ปัญหาปากท้องต้องแก้

คอลัมน์ สามัญสำนึก

โดย สมปอง แจ่มเกาะ

หากไม่มีพระศุกร์เข้าพระเสาร์แทรก นับจากนี้ไปอีก 3 เดือน 24 กุมภาพันธ์ปีหน้า คนไทยจะได้เดินเข้าคูหากากบาทเลือกตั้งผู้แทนฯกันแล้ว

หรือหากมีข้อขัดข้องจริง ๆ จนทำให้วันเวลาการเลือกตั้งต้องล่าช้าออกไป อย่างช้าก็คงไม่เกิน 5 พฤษภาคม ตามกรอบเวลาที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 และว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561

รอกันอีกอึดใจเดียวครับ

วกกลับมาคุยเรื่องใกล้ตัว นี่ก็ย่างเข้าปลายเดือนพฤศจิกายนเข้าไปแล้ว เดือนหน้าก็ธันวาคม ใกล้จะสิ้นปีแล้ว

เผลอไปแป๊บเดียวก็จะย่างเข้าสู่ศักราชใหม่แล้ว แต่ในแง่ของเศรษฐกิจ แม้จะไม่ถึงขั้นว่า (ยัง) ย่ำอยู่กับที่ แต่ก็ไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควร

หากยังจำกันได้ ย้อนกลับไปช่วงต้นปี 2561 รัฐบาลวาดฝันไว้อย่างสวยงามว่า อย่างไรเสีย ปีนี้ทั้งปี อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือจีดีพี น่าจะไม่ต่ำกว่า 4.5%

ไตรมาส 1 ไตรมาส 2 ผ่านไป รัฐบาลยังมองมุมบวกว่าจีดีพียังเติบโตดี และอยู่ในช่วง “ขาขึ้น” สวนทางกับมุมมองของนักวิชาการ ชาวบ้านร้านตลาดที่พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “แย่-ไม่ดี”

จนเมื่อเร็ว ๆ นี้ ท่านกอบศักดิ์ ภูตระกูล รมว.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยอมรับกราย ๆ ด้วยการใช้คำว่า “เศรษฐกิจเติบโตในอัตราที่ชะลอลง” จากปัจจัยของเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว และสงครามการค้าระหว่างสหรัฐ-จีน

ล่าสุด เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา สภาพัฒน์เพิ่งประกาศหั่นจีดีพีทั้งปีลงเหลือ 4.2% หลังพบว่าตัวเลขไตรมาส 3/2561 โตต่ำกว่าที่คาดการณ์

จึงไม่แปลกใจที่จะเห็นภาพการ “กระตุ้นเศรษฐกิจ” ของรัฐบาลระลอกแล้วระลอกเล่า ทั้งในแง่ของการลงทุน การท่องเที่ยว การเร่งการเบิกจ่ายงบประมาณ การอัดฉีดเงินเข้าระบบผ่านโครงการต่าง ๆ ฯลฯ

แต่สิ่งเหล่านี้ ล้วนเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา มาตรการต่าง ๆ จึงยังไม่สัมฤทธิผลเท่าที่ควร

ด้านฟากฝั่งภาคธุรกิจ ทันทีที่เข้าโค้งท้าย หน้าขายสำคัญก็ต้องออกแรงกระตุ้นการจับจ่าย กระหน่ำสารพัดแคมเปญ หวังจะทำยอดขายให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะรู้อยู่แก่ใจดีว่า ที่ผ่านมากว่าจะได้ยอดขายมาแต่ละร้อยแต่ละพันนั้น ต้องทำงานและลงทุนลงแรงอย่างหนัก เพราะคนเดินห้างสรรพสินค้า เดินศูนย์การค้า ส่วนใหญ่จะหนักไปทาง window shopping มากกว่า

อย่าว่าแต่ค้าปลีกรายใหญ่ ๆ เลย ใครที่ไปเดินตลาดนัดตอนเย็น ๆ ก็จะเห็นว่า บางวันแม่ค้าพ่อค้ามีมากกว่าคนซื้อเสียอีก

เศรษฐกิจไม่ดี ธุรกิจย่ำแย่ หลาย ๆ บริษัทต้องเลย์ออฟพนักงาน ใครออกงาน ตกงาน คิดไม่ออกก็ลงทุนขายของ ขายอาหาร ขายขนม ขายผลไม้ ขายกาแฟ ฯลฯ

พ่อค้าแม่ขายบ่นกันอุบ กำรี้กำไรคงไม่ต้องพูดถึง เพราะขายได้แต่ละวันก็แทบจะไม่พอค่าเช่าที่ ค่าเช่าแผง

จริง ๆ แล้ว ต้นสายปลายเหตุก็มาจากเรื่องกำลังซื้อ หรือเงินในกระเป๋านั่นแหล่ะ

วันนี้นอกจากรายได้ หรือเงินในกระเป๋าสตางค์จะไม่เพิ่มแล้ว ตรงกันข้าม ข้าวก็ยากหมากก็แพงอีก ไม่ต้องคิดมาก เมื่อไม่มีตังค์ ก็ต้องใช้จ่ายอย่างประหยัด เขียมที่สุดเท่าที่จะทำได้ ปากท้องต้องมาก่อน อะไรที่เกินความจำเป็นก็ตัดทิ้ง

นอกจากปากท้อง เรื่องรองลงไปก็คือ หนี้สำหรับชาวบ้านตาดำ ๆ คนชนชั้นรากหญ้า รวมถึงมนุษย์เงินเดือนทั้งหลาย เพียงแค่ 2 เรื่องนี้ก็ชักหน้าไม่ถึงหลังแล้ว ไม่ต้องพูดถึงเงินเก็บเงินออมยามจำเป็นยามเจ็บป่วยในวันข้างหน้า

วันข้างหน้า แม้รัฐบาลจะดึงการลงทุนจากต่างประเทศมาได้มากมายมหาศาล และการลงทุนของภาครัฐในเมกะโปรเจ็กต์ต่าง ๆ ยังมีอย่างต่อเนื่อง แถมท้ายด้วยการส่งออกสดใสโชติช่วงชัชวาล

แต่ตราบใดที่ยังแก้ปัญหาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำไม่ได้ ยังหาทางออกในเรื่องของหนี้ครัวเรือนไม่เจอ

…โอกาสที่คนไทยจะลืมตาอ้าปากได้ก็เป็นเรื่องยาก