มนุษย์ล่องหน

คอลัมน์ ชั้น 5 ประชาชาติ

โดย สาโรจน์ มณีรัตน์

 

พยายามมองไปข้างหน้ายาว ๆ ว่าคุณภาพของนักเรียน-นักศึกษาไทยบ้านเราจะเป็นอย่างไรต่อไปในอนาคต

เพราะนอกจากทุกคนจะทราบกันดีอยู่แล้วว่าอัตราการเกิดประชากรของประเทศไทยมีจำนวนลดลง

แต่กลับมีผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้นทุกปี

เรื่องดังกล่าวไม่เพียงจะส่งผลต่อโรงเรียน และสถาบันอุดมศึกษาโดยตรงที่จะทำให้มีจำนวนผู้เรียนลดลงเรื่อย ๆ

ยิ่งถ้า “ครู” ไม่ทำหน้าที่ของตัวเองในการสอนหนังสือให้นักเรียนจนเกิดความรู้ และความเข้าใจในบทเรียนอย่างถ่องแท้

แต่กลับนำเวลาส่วนหนึ่งไปแสวงหาผลประโยชน์ ด้วยการสอนพิเศษตามบ้าน ตามฟู้ดคอร์ตในห้างสรรพสินค้า หรือตามร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดอย่างที่เราเห็นกันจนชินตาตามทั่วทุกมุมถนน และตามหัวเมืองต่าง ๆ

แล้วนักเรียนของเราจะมีคุณภาพได้อย่างไร ?

ซ้ำหนักกว่านั้นสถาบันกวดวิชาต่างเกิดขึ้นกันเหมือนดอกเห็ด ซึ่งแต่ละคอร์ส แต่ละวิชาหลัก ๆ สนนราคาค่อนข้างแพงพอสมควร

พ่อแม่ผู้ปกครองที่มีกำลังซื้อเท่านั้น จึงจะสามารถส่งบุตรหลานไปเรียนกวดวิชาตามสถาบันต่าง ๆ เหล่านั้นได้

แต่ถ้าพ่อแม่ผู้ปกครองไม่มีเงินล่ะจะทำอย่างไร ?

คำตอบง่าย ๆ คือต้องอ่านเอง

แต่จะตรงกับเนื้อหาบทเรียนที่ครูผู้สอนออกข้อสอบหรือไม่นั้น ผมไม่สามารถทราบได้

เพราะจากประสบการณ์ของตัวเองหากลูกหลานไปเรียนกับครูประจำชั้นหรือครูที่สอนวิชาหลัก ๆ บางทีอาจมีข้อสอบบางข้อแพลมออกมาให้เห็นบ้าง

จนทำให้นักเรียนเหล่านั้นต่างได้เกรดดี ๆ ไปอวดพ่อแม่กัน

แต่ถ้าไม่ได้เรียนกับเขา คำตอบก็อย่างที่รู้ ๆ กัน เกรดจะออกมาไม่ค่อยดีเท่าไหร่นัก

ผมจึงมานั่งคิดว่าเมื่อระบบการศึกษาของไทยเป็นอย่างนี้ แล้วคุณภาพการศึกษา คุณภาพในการใช้ชีวิตสำหรับพวกเขาจะเป็นอย่างไรต่อไปในอนาคต

เพราะเมื่อนักการศึกษาระดับล่างยังเป็นอย่างนี้

แล้วถ้านักการศึกษาระดับบนมัวแต่คิดแต่ปฏิรูป โดยไม่ดูพื้นฐานแห่งความเป็นจริงเลย ต่อไปจะเป็นอย่างไร

เพราะอย่างที่ทุกคนทราบดีโลกพลวัตอยู่ทุกวินาที

แต่บางหลักสูตรที่พร่ำสอนกัน กลับไม่มีพัฒนาการเลย นิสิต-นักศึกษาของเราจะเป็นอย่างไร

คงไม่ย่ำอยู่กับที่เช่นนั้นหรือ ?

หรือไม่ต้องไปถึงไหนกันเลย

เพราะสิ่งที่พวกเขาสอน ไม่ตอบสนองวิชาชีพในขณะนี้ และอนาคตด้วย แล้วพวกเขาจะจบออกมาทำงานได้อย่างไร ?

ผมถึงเชื่อว่าหากครูบาอาจารย์ในมหา’ลัยบางแห่งยังภูมิใจกับความสำเร็จเดิม ๆ โดยไม่ได้ดูโลกแห่งความเป็นจริงจากระบบการศึกษาอาชีพว่าเขาไปถึงไหนกันแล้ว

อีกไม่นานมหา’ลัยเกรดเอเหล่านั้นจะต้องถึงกาลปวสาน

เพราะโลกแห่งการศึกษาพัฒนาการเข้าไปอยู่ในโลกของออนไลน์กันหมดแล้ว

คุณอยากเรียนด้านอะไรล่ะ ?

มหา’ลัยอะไร ?

ประเทศอะไร ?

ทุกอย่างมีพร้อมสรรพ ทั้งยังตอบสนอง

ผู้เรียนอย่างไม่มีขีดจำกัด ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ เวลา และดีกรีในการขอใบรับรองประกอบวิชาชีพ

ผลตรงนี้ จึงทำให้ผมมานั่งคิดต่อว่า แล้วพื้นที่ของมหา’ลัยของไทยที่มีอยู่หลายร้อย หลายพันไร่ยังจำเป็นอยู่อีกล่ะหรือ

สู้นำมาพัฒนาเชิงพาณิชย์จะดีกว่าไหม ?

ซึ่งเหมือนกับหลาย ๆ มหา’ลัยบนโลกใบนี้ ที่ต่างเชื่อว่าประสบการณ์นอกห้องเรียนสามารถนำมาเทียบเกรดเพื่อขอใบปริญญาได้

ทั้งนั้นเพราะเขามองเห็นประสบการณ์ของผู้เรียนสำคัญกว่าการเรียนในระบบ หรือห้องเรียน

ทั้งนั้นเพราะเขามองเห็นว่าโลกภายนอกที่ถูกชีวิตใช้อย่างโชกโชน สำคัญกว่าโลกภายในที่อยู่ในระบบการศึกษาที่ถูกครอบงำ

จนทำให้ผู้เรียนกลายเป็นมนุษย์ผู้น่าสงสาร เพราะหลังจากเรียนจบออกมา กลับทำงานไม่เป็นเลย

ทั้งยังไม่มีมุมมองใด ๆ ที่จะพัฒนาต่อยอดมาทำอะไรต่อไปได้ นอกเสียจากเฉิดฉายในโลกออนไลน์เพื่อให้คนยอมรับ กดไลก์ และกดแชร์ไปวัน ๆ

ซึ่งสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ไม่ใช่พึ่งจะเกิดขึ้น แต่เกิดขึ้นทุกวัน

เกิดขึ้นจนทำให้ผมรู้สึกกังวล

เกิดขึ้นจนทำให้ผมพยายามมองไปข้างหน้าอยู่บ่อยครั้งว่า…แล้วคุณภาพของผู้เรียนบ้านเราจะเป็นอย่างไรต่อไป ?

แม้จะเรียนจนจบปริญญาตรีแล้ว แต่ยังไม่รู้เลยว่า…ความฝันของตัวเองคืออะไร ?

อะไรคือสิ่งที่เราชอบ ?

อะไรคือสิ่งที่อยากจะเป็น ?

พูดให้ชัด ๆ คือ…พวกเขายังค้นหาตัวตนไม่เจอ

ผลเช่นนี้ จึงปล่อยชีวิตให้ล่องลอยไปวัน ๆ โดยมีพ่อแม่ผู้ปกครองคอยซัพพอร์ต

และพ่อแม่ผู้ปกครองสมัยนี้ล้วนต่างเป็นแรงเฉื่อยชั้นดีที่ทำให้ลูกหลานของเขาเองเป็นเช่นนี้ด้วย

จนกลายเป็นมนุษย์ล่องหน

ไปตรงโน้นที ตรงนี้ที

ทำโน่นอย่าง นี่อย่าง

โดยไม่มีความอดทน อุตสาหะ และความเพียรพยายามเป็นเครื่องหนุนนำใจเลย

แล้วอย่างนี้ชีวิตพวกเขาจะเป็นอย่างไรต่อไป

ใครรู้ช่วยตอบที ?