ทักษิณ-บิ๊กตู่ ตัวต่อตัว

คอลัมน์ สามัญสำนึก

โดย อิศรินทร์ หนูเมือง

ปัจจัยชี้ขาดในการชนะเลือกตั้ง 4 ครั้ง ในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา คือ “นโยบายประชานิยม”

ครั้งที่ 1 พรรคไทยรักไทย นโยบายประชานิยมครั้งแรก ดันให้ “ทักษิณ ชินวัตร” ชนะเลือกตั้ง ในปี 2544 ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 23 ของไทย สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ เป็นรัฐบาลพลเรือนที่อยู่ครบเทอมวาระ 4 ปี

ครั้งที่ 2 พรรคไทยรักไทย ภายใต้นโยบายหาเสียง ประชานิยมภาค 2 ด้วยแคมเปญ “สี่ปีซ่อม สี่ปีสร้าง” ในปี 2548 ส่งผลต่อการชนะเลือกตั้งอย่างถล่มทลายได้ ส.ส.377 คน จัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้สำเร็จเป็นครั้งแรก ครั้งเดียวในประวัติศาสตร์ ภายใต้ระบบเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย นับตั้งแต่ พ.ศ. 2500 เป็นต้นมา

ครั้งที่ 3 ภายใต้แคมเปญหาเสียง ในฤดูเลือกตั้ง 2550 ขยายผลความสำเร็จของนโยบายประชานิยม “ต้นตำรับ” ภายใต้สโลแกน “ทุกนโยบาย สำเร็จได้ ด้วยพลังประชาชน” ส่งผลให้ “ทีมทักษิณ” ที่นำโดย สมัคร สุนทรเวช ในนามพรรคพลังประชาชน กำชัยชนะด้วย 14 ล้านเสียง กวาด ส.ส.เข้าสภา 233 คน

ครั้งที่ 4 การเลือกตั้งปี 2554 นโยบายประชานิยมถูกขยายผล เป็นแคมเปญหาเสียง “ทักษิณคิด เพื่อไทยทำ” ส่งผลให้ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ชนะการเลือกตั้ง ด้วยคะแนน 15.7 ล้านเสียง ขน ส.ส.เข้าสภาได้ 265 คน

สังเวียนการต่อสู้ในการเลือกตั้ง 2562 ยังคงอยู่ที่ “นโยบายเศรษฐกิจ” และแน่นอนว่า “นโยบายประชานิยม” ยังเป็นปัจจัยชี้ขาดชัยชนะ…อีกครั้ง

และคู่แข่งขันที่สำคัญในลู่สนามครั้งนี้ ที่เข้มข้น-ขับเคี่ยว มี 2 พรรค คือ พรรคพลังประชารัฐ กับพรรคเพื่อไทย ที่มุ่งใช้นโยบายประชานิยมแบบเข้มข้น

ต่างไปตรงที่ พรรคพลังประชารัฐ พยายามเรียกนโยบายของตัวเองว่า “ประชารัฐ” หรือ “รัฐสวัสดิการ”

“อุตตม สาวนายน” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม-ควบตำแหน่งหัวหน้าพรรค “พลังประชารัฐ” บอกว่า “จุดขายของพรรคในการหาเสียงคือ ต้องทำให้ประชาชนมีที่อยู่อาศัยและที่ทำกินเพียงพอ…พลังประชารัฐจะสร้างสังคมสวัสดิการ ไม่เกี่ยงว่าจะเป็นนโยบายประชานิยม”

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ระบุว่า “ได้ตกลงกับสำนักงบประมาณไว้ว่า ในแต่ละปีจะกันเงินใช้ในโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ปีละ 100,000 ล้านบาท”

มีการพูดถึงผลสำรวจความนิยมของนักการเมืองที่พึงปรารถนา ของมหาวิทยาลัยรังสิต ระบุว่า “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ สามารถเอาชนะใจกลุ่มคนจน 11 ล้านคน ส่งผลให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้รับคะแนนนิยมเหนือกว่าหัวหน้าพรรคคู่แข่ง”

ในช่วง 1 เดือนก่อนที่จะมีการตราพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้ง หรือราว 100 วันก่อนวันเลือกตั้ง พล.อ.ประยุทธ์ ที่พรรคพลังประชารัฐ คาดหมายว่าจะลงมติสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรี อนุมัติมาตรการ “ประชานิยม” ใน “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” 14.5 ล้านคน ใช้งบฯกว่า 1 แสนล้าน

ไม่ควรลืมว่า คณะรัฐบาล คสช. “เกลียดตัวกินไข่-เกลียดปลาไหลกินน้ำแกงประชานิยม” ถึงกับ “ตรา” ไว้ในรัฐธรรมนูญ 2560 ว่า “รัฐต้องรักษาวินัยการเงินการคลังอย่างเคร่งครัด…” และตรา พ.ร.บ.การคลังของรัฐ 2561 ระบุถึงแนวทาง “ประชานิยม” ไว้ว่า…

“รัฐต้องไม่บริหารราชการแผ่นดินโดยมุ่งสร้างความนิยมทางการเมืองที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศและประชาชนในระยะยาว”

แต่รัฐบาล “ประชารัฐ” ได้ตรา พ.ร.บ.กองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม สนับสนุนผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ใช้งบประมาณ 46,000 ล้านบาท/ปี ไว้รองรับ

“ประชานิยม” อาจทำให้ “พรรคทักษิณ” ได้รับชัยชนะเป็นครั้งที่ 5 หรือ “ประชานิยม” ในคราบของ “ประชารัฐ” อาจส่งผลต่อชัยชนะทางการเมือง “ฝ่ายบิ๊กตู่” เป็นครั้งแรก

หากทั้งบิ๊กตู่-ฝ่ายทักษิณ มองเห็นว่า ประชานิยม เลวร้าย เป็นภาระพอกไว้ในงบประมาณมหาศาล จะทำให้ประเทศวิกฤตซ้ำซาก

ทั้งคู่คงไม่แข่งกันเอาเป็นเอาตาย ด้วยการนำเงินภาษีของคนทั้งประเทศมาเป็นตัวประกันในการหาเสียงล่วงหน้ามโหฬารเช่นนี้

 

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!