ต้องการนำพืชกัญชามาวิจัยและใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรักษา-บำบัดโรคร้ายแรงต่าง ๆ รวมไปถึงเครือข่ายผู้ใช้พืชกัญชาเป็น “ทางเลือก” นอกเหนือไปจากการรักษาโรคกับแพทย์แผนปัจจุบัน ซึ่งต่างก็ทราบดีว่าพืชกัญชา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ช่อดอก (กะหลี่) นั้น สามารถสกัดเป็นน้ำมัน ที่มีสารประกอบที่เรียกว่า cannabinoid ที่สำคัญ 2 ตัว คือ

CBD หรือ cannabidiol มีประสิทธิภาพในการรักษาโรคลมชัก-อัลไซเมอร์-พาร์กินสัน-ภาวะอักเสบ กับ THC หรือ delta-9-tetrahydrocannabinol ซึ่งมีฤทธิ์ต่อจิตประสาทนั้น สามารถรักษาอาการคลื่นไส้-อาเจียน-ภาวะผอมหนังหุ้นกระดูกอันเนื่องมาจากการให้เคมีบำบัด (คีโม)ในการรักษาโรคมะเร็ง การระงับความปวดได้ โดยสถาบันทางการแพทย์-นักวิจัยในประเทศที่ไม่จัดให้กัญชาเป็นยาเสพติดร้ายแรง ได้วิจัยและพัฒนาเชิงพาณิชย์ออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ใช้รักษาอาการข้างต้นมาเป็นระยะเวลา 10 กว่าปีแล้ว

แต่ประเทศไทยยัง “ทำไม่ได้” เนื่องจากพืชกัญชาเป็นยาเสพติดประเภท 5 (มาตรา 7) ห้ามมิให้ผลิต จำหน่าย นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครอง เว้นแต่ รมต.อนุมัติโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการเป็นราย ๆ ไป (มาตรา 26) หรือเท่ากับเป็นการ “ตัดโอกาส” ในการนำพืชกัญชามาวิจัยและพัฒนาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ ทั้ง ๆ ที่คนไทยมีพันธุ์กัญชาชนิดดี (เปอร์เซ็นต์น้ำมันสูง) ใช้กันมาตั้งแต่ก่อนปี 2477

ดังนั้น กลุ่มผู้ที่ต้องการวิจัยและพัฒนาตลอดจนกลุ่มผู้ใช้พืชกัญชาเรียกร้องให้มีการ “ปลดล็อก” กัญชาออกจากบัญชีการเป็นยาเสพติด ซึ่งน่าจะหมายถึงการเปิดให้ปลูกกัญชา-การใช้-การผลิต-จำหน่ายกัญชาได้

แต่ในร่าง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษยังคงบัญญัติให้กัญชา-กระท่อม เป็นยาเสพติดประเภท 2-5 เหมือนเดิม โดยผู้ประสงค์จะนำพืชกัญชาไปปลูกหรือทำการศึกษาวิจัยเพื่อผลประโยชน์ทางการแพทย์หรือนำไปใช้รักษา (แต่ต้องควบคุมโดยแพทย์) จะต้องขออนุญาตเพื่อรับ “ใบอนุญาต” ตามกฎกระทรวงที่จะออกตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้เสียก่อน

เท่ากับรัฐบาลยังคงควบคุมพืชกัญชาในฐานะพืชที่เป็น “ยาเสพติด” ตั้งแต่ต้นทางจนกระทั่งถึงการใช้ปลายทาง ประเด็นนี้จึงเริ่มมีความวิตกกังวลในหมู่ “ผู้ต้องการวิจัยพัฒนา” ตลอดจน “ผู้ใช้” พืชกัญชาในฐานะพืชทางเลือกเพื่อรักษาหรือบำบัดอาการของโรคร้ายแรงนอกเหนือไปจากการใช้ยาแผนปัจจุบันจะสามารถ “เข้าถึง” พืชกัญชามากน้อยแค่ไหน ท่ามกลางการแข่งขันในการวิจัยและพัฒนาพืชกัญชาที่ก้าวรุดหน้าในต่างประเทศจนถึงขั้นผลิตและจำหน่ายเชิงพาณิชย์ในรูปของยา หรือส่วนผสมอาหาร ที่สามารถรับรองความปลอดภัยในการใช้และบริโภคกันแล้ว

มีประจักษ์พยานสำคัญก็คือ บรรดาคำขอจดสิทธิบัตรที่เกี่ยวข้องกับกัญชาผ่านทางสนธิสัญญาความร่วมมือด้านสิทธิบัตร (PCT) ของบริษัทต่างชาติเข้ามายังกรมทรัพย์สินทางปัญญา ตั้งแต่ปี 2545 ถึงปี 2555 เท่าที่ตรวจสอบได้ถึง 11 บริษัท ซึ่งส่วนใหญ่ขอคุ้มครอง “การใช้” สารที่สกัดจากพืชกัญชาในการรักษาโรค


โดยคำขอเหล่านี้กรมทรัพย์สินทางปัญญาไทยได้รับคำขอไว้แล้ว ทั้ง ๆ ที่ใน พ.ร.บ.สิทธิบัตร (มาตรา 9) ไม่ให้ความคุ้มครองสารสกัดจากพืช ประกอบกับช่วงเวลาที่บริษัทต่างชาติเหล่านั้นยื่นคำขอคุ้มครองเข้ามา “กัญชา” ยังคงเป็นยาเสพติดประเภท 5 ที่ยังไม่ได้รับการผ่อนคลายเพื่อเปิดทางให้ใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ได้