ข้อตกลง Soft Brexit กระทบเศรษฐกิจไทยจำกัด

คอลัมน์ ดุลยธรรม

โดย ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต

แม้สหราชอาณาจักรสามารถบรรลุข้อตกลงรูปแบบความสัมพันธ์ใหม่กับสหภาพยุโรปก่อนออกจากอียู ในวันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2562 แต่ยังมีความไม่แน่นอนจากปัญหาการเมืองภายในประเทศของอังกฤษ

ขณะที่ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยยังคงจำกัด ไม่ว่าจะมีข้อตกลง Brexit แบบไหนล่าสุด ข้อตกลงรูปแบบความสัมพันธ์ใหม่กับสหภาพยุโรปก่อนออกจากอียู ยังคงรักษาความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดกับอียูต่อไป เป็น Soft Brexit ไม่ใช่ Hard Brexit หรือออกจากอียูโดยไม่มีข้อตกลง No Deal Brexit

การมีข้อตกลงที่ยังคงรักษาความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับอียูต่อไป หรือ Soft Brexit ช่วยลดผลกระทบในทางลบต่อเศรษฐกิจโลก ระบบการค้าโลก และเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจสหราชอาณาจักรและอียูมากกว่า ส่วน No Deal Brexit นั้นจะสร้างผลกระทบต่อสหราชอาณาจักรและอียูมากพอสมควร เนื่องจากสหราชอาณาจักรส่งออกไปยังอียู 44-45% ของมูลค่าส่งออกทั้งหมดจะถูกเก็บภาษีนำเข้าและมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีเหมือนประเทศนอกกลุ่มสหภาพยุโรป

นอกจากนี้จะมีการปรับโครงสร้างธุรกิจของอียู และสหราชอาณาจักร ที่มีห่วงโซ่อุปทานเชื่อมโยงกัน ภาวะดังกล่าวหลังข้อตกลง Brexit ทำให้กลุ่มธุรกิจในสหราชอาณาจักรให้ความสำคัญกับตลาดใหม่ ๆ รวมทั้งสร้างโอกาสของไทยในการดึงดูดการเคลื่อนย้ายการลงทุนอีกด้วย กรณีเป็น Hard Brexit หรือ No Deal Brexit

ส่วนผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยนั้นยังคงจำกัด ไม่ว่าจะมีข้อตกลง Brexit แบบไหน ไทยควรมองว่าเป็นโอกาสในการขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุนกับสหราชอาณาจักรเพิ่มขึ้น โดยทำข้อตกลงเพิ่มเติมแบบทวิภาคี

ทั้งนี้ การส่งออกสินค้าไทยไปสหราชอาณาจักร มีสัดส่วนราว 1.5% ของมูลค่าส่งออกทั้งหมด และไทยสามารถเพิ่มมูลค่าส่งออกไปอยู่ที่ระดับ 3% ของมูลค่าส่งออกได้ เนื่องจากมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีจะไม่เข้มงวดเท่าอียู ส่วนอียูนั้นไทยควรเตรียมการเพื่อการเจรจาทำข้อตกลงการเปิดเสรีทางการค้าเอฟทีเอเอาไว้ และสามารถเดินหน้าทำข้อตกลงได้หลังการเลือกตั้ง

อย่างไรก็ตาม ยังมีความไม่แน่นอนจากปัญหาการเมืองภายในสหราชอาณาจักร ซึ่งอาจสร้างความไม่แน่นอนต่อการทำข้อตกลงที่นายกรัฐมนตรี เทราซา เมย์ ได้ทำไว้กับอียู ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา

ขณะที่อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในไตรมาส 4 ของไทย อาจจะยังคงเติบโตต่ำกว่า 4% ต่อเนื่องจากไตรมาส 3 การขยายตัวยังคงแผ่วลงจากเศรษฐกิจในระดับฐานรากยังไม่ได้ขยายตัวมากนัก โดยการบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าไม่คงทนซึ่งมีสัดส่วนค่อนข้างสูง ในรายจ่ายของครัวเรือนรายได้น้อยถึงปานกลางยังขยายตัวต่ำเนื่องจากมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐจะไม่ได้ช่วยกระตุ้นภาคการบริโภคมากนัก การขยายตัวของภาคการบริโภคจึงยังต้องอาศัยผู้มีรายได้สูง

นอกจากนี้ การเติบโตเศรษฐกิจไทยไตรมาส 4 ยังเผชิญปัจจัยฐานสูงไตรมาส 4 ปีที่แล้ว จากทิศทางการค้าโลกที่ยังคงชะลอตัวลง ซึ่งจะทำให้ภาคส่งออกและภาคท่องเที่ยวในไตรมาส 4 ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ขณะเดียวกัน มาตรการการเก็บภาษีนำเข้าจากจีนของสหรัฐ ที่เริ่มบังคับใช้เมื่อ 6 กรกฎาคม 2561 เริ่มส่งผลกระทบทางอ้อมต่อการส่งออกเครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์บ้างแล้วโดยเฉพาะมูลค่าส่งออกสินค้าดังกล่าวที่ส่งไปจีน ในเดือนสิงหาคม หดตัวกว่า 10% เช่นเดียวกับการส่งออกแผงโซลาร์และกลุ่มเครื่องซักผ้าไปยังสหรัฐที่หดตัวในช่วงที่ผ่านมา

นอกจากนี้ สินค้ากลุ่มยางแผ่น ไม้แปรรูป เม็ดพลาสติก และเคมีภัณฑ์ ที่ส่งออกไปจีน จะได้รับผลกระทบจากมาตรการจัดเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนของสหรัฐ มากยิ่งขึ้นในไตรมาส 4 ส่วนการลงทุนภาคเอกชนยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามอัตราการใช้กำลังการผลิตที่เพิ่มมากขึ้นตามลำดับ

 

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!