แจกอาชีพดีกว่า

คอลัมน์ สามัญสำนึก

โดย สมถวิล ลีลาสุวัฒน์

รู้สึกดีที่ปีนี้คนไทยตื่นตัวเรื่อง “รักษ์โลก” มากขึ้น อาจเป็นเพราะ “ฤดูหนาว” บ้านเราได้หายไปแล้ว

การตื่นตัวเห็นได้จากร้านเซเว่นฯ ลูกค้าเริ่มใส่ใจ บอกพนักงาน “พี่ไม่เอาถุง ไม่เอาหลอด”

เมื่อเดินเข้าห้าง นอกจากกระเป๋าแบรนด์ กระเป๋าแฟชั่นที่เห็นสะพายกันทั่ว ตอนนี้กระเป๋าผ้าก็กลับมาฮิตอีกครั้ง

ไปโรงพยาบาล ญาติผู้ป่วยก็ใช้ถุงผ้าแทนถุงก๊อบแก๊บ

นึกแล้วขำที่ไทยไม่เหมือน “เคนยา” ซึ่งงัดกฎหมายเข้มงวดที่สุดในโลก คือ ห้ามใช้ถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งมาตั้งแต่กลางปีที่แล้ว โดยตั้งโทษจำคุกสูงถึง 4 ปี หรือปรับเต็มเพดาน 1.25 ล้านบาท บ้าเลือดจริง ๆ ประเทศนี้

เมืองไทยดี ทำอะไรค่อยเป็นค่อยไป ต้องเรียนรู้ทีละชั้น ทีละปี กว่าจะเข้าใจได้ต้องใช้เวลานาน

เหมือน “การเมือง” ต้องทำให้ซับซ้อนเข้าไว้

เหมือน “รัฐธรรมนูญ” ที่คนเขียนพยายามให้เราเข้าใจยาก

คำว่า “อดทน” จึงศักดิ์สิทธิ์มาก

กล่าวถึง “ขยะ” บ้านเรามีขยะพลาสติกมากติดอันดับ

งานวิจัยในยุโรประบุว่า ถุงกระดาษใส่ของนั้น เราต้องนำกลับมาใช้งานซ้ำอย่างน้อย 3 ครั้ง ถึงจะคุ้มค่ากับปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดขึ้นจากกระบวนการผลิตและขนส่ง

ส่วนถุงพลาสติกแบบหนา ต้องใช้ซ้ำอย่างน้อย 4 ครั้ง ถุงผ้าฝ้ายต้องใช้ซ้ำอย่างน้อย 131 ครั้ง

นี่คือการเปรียบเทียบ “ความคุ้มค่า” ในเชิงการผลิต

สำหรับความคุ้มค่า ในเชิง “การใช้” นั้น มีตัวอย่างกิจกรรมดี ๆ ที่ยั่งยืน เกิดขึ้นแล้ว ณ “บ้านท่าดีหมี” จังหวัดเลย

จากการติดตามเพจในเฟซบุ๊กของ “จิตรา ผดุงศักดิ์” ศิษย์เก่าธรรมศาสตร์ เธอผู้นี้อึดมาก และริเริ่มตามหา “ภาชนะ” ใช้แทนพลาสติก

จนดั้นด้นไปถึง “เนปาล-อินเดีย” เพื่อนำจานใบไม้มาให้ “ชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม” ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย พิจารณา

ผู้ว่าฯท่านนี้เป็นคนเรียบ ๆ ขี่จักรยานจากบ้านไปศาลากลางทำงาน ระหว่างทางก็โบกไม้โบกมือทักทายชาวบ้าน ดูเผิน ๆ เหมือน “ผู้ว่าฯ 0.4”

แต่เอาเข้าจริง ผู้ว่าฯชัยวัฒน์ กลับซื้อไอเดีย “รักษ์โลกให้ถูกทาง” เพราะสนใจภาชนะที่ว่า จึงสั่งทีมงานเดินเครื่อง

จนได้ “ทีมงานมืออาชีพ” หน้าใสใจซื่อจากอินเดีย มาช่วยสอนโนว์ฮาวแบบไม่มีกั๊ก

เมื่อคนพร้อม เครื่องจักรพร้อม ก็เคลื่อนทัพเข้าหมู่บ้านท่าดีหมี แล้วทำทันที

พร้อมเซตอัพเครื่องทำจาน ลองเครื่องทำเส้นใยจากต้นกล้วยและใบสับปะรด เพื่อทอภาชนะ ที่รองจาน เสื่อ กระเป๋า และงานหัตถกรรม

สุดท้าย งานออกมาละเอียด สวยงาม ทุกคนเริ่มยิ้มได้

นี่คือการใช้วัสดุจากธรรมชาติใกล้ตัวมาประดิษฐ์ ประยุกต์สิ่งของเครื่องใช้แบบบ้าน ๆ

ท่านชัยวัฒน์ จึงกลายเป็น “ผู้ว่าฯ 4.0” ในทันที

ในฐานะผู้ผลักดันและส่งเสริม

การสร้างมูลค่าเพิ่มจากการใช้ความคิดสร้างสรรค์ เป็น “ครีเอทีฟ อีโคโนมี” ที่ TCDC ประเทศไทย พยายามเหลือเกินที่อยากกระตุกต่อมให้คนไทยขยันคิด ๆ ๆ

เกือบหนึ่งปีที่ชาวบ้านท่าดีหมีได้เรียนรู้ และหาหนทางสร้าง “อาชีพ” ให้ตัวเองได้สำเร็จ

ต้องขอบคุณทางจังหวัดที่ช่วย “แจกอาชีพ” ให้คนในหมู่บ้าน รู้จักทำมาหากินแบบอินเทรนด์

แม้การเดินทางเพื่อก้าวไปสู่ความสำเร็จแบบปัง ๆ ยังไม่เกิดจริงจัง ก็คงต้องใช้พลังเวลาและใส่ใจ

เพราะนี่แค่จุดเริ่มต้น ชาวบ้านต้องขยันหาตลาด ฝึกฝนทำภาชนะให้สวย และใช้งานได้จริงต่อไปไม่สิ้นสุด

สักวันฝันต้องเป็นจริง เพราะนี่เป็นนวัตกรรมน่าภาคภูมิใจ

ไม่ต้องรอให้ใครมา “แจกเงิน” มาหาเสียง มาซื้อใจแบบตื้น ๆ เพราะคนจนจะรวยแค่แป๊บเดียว

เราต้องมีศักดิ์ศรี มีความรู้ มีการพัฒนา ขยัน อดทน

แค่ฉลาดคงไม่พอ เราต้องเฉลียวด้วย

เราจะได้เจริญ ครอบครัวจะได้อยู่ดี กินดี

สังคมจะได้มีความสุขจริง ๆ แบบยั่งยืน

เพราะยุคนี้ คือ “ไทยแลนด์ 4.0”

ยุคที่รัฐบาลย้ำว่า เราต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์และมีนวัตกรรม เพื่อให้ทันโลกใบใหม่ที่ไม่เหมือนเดิม

 

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat
.
หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!