บล็อกเชน : ถึงเวลานำมาใช้ในภาครัฐหรือยัง (2)

คอลัมน์ แตกประเด็น

โดย รัชดา เจียสกุล บ.โบลลิเกอร์ แอนด์ คอมพานี (ประเทศไทย)

 

ในบทความตอนที่แล้ว ดิฉันได้เกริ่นนำว่า ดิฉันค่อนข้างลังเลใจที่จะเขียนบทความเกี่ยวกับบล็อกเชน

เพราะคิดว่านักเศรษฐศาสตร์จะมาเขียนเรื่องบล็อกเชนได้อย่างไร เกรงจะโดนผู้รู้ กูรูด้านไอทีทั้งหลายหัวเราะเยาะ อย่างไรก็ตาม หากยอมรับว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหม่ และพยายามเรียนรู้เรื่องใหม่นี้ไปด้วยกัน ผ่านกระบวนการตั้งคำถาม และแบ่งปันคำตอบไปด้วยกัน โดยเฉพาะตามไปดูการนำไปใช้ในวงการต่าง ๆ คงเป็นซีรีส์ที่สนุกพอควร แต่ก่อนจะเล่าต่อ ขอย้ำว่า บล็อกเชนที่ดิฉันกำลังพูดถึง เป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องกับสกุลเงินดิจิทัล หรือ cryptocurrency แต่เป็นการนำเทคโนโลยีบล็อกเชน หรือ distributed ledger technology มาใช้

จริง ๆ เริ่มมีการพูดถึงการนำบล็อกเชนมาใช้กับภาครัฐ แบบที่จับต้องได้มากขึ้นมาพักใหญ่ เช่น การนำบล็อกเชนมาใช้ในการพิสูจน์ตัวตน การบริหารและพิสูจน์สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา การบริหารจัดการเช่า หรือซื้ออสังหาริมทรัพย์ การซื้อขายส่งมอบหลักทรัพย์ และรักษาข้อมูลบัญชีต่าง ๆ การนำมาช่วยสร้างความโปร่งใส และลดปัญหาการก่ออาชญากรรมในอุตสาหกรรมเพชร การติดตามตรวจสอบที่มาของอาหาร การบริหารจัดการด้านการค้า การขนส่งระหว่างประเทศ ฯลฯ

และนั่นเป็นสาขาที่ดิฉันคิดว่าจะสามารถนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้กับภาครัฐไทยได้ แต่คิดแค่นั้นยังไม่พอ ดิฉันได้พยายามสอบถามหน่วยงานรัฐของไทย ว่าเป็นไปได้ไหมที่จะนำบล็อกเชนมาใช้กับการทำงาน และการให้บริการของท่าน และหน่วยงานรัฐของไทย พร้อมแค่ไหนที่จะนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้ ถามไปถามมาจึงได้คำตอบกลับมาว่าจะเริ่มนำมาใช้ได้อย่างไร ต้องเข้าใจเทคโนโลยีนี้ก่อน ถึงจะบอกได้ว่าเอามาใช้ได้ไหม

จึงทำให้ดิฉันมีโอกาสร่วมงานกับสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ เมื่อ 2 เดือนที่แล้ว เราได้จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการ 3 วัน เชิญผู้เชี่ยวชาญเรื่องเทคโนโลยีบล็อกเชนมาให้ความรู้แก่ผู้บริหาร และบุคลากรของกระทรวงพาณิชย์ โดยมีตัวแทนเกษตรกรรุ่นใหม่ และตัวแทนผู้ประกอบการที่ใช้บริการของกระทรวงพาณิชย์มาร่วมอบรมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ด้วย

เราได้มีการแบ่งผู้เข้าร่วมออกเป็น 6 กลุ่ม ให้แต่ละกลุ่มระดมความคิดเห็น และเสนอความเป็นไปได้ในการนำเทคโนโลยีบล็อกเชนไปประยุกต์ใช้กับการทำงานของกระทรวงพาณิชย์ได้จริง ปรากฏว่าได้ไอเดีย สำหรับโครงการที่จะนำไปใช้ได้จริงที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงพาณิชย์ถึง 6 โครงการ ผ่านการซักถามจากบุคลากรกระทรวงพาณิชย์ถึงข้อกฎหมาย ความเป็นไปได้ทางปฏิบัติ มีการให้ความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีประกบอยู่ตลอดช่วงเวลา 3 วัน

ไอเดียโครงการที่ได้จากการประชุมเชิงปฏิบัติการ 3 วันนั้น ได้แก่ การนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้จัดตั้งธุรกิจ นำบล็อกเชนมาใช้ออกใบรับรองแหล่งกำเนิดสินค้าเพื่อป้องกันการถูกมาตรการการค้าจากประเทศปลายทาง การนำบล็อกเชนมาใช้ในการออกใบรับรองข้าวออร์แกนิกไทย การนำบล็อกเชนมาใช้กับสินค้าที่มีตราสัญลักษณ์บ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (geographical indication : GI) ซึ่งในกรณีนี้ทำการศึกษากรณีศึกษาทุเรียนก้านยาวนนทบุรี

การนำบล็อกเชนมาใช้สำหรับตรวจสอบคุณภาพย้อนหลังข้าวหอมมะลิพร้อมทาน และการนำบล็อกเชนมาใช้สำหรับการสร้างความน่าเชื่อถือของตลาดรถยนต์มือสองของไทย โดยเชื่อมโยงฐานข้อมูลจากหลายแหล่ง หากอบรมต่ออีก 3 วันน่าจะได้ไอเดียเพิ่มอีก 18 โครงการ แต่เอาแค่จาก 6 โครงการนี้ก่อนค่ะ ดิฉันประทับใจทุกโครงการ แต่วันนี้ขอเล่าถึงโครงการแรก ให้ทุกท่านได้เห็นภาพชัดเจนว่าหากกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งเป็นภาครัฐไทย สามารถนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้ เพื่อช่วยแก้ปัญหาชีวิต หรือภาษา IT เขาเรียก pain points ได้อย่างไร ?

การนำบล็อกเชนมาใช้กับการออกใบรับรองแหล่งกำเนิดสินค้าเพื่อป้องกันการสวมสิทธิในการส่งออก โดยเฉพาะไปสหรัฐอเมริกา หลายท่านทราบดีว่า ขณะนี้ท่ามกลางความกังวลเรื่องสงครามการค้าโลก สหรัฐอเมริกากำลังเพ่งเล็งประเทศที่ส่งออกไปยังสหรัฐได้เยอะ ๆ โดยเฉพาะเพ่งเล็งการนำเข้าสินค้าจากจีน หากมีการใช้ใบรับรองแหล่งกำเนิดสินค้าปลอมส่งสินค้าจีนเข้าไปยังสหรัฐ แต่ใช้ใบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าจากไทยจะเกิดอะไรขึ้น ?

ผู้ส่งออกที่ถูกต้องจากไทยคงติดร่างแหถูกตรวจสอบเข้มข้นถึงขั้นถูกจับตา และต้องผ่านขั้นตอนยุ่งยากขึ้นเป็นแน่ ดังนั้นผู้ส่งออกไทยและกระทรวงพาณิชย์เองย่อมต้องการสร้างความน่าเชื่อถือให้แก่การออกใบรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า และแก้ปัญหาการสวมสิทธิในการส่งออกสินค้าของไทยให้ได้ดีที่สุด

พวกเราพบว่า การนำบล็อกเชนมาปรับใช้กับกระบวนการออกใบรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า จะช่วยสร้างความโปร่งใสให้กระบวนการตรวจสอบแหล่งกำเนิดสินค้า อาทิ ผู้นำเข้าสามารถตรวจสอบได้ว่าเอกสารที่นำมาใช้ในกระบวนการออกใบแหล่งกำเนิดสินค้าได้ถูกตรวจสอบอย่างไรบ้าง ความเป็นไปได้ของการเชื่อมโยงข้อมูลการใช้ไฟฟ้าของผู้ผลิตในไทย

จะทำให้สร้างความน่าเชื่อถือของระบบตรวจสอบนี้ขึ้นไปอีก และนอกจากนั้นยังสามารถนำข้อมูลในบล็อกเชนมาตรวจสอบย้อนกลับการสวมสิทธิได้ สามารถลดเวลาที่ใช้ในการตรวจสอบเพื่อออกใบรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า และลดเวลาในการตรวจสอบย้อนกลับ โดยรวมจะเพิ่มความโปร่งใส และประสิทธิภาพให้แก่กระบวนการออกใบรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า และช่วยให้เราไม่ติดร่างแหสงครามการค้าสหรัฐ-จีนได้แบบสวย ๆ

เราคงได้คำตอบสำหรับคำถามว่าเป็นไปได้ไหมที่จะนำบล็อกเชนมาใช้กับการทำงานของภาครัฐไทย และหน่วยงานรัฐไทย พร้อมแค่ไหนที่จะนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้ คำตอบคือ นำมาใช้ได้ และน่านำมาใช้ คำถามต่อไปคือ ถ้าจะนำมาใช้จริง ๆ แล้วยังมีอุปสรรค และความท้าทายอย่างไร ? รัฐบาลประเทศอื่นเริ่มนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาปรับปรุงการให้บริการภาครัฐไปแล้วหรือยัง และมีบทเรียนอย่างไร ? คงต้องเก็บไว้ตอบท่านในตอนต่อไปค่ะ

 

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!