“ท่องเที่ยวไทย” ฟื้นแล้ว (จริงหรือ)

คอลัมน์ ชั้น 5 ประชาชาติ

โดย ณัฏฐ์พิชญ์ วงษ์สง่า [email protected]

ทุกดัชนีเศรษฐกิจในเดือนตุลาคมที่ผ่านมายังอยู่ในแนวโน้มเชิงลบมาอย่างต่อเนื่องในแทบทุกภูมิภาคของประเทศ โดยส่วนใหญ่ต่างระบุว่า ตัวแปรหลัก ๆ นั้นมาจากปัญหาด้านการส่งออกที่ปรับตัวลดลง ราคาสินค้าเกษตรทั้งยางพารา ปาล์ม และข้าวที่ตกต่ำ ส่งผลกระทบต่อการบริโภคของคนภายในประเทศรวมถึงตัวเลขนักท่องเที่ยวจีนที่ยังเป็นปัญหาและลดลงอย่างชัดเจนมาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม-สิงหาคมที่ผ่านมา

ทุกประเด็นปัญหาดังกล่าวนี้ล้วนเป็น “โจทย์หิน” ของรัฐบาลที่ต้องเร่งแก้ไขทั้งสิ้นเพราะประเด็นที่น่าวิตกยิ่งกว่า คือ ดัชนีหลายสำนักยังคงคาดการณ์ว่า แนวโน้มดังกล่าวนี้จะยังคงเป็นปัจจัยลบอย่างต่อเนื่องต่อไปอีกในปีหน้า

โดยบรรดาปัจจัยลบดังกล่าวนี้ หลายฝ่ายยังคงฝากความหวังไว้กับภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เพราะเชื่อมั่นว่าการท่องเที่ยวของประเทศจะเริ่มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนเป็นต้นไป เพราะภาคธุรกิจเริ่มได้รับผลดีจากนโยบายกระตุ้นการ

ท่องเที่ยวของรัฐบาล โดยเฉพาะมาตรการเรื่องการยกเว้นค่าธรรมเนียมวีซ่า VOA ที่สำคัญ ยังเป็นห้วงเวลาที่เข้าสู่ฤดูกาลท่องเที่ยวของประเทศอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ในมุมมองของผู้เขียนเองยังไม่ค่อยจะเชื่อมั่นนักว่า รายได้จากภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยในตลาดต่างประเทศจะมีมูลค่าได้ถึง 2 ล้านล้านบาทได้จริง (เป้าหมายรวมที่ 3 ล้านล้านบาท) และมีจำนวนนักท่องเที่ยวถึงเป้า 35.5 ล้านคน ตามเป้าหมายที่รัฐบาลประกาศไว้

เพราะเหตุผลอะไร ? ส่วนตัวมองว่าเหตุผลมี 2 ข้อ คือ 1.ตัวเลขสถานการณ์ท่องเที่ยวชาวต่างชาติในช่วง 10 เดือนแรก (มกราคม-ตุลาคม) ที่ผ่านมา ประเทศไทยเรามีจำนวนรวมที่ 31.25 ล้านคน และ 2.ในแง่ของรายได้นั้นพบว่า ในช่วง 10 เดือนแรกที่ผ่านมา ประเทศไทยมีรายได้จากตลาดต่างประเทศ

หรือนักท่องเที่ยวต่างชาติอยู่ที่ 1.63 ล้านล้านบาท เหลือเวลาอีก 2 เดือนที่ต้องปั๊มตัวเลขรายได้นักท่องเที่ยวให้ได้อีกเกือบ 4 แสนล้านบาท

ตัวเลขดังกล่าวทั้ง 2 ส่วนนี้จึงยังเป็นอะไรที่ต้องเร่งสปีดอย่างหนัก เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายดังกล่าวนี้

หากถามว่า นโยบายกระตุ้นการท่องเที่ยวของภาครัฐ ทั้งมาตรการฟรีค่าธรรมเนียม visa on arrival หรือ double entry visa รวมถึงมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวที่ออกมาในรูปแบบของแพ็กเกจต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องนั้นช่วยได้แค่ไหน

ประเด็นนี้ยังค่อนข้างคาดการณ์ยาก เพราะตลาดจีนซึ่งเป็นตลาดใหญ่และเป็นตลาดที่มีปัญหานั้นยังไม่พลิกฟื้นกลับมาในทิศทางที่ชัดเจนนัก โดยเฉพาะในกลุ่ม “กรุ๊ปทัวร์” ที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักในช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมา

โดยจากตัวเลขของสมาคมไทยธุรกิจท่องเที่ยว หรือแอตต้าล่าสุดระบุว่า ในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา จำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเป็นกรุ๊ปทัวร์ผ่านสมาคมแอตต้า ใน 2 สนามบินหลัก คือ สุวรรณภูมิ และดอนเมือง นั้นยังติดลบอยู่ที่เกือบ 20% ซึ่งยังสวนทางกับความเห็นและการคาดการณ์แนวโน้มของผู้หลักผู้ใหญ่ในธุรกิจท่องเที่ยวของไทยหลาย ๆ คน

แน่นอนว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่าเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมายังเป็นเดือนแรกของการใช้มาตรการกระตุ้น และส่งผลแค่ในช่วงครึ่งเดือนหลังเท่านั้น (มาตรการเริ่มใช้ 15 พฤศจิกายน) จึงอาจทำให้ผลตอบรับจากกลุ่มนักท่องเที่ยวจีนยังไม่ชัดเจนนัก

ก็ได้แต่หวังว่าสถานการณ์โดยรวมจะปรับตัวดีขึ้นในเดือนธันวาคมนี้ ซึ่งเป็นช่วงเวลาก้าวสู่ฤดูกาลท่องเที่ยว บวกกับเป็นเดือนที่เราใช้มาตรการฟรี VOA เต็มรูปแบบก็น่าจะทำให้ภาพการฟื้นตัวชัดเจนขึ้น

อย่างไรก็ตาม หากสถานการณ์โดยรวมเป็นไปในทิศทางที่ผู้หลักผู้ใหญ่ในวงการท่องเที่ยวคาดการณ์ไว้ ก็น่าจะทำให้บรรยากาศของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยกลับมาฟื้นตัวสู่ภาวะปกติได้ตั้งแต่ต้นปี

หากเป็นเช่นนั้น อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวก็น่าจะกลับมาเป็นตัวช่วยผลักดันให้ภาพรวมเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศในปีหน้า รวมถึงดัชนีความเชื่อมั่นของสำนักโพลต่าง ๆ


ก็น่าจะกลับมาดีขึ้นอีกครั้งได้