เศรษฐกิจ “แป้ก” อย่างยั่งยืน วาทกรรม “พี่เตา”

คอลัมน์ ชั้น 5 ประชสชาติ

โดย วิไล อักขระสมชีพ

 

ถ้าเอ่ยชื่อ “บรรยง พงษ์พานิช” หรือ “พี่เตา” เป็นแบงเกอร์คนเดียวที่ “กล้าคิด กล้าพูด กล้าทำ” แม้ว่าจะนั่งเป็นนายแบงก์อยู่ในแบงก์เล็ก ๆ อย่างธนาคารเกียรตินาคิน หรือ KKP ก็ตาม (ตามที่เขามักชอบออกตัวอยู่เสมอ ๆ) โดยนั่งตำแหน่ง “ประธานกรรมการบริหาร”

เมื่อวันที่ 28 พ.ย. 61 ได้ออกมาพูดคุยกับสื่อ ในงาน KKP Press Party 2018 เรื่อง “วิเคราะห์เศรษฐกิจประเทศ ถ้าไม่แก้ ไปต่อยาก” ภายใต้บรรยากาศล่องเจ้าพระยา ใคร่ครวญ อนาคตประเทศ

“ประเทศไทย ก่อนที่เราจะใคร่ครวญอนาคต อยากให้มองปัจจุบัน เนื่องจากเราเป็นหน่วยงานทางด้านเศรษฐกิจ เพราะฉะนั้น เวลาจะคุยกันจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจเป็นหลัก จะพูดเรื่องการเมือง ซึ่งเรามีความรู้น้อย คงพูดได้ไม่มาก”

เขาออกตัวก่อนร่ายประเด็นสำคัญ ๆ ว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ “สี จิ้นผิง” ประธานาธิบดีของจีน ออกมาประกาศว่า คนจีนต้องอดทนหน่อยน่ะ เพราะว่าปีนี้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจไม่เกิน 6.5% และในปีต่อ ๆ ไป คงจะไม่ถึง 7% อย่างที่เคยเป็นมา ซึ่งคนจีนมีรายได้ต่อคนต่อปีอยู่ที่ 9,000 เหรียญสหรัฐ

ในขณะที่ประเทศไทย ซึ่งมีรายได้ต่อคนต่อปีอยู่ที่ 6,000 เหรียญสหรัฐ หน่วยงานด้านเศรษฐกิจของเราก็ออกมาประกาศว่า สบายใจได้เลย เพราะเราจะโตถึง 4% เป็นครั้งแรก เพราะเกือบ 10 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยโตเฉลี่ย 3% แถมตัวเลขไตรมาส 3 ที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยโต 3.3% ซึ่งชะลอตัวจากไตรมาสแรกและไตรมาส 2/61 อย่างมีนัย แถมไส้ในก็มีกลิ่นตุ ๆ

เขาบอกว่า ปัญหาของประเทศไทยมีมากมายทุก ๆ ด้าน ไทยได้ชื่อว่า “sick man of Asia” เช่น ปัญหาแก่ก่อนรวย คือ การขาดแคลนทรัพยากรมนุษย์ที่จะสร้างสรรค์เศรษฐกิจในอนาคต ขณะที่ไทยมีอัตราการเกิด 1.4 คนต่อผู้หญิง 1 คน ทางแก้ ก็อาจรับคนเข้ามาอยู่ในประเทศ แต่ว่าคนที่อยากเข้ามาก็เป็นคนคุณภาพต่ำกว่าที่ต้องการ คนทักษะสูงก็พยายามกีดกันไว้ ขณะที่เป้าหมายของประเทศพัฒนาแล้ว จะต้องมีรายได้ต่อคนต่อหัวอยู่ที่ 12,000 เหรียญสหรัฐ

ปัญหาด้านการศึกษาของไทยก็ล้มเหลว ไม่สามารถยกระดับบุคลากรให้เพิ่มผลิตภาพโดยรวมของประเทศไทย ขณะที่การปฏิรูปการศึกษาที่ทำกันอยู่ กว่าจะเห็นผลก็ต้องรอ 10-20 ปี

มาที่เรื่อง “อุปสรรคใหญ่” ของไทย คือ “คอร์รัปชั่น” ที่ฝังรากลึกในสังคมไทย และระบาดไปทั่ว ซึ่งเอาทรัพยากรไปแล้ว ยังทำให้นโยบายบิดเบือนอีก ในทางวิชาการบอกว่า คนโกง 1 ล้าน จะส่งผลลบต่อระบบ 10 ล้าน หรือ10 เท่า

พี่เตามองว่า แนวทางที่ประเทศไทยควรไปในด้านเศรษฐกิจมี 3 อย่าง คือ “มั่งคั่ง-แบ่งปัน-ยั่งยืน”

“มั่งคั่ง” ตอนนี้ไทยมาได้ครึ่งทางแล้ว คือ คนไทยมีรายได้ 6,000 เหรียญสหรัฐ แต่เรื่องแบ่งปัน หรือกระจายรายได้

ตอนนี้กระจุกเจ้าสัวไม่กี่คน และไทยติด 3 อันดับสุดท้าย ที่รองจากรัสเซีย และอินเดีย โดยรัสเซียมีคน 1% ที่ถือทรัพย์สิน 74% ของทั้งประเทศ อินเดีย คน 1% ถือทรัพย์สิน 58.8% ส่วนไทย คน 1% ถือทรัพย์สิน 58% ของทั้งประเทศ ซึ่งรวมถึงผมไปด้วย และไทยคงจะแซงอินเดียในเร็ว ๆ นี้

“ยั่งยืน” ไทยต้องสามารถพัฒนาเศรษฐกิจให้เติบโตได้อย่างมีเสถียรภาพ ซึ่งในระยะสั้นนั้น “ไม่ต้องกังวล” แต่ในระยะยาว จะ “แป้กอย่างยั่งยืน” หรือเติบโตอย่างช้า ๆ ไปตลอดหรือเปล่า

ถามว่าประเทศไทยจะเกิดวิกฤตเศรษฐกิจหรือไม่ เขายืนยันว่า “ทุกวันนี้ ไม่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ หรอกครับ ขออนุญาตใช้คำว่า “มันแป้ก อย่างยั่งยืน” คือ ถ้าไม่แก้ไขในแง่โครงสร้าง”

และสิ่งที่จะเห็นตามมา นั่นคือ 1.การเติบโตต่ำมาก เศรษฐกิจไทยโต “ต่ำที่สุด” ในประเทศเกิดใหม่ (อีเมอร์จิ้ง มาร์เก็ต) ทั้งโลกเลย ยกเว้นประเทศที่เขามีปัญหาวิกฤต 2.การกระจาย ไทยมีความเหลื่อมล้ำที่สูงมาก ซึ่งการกระจายที่แย่ ถ้าไม่ระวังและไม่ได้รับการแก้ไขจะนำไปสู่วิกฤตสังคม และ 3.ความยั่งยืน ซึ่งต้องยอมรับว่า การแก้ไขเชิงโครงสร้างเป็นเรื่องที่ซับซ้อนและยาก

“ผมพูดและแนะนำเสมอ คือ ต้องพยายามลดบทบาทอำนาจของรัฐลง และส่งเสริมให้ภาคอื่น ๆ ของสังคมเข้มแข็งขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นเอกชนและประชาสังคม (เอ็นจีโอ สื่อ สถาบันวิชาการ think thank ต่าง ๆ) ซึ่งยังขาดเรื่องของจำนวนและคุณภาพ”

พร้อมกับกระตุ้นให้-ประชาชนช่วยชาติ มี 2 เรื่อง คือ ต้องพยายามศึกษาเข้าใจบริบทต่าง ๆ อย่างลึกซึ้ง อย่าหลงกับอามิสหรือประโยชน์ต่าง ๆ ที่เขาหยิบยื่นให้ และประเทศจะเจริญได้นั้น ประชาชนมีคุณภาพ ประชาชนมีประสิทธิภาพ

เพราะฉะนั้น ประชาชนช่วยชาติได้ดีที่สุด ก็คือ ทำให้ตัวเองเป็นคนที่มีคุณภาพและมีประสิทธิภาพ เพิ่มผลิตผล ไม่ว่าจะทำอะไรอยู่ก็ตาม

ล่าสุด ปีนี้ประเทศไทยครองแชมป์ “มีความเหลื่อมล้ำ” สูงที่สุดในโลก จาก 2 ปีก่อนที่อยู่อันดับ 3

 

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!