โปรฯไฟไหม้ ฟื้นเศรษฐกิจ (ยั่งยืน)

คอลัมน์ สามัญสำนึก

โดย สุดใจ ชาญชาตรีรัตน์

รัฐบาลชุดปัจจุบันเข้ามาพร้อม “คำพูด” และ “นโยบาย” มุ่งการสร้าง “ความยั่งยืน” ให้กับประชาชน ไม่ใช้นโยบาย “ประชานิยม” เหมือนรัฐบาลชุดก่อน ๆ แต่เมื่อเข้ามาบริหารประเทศจริง ๆ ก็คงเข้าใจว่า “ยั่งยืน” นั้นไม่สามารถทำได้ด้วยคำพูด

แม้ว่าหลายปีที่ผ่านมาพยายามขับเคลื่อนการสร้างความ “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ให้กับประชาชน แต่ก็ยังเดินทางไปไม่ถึงเป้าหมายเพราะไม่เช่นนั้นรัฐบาลคงไม่ต้องจัดโปรฯไฟไหม้ เกือบแสนล้านกระตุ้นเศรษฐกิจเติมเงินในกระเป๋าคนจนระรัวออกมาในเวลานี้

นอกจากว่าจะมีเหตุผลทางการเมืองอื่น ๆ…ที่ละไว้ในฐานที่เข้าใจกัน

เพราะแพ็กเกจที่ว่าเป็นการเติมกำลังซื้อให้ประชาชนที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (14.5 ล้านคน) ทุกรูปแบบ ถือเป็นการอัพเกรดบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่เดิมทำได้แค่การซื้อสินค้าจำเป็นในร้านธงฟ้าประชารัฐ ค่าเดินทาง ค่าแก๊สหุงต้ม

แต่ปัจจุบันยังสามารถกดเงินสดมาใช้ได้ ทั้งเติมเงินให้เพิ่มขึ้น ตั้งแต่ค่าน้ำ 100 บาท ค่าไฟ 230 บาทต่อเดือน ค่าเช่าบ้าน 400 บาทต่อเดือน (อายุ 60 ปีขึ้นไป) ค่าเดินทางไปหาหมอ 1,000 บาทต่อคน ทั้งแจกเงินปีใหม่อีก 500 บาทต่อคน

นอกจากนี้ รัฐบาลยังอนุมัติเติมเงินให้ข้าราชการบำนาญ ช่วยค่าครองชีพเพิ่มเงินเบี้ยหวัดบำนาญให้ถึง 1 หมื่นบาทต่อเดือน (สำหรับคนที่ยังได้ไม่ถึง 1 หมื่นบาท)

แถมเตรียมออกแพ็กเกจ “ช็อปช่วยชาติ เวอร์ชั่น 2” ในช่วงเดือนธันวาคมนี้ให้กลุ่มชนชั้นกลางด้วย เรียกว่าพยายามกระจายให้ทั่วถึง

ขณะที่รองนายกรัฐมนตรี สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ให้สัมภาษณ์ว่า มาตรการที่ผ่านการพิจารณาจากคณะรัฐมนตรี (20 พ.ย.) ไม่ได้มีแค่ช่วยผู้ถือบัตรสวัสดิการ มีทั้งการช่วยเหลือเกษตรกรสวนยาง ช่วยเหลือคนชรา ช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย รวมถึงข้าราชการบำนาญ ซึ่งทั้งหมดนี้ไม่ใช่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่เป็นการช่วยเหลือคนกลุ่มต่าง ๆ ที่คิดมานานแล้ว

แต่ก็มีคำถามว่า ทำไมต้องสั่งคลอดมาตรการเร่งด่วน โดยให้มีผลช่วงธันวาคม 2561-กันยายน 2562 และทั้งหลายทั้งปวงต้องยอมรับว่า เป็นมาตรการเติมเงินเป็นการกระตุ้นกำลังซื้อแบบชั่วคราว นับเป็นเรื่องที่ดีที่ช่วยแบ่งเบาภาระผู้มีรายได้น้อย แต่ก็คงไม่สามารถทำให้ประชาชนมีความมั่งคั่ง ยั่งยืนได้ตามสโลแกน

แม้หลายโครงการของรัฐบาลพยายามสร้างเงื่อนไขเรื่องการอบรมให้กับประชาชน แต่ดูเหมือนว่าในทางปฏิบัติก็ทำเพียงเพื่อให้ผ่านเงื่อนไข โดยไม่ได้มุ่งสร้างทักษะความรู้ความสามารถอย่างแท้จริง

ขณะที่ผ่านมารองนายกรัฐมนตรีสมคิด และขุนคลังอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ ยืนยันว่า เศรษฐกิจกำลังอยู่ทิศทางขาขึ้น ซึ่งเป็นการขยายตัวจากยอดพีระมิดหรือกลุ่มผู้ประกอบการรายใหญ่ก่อนเพื่อที่จะดึงให้ฐานรากขยับ แต่จากการที่รัฐบาลอัดสารพัดมาตรการออกมาเหมือนโปรฯไฟไหม้ น่าจะเป็นการยืนยันได้ส่วนหนึ่งว่านโยบายที่รัฐบาลส่งเสริมสนับสนุนผู้ประกอบการรายใหญ่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เพื่อหวังให้เป็นหัวจักรรถไฟขับเคลื่อนเศรษฐกิจนั้นยังส่งต่อไม่ถึงรากหญ้า หรือแม้แต่ชนชั้นกลาง

และแม้ที่ผ่านมารัฐบาลจะมีมาตรการลดหย่อนภาษีรูปแบบต่าง ๆ ไปหลายระลอก โดยเฉพาะเอกชนยักษ์ใหญ่กลุ่มสานพลังประชารัฐ ล่าสุดบีโอไอก็เพิ่งออกมาตรการลดหย่อนภาษีท็อปอัพ และผ่อนเกณฑ์การส่งเสริมการลงทุนให้กับกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่เพิ่มเติมอีก เป้าหมายเพื่อกระตุ้นให้เอกชนลงทุนเพิ่มขึ้น เพราะตัวเลขส่งเสริมการลงทุนของบีโอไอปีนี้ยังห่างไกลกับเป้าที่รัฐบาลตั้งไว้ 7.2 แสนล้าน

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าวันนี้การขยายตัวของธุรกิจยักษ์ใหญ่จะยังไม่ได้ส่งต่อมายังกลุ่มฐานรากอย่างรัฐบาลคาดหวัง

แต่ที่แน่ ๆ วันนี้กำลังซื้อที่เพิ่มขึ้นในมือประชาชน


ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 14.5 ล้านคน เชื่อว่าจะทำให้ยักษ์ค้าปลีกอย่างเซเว่นอีเลฟเว่น บิ๊กซี เทสโก้ โลตัส ได้อานิสงส์โดยตรงแน่นอน