คุณค่า ของ ชีวิต

คอลัมน์ ระดมสมอง

โดย รณดล นุ่มนนท์

สวัสดีครับ ผมได้รับหนังสือ “ปัญญาวิชาชีวิต” จากคุณภิญโญ ไตรสุริยธรรมา ที่ได้นำเสนอและถ่ายทอดปรัชญาของ ศาสตราจารย์เคลย์ตัน คริสเตนเซน (Clayton Christensen) ต่อแนวทางการประเมินความคุ้มค่าของชีวิตของแต่ละคน (How Will You Measure Your Life ?) โดยที่คุณภิญโญได้ฝากโน้ตสั้น ๆ ไว้ว่า “คิดว่าหนังสือเล่มนี้จะเป็นประโยชน์ในการขบคิดกับพี่ดลครับ”

แถมในบทนำได้เกริ่นไว้ว่า “ถ้าจะให้ได้ผลดีขอจงอ่านในวันที่ไม่เร่งรีบ รุ่มร้อน อ่านในห้วงตอนที่มีความสงบในชีวิต เป็นการอ่านเพื่อขบคิดให้เกิดปัญญา ไม่ใช่อ่านเพื่อสะสมเรื่องราวหรือเนื้อหา” ทำให้เช้าวันเสาร์ที่ผ่านมา

ผมต้องมานั่งอ่านหนังสือเล่มนี้ในบรรยากาศสงบ ๆ แบบช้า ๆ แต่สามารถอ่านรวดเดียวจนจบ แถมได้อ่านทวนอีกรอบหนึ่งเพื่อค้นหาคำตอบ 3 คำถามปริศนา ที่มีอิทธิพลต่อการงานและชีวิตของแต่ละคน

นั่นคือ 1.เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าจะมีความสุขในอาชีพการงาน 2.เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าความสัมพันธ์กับครอบครัวจะเป็นต้นธารแห่งความสุขอย่างยั่งยืน และ 3.เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าจะใช้ชีวิตอย่างมีอิสรภาพไม่จบชีวิตเดียวดายในเรือนจำ1/พวกเราอาจจะนึกว่า ศ.เคลย์ตัน คริสเตนเซน เป็นศาสตราจารย์สอนวิชาปรัชญาหรือจิตวิทยาที่มหาวิทยาลัย Harvard แต่แท้จริงแล้วท่านเป็นที่รู้จักกันดีในฐานะเจ้าของทฤษฎี Disruptive Innovation จากหนังสือ The Innovator’s Dilemma ที่นิตยสาร Forbes ได้ยกย่องให้ท่านเป็นนักทฤษฎีธุรกิจที่ทรงอิทธิพลที่สุดในโลกในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา ด้วยการเชื่อมโยงคำว่า disruption เข้ากับการอยู่รอดของการดำเนินธุรกิจ

ชีวประวัติของ ศ.เคลย์ตัน เป็นที่น่าสนใจอย่างยิ่ง เพราะเกิดมาในครอบครัวใหญ่ที่เคร่งต่อศาสนา เป็นคนเรียนเก่งที่สามารถเรียนจบด้วยเกียรตินิยมอันดับหนึ่งสาขาเศรษฐศาสตร์ และจบปริญญาโทบริหารธุรกิจที่ Harvard ก่อนจะออกไปทำงานในบริษัทที่ปรึกษา ก่อร่างสร้างธุรกิจเทคโนโลยี

แต่ในปี 1987 ธุรกิจก็มาสะดุดล้มลงอย่างแรงจากเหตุการณ์ Black Monday เป็นจุดพลิกผันให้ท่านตัดสินใจกลับเข้าไปศึกษาต่อในระดับปริญญาเอกที่ Harvard และได้เป็นศาสตราจารย์สอนหนังสือในคณะบริหารธุรกิจ พร้อม ๆ กับสอนวิชา “Building and Sustaining a Successful Enterprise” วิชาเลือกที่ได้รับความนิยมสูงที่สุด

ชีวิตของท่านเกิดการเปลี่ยนแปลงอีกครั้งหนึ่ง เมื่อพบว่าเป็นโรคร้าย แถมซ้ำร้ายเกิดเป็นโรคหัวใจฉับพลัน ทำให้การเดินและการพูดของท่านไม่คล่องแคล่วเหมือนเดิม แต่เมื่ออาการเริ่มดีขึ้นจึงตัดสินใจเขียนหนังสือ How Will You Meas-ure Your Life ? เพื่อแปลงทฤษฎี Disruptive Innovation ที่ท่านค้นคิดมาเป็นทฤษฎีในการดำรงชีวิต และเดินสายถ่ายทอดแนวคิดนี้ไปทั่วโลกจนถึงปัจจุบัน

ในการกล่าวสุนทรพจน์เมื่อปีที่แล้วของ ศ.เคลย์ตัน ในวันรับปริญญาของมหาวิทยาลัย WGU ในมลรัฐยูทาห์ มหาวิทยาลัยที่เปิดสอนระดับปริญญาโทแบบ online ให้กับนักศึกษาที่ส่วนใหญ่ทำงาน หรือประกอบอาชีพอยู่ ศ.เคลย์ตันได้เริ่มต้นกล่าวว่า เหตุผลหลักที่ท่านตอบรับมากล่าวสุนทรพจน์ ณ มหาวิทยาลัยแห่งนี้ เพราะบัณฑิตที่นี่มีชีวิตที่คล้ายคลึงกับท่าน ที่ให้ความสำคัญกับการศึกษา เรียนรู้แบบไม่หยุดนิ่ง เหมือนกับที่ท่านได้ตัดสินใจศึกษาต่อระดับปริญญาเอกเมื่ออายุ 38 ปี2/

ท่านกล่าวว่าตลอดชีวิตของท่าน ท่านพยายามค้นหาคำตอบว่า “ทำไมความสำเร็จจึงไม่ยั่งยืน ?” เมื่อย้อนกลับไปหวนคิดถึงช่วงทศวรรษที่ผ่านมาจะค้นพบว่า บริษัทที่เคยรุ่งเรืองหลายแห่งต้องย่อส่วน หรือปิดกิจการลง เพราะบริษัทเหล่านั้นให้ความสำคัญกับเป้าหมายในระยะสั้น ๆ ส่งผลให้วัฒนธรรมองค์กร การบริหารจัดการ ตลอดจนการจัดสรรทรัพยากรไปในทิศทางที่ผิด ไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของบริโภค การแข่งขันที่เปลี่ยนแปลงไป

และสำคัญที่สุดคือ การพัฒนาการทางเทคโนโลยีถือเป็น disruptive ทำให้บริษัทที่เคยยิ่งใหญ่ต้องล่มสลาย ในขณะที่บริษัทที่ประสบความสำเร็จ กลับเริ่มต้นด้วยการนำเสนอสินค้าหรือบริการที่มีแนวคิดใหม่หรือให้คุณค่าใหม่ ๆ ให้กับลูกค้าจาก “ตลาดล่าง” ก่อนเพื่อชิงส่วนแบ่งการตลาด แล้วมุ่งมั่นพัฒนาสินค้าหรือบริการของตนให้ดียิ่งขึ้นจนสามารถ “ปั่นป่วน” ตลาดเดิม3/

ท่านได้ยกตัวอย่างบริษัทนูคอร์ (Nucor) ที่ผลิตเหล็กเส้นขนาดเล็กเพื่อขายในตลาดเหล็กเสริมคอนกรีต หรือค่ายรถยนต์โตโยต้าที่เริ่มผลิตรถ Corona รถขนาดเล็กเพื่อเอาใจผู้ขับรถในตลาดที่มีส่วนแบ่งไม่มากนักในสหรัฐ จากนั้นบริษัททั้งสองก็ค่อย ๆ ไล่ไปตลาดบนตัดราคาโรงเหล็กดั้งเดิมและผลิตรถยนต์ที่มีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ จนทำให้โรงงานผลิตเหล็กขนาดใหญ่และค่ายรถยนต์ของสหรัฐต่างสั่นสะเทือนไปตาม ๆ กัน

บริษัทที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ไม่ทะนงตัว มีความกระตือรือร้นอย่างถ่อมตน ที่พร้อมจะเรียนรู้จากทุก ๆ คน โดยไม่ทราบด้วยซ้ำว่า บริษัทจะอยู่รอดในระยะยาวหรือไม่ กลับเป็นบริษัทที่อยู่รอดและประสบความสำเร็จ และนี่แหละคือหัวใจสำคัญที่ทำให้ความสำเร็จมีความยั่งยืน ซึ่งไม่ต่างกับชีวิตของคนเราที่ต้องให้ความสำคัญต่อความสำเร็จในระยะยาว

ท่านได้กล่าวไว้ในตอนท้ายของสุนทรพจน์ว่า “โศกนาฏกรรมของโลกมนุษย์คือ เราวัดค่าความเป็นมนุษย์ด้วยตำแหน่งหน้าที่ ฐานะในสังคม และทรัพย์สินเงินทอง แต่สิ่งเหล่านี้ไม่ได้ทำให้เรามีชีวิตที่ดี หากเราได้มีโอกาสไปเดินตามอาคารต่าง ๆ ในมหาวิทยาลัย เราจะพบเห็นป้ายชื่อผู้บริจาคเงินให้กับมหาวิทยาลัย แต่เราเคยหยุดอ่านชื่อเหล่านั้นไหม คนที่เราจะรู้สึกขอบคุณ กลับเป็นคนรอบข้างที่เราเคยสัมผัส เคยได้รับการช่วยเหลือ เคยได้รับแรงบันดาลใจ คนรอบข้างเหล่านี้เปลี่ยนแปลงชีวิตเราให้เป็นคนที่ดีขึ้น ถ้าเราต้องการสร้างอะไรที่มีคุณค่าที่ยั่งยืน เราจะเลือกมีชื่อบนป้าย หรือมีชื่อบนหัวใจคนรอบข้างที่เราพบเจอและผ่านเข้ามาในชีวิตเราแต่ละวัน”4/

สัปดาห์หน้าพวกเรามาค้นหาคำตอบสำหรับ 3 คำถามปริศนาข้างต้นร่วมกันนะครับ

แหล่งที่มา : 1/ ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา ปัญญาวิชาชีวิต จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ Openbooks 2561

(How Will You Measure Your Life ?, Clayton M. Christensen)

2/ บทสุนทรพจน์ของศาสตราจารย์เคลย์ตัน คริสเตนเซน ในวันรับปริญญาของมหาวิทยาลัย WGU 15 กรกฎาคม 2560 https://archive.wgu.edu/artifact/wgu-commencement-address-clayton-m-christensen

3/ เรวัต ตันตยานนท์ สตาร์ทอัพกับ Disruptive Innovation Knowledge Community SMEs 10 พฤษภาคม 2559 http://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/637676

4/ อาร์ม ตั้งนิรันดร How do you measure your life? บันทึกผ่าน Facebook 10 เมษายน 2014 เวลา 10.46 น. https://www.facebook.com/notes/arm-tungnirun/how-do-you-measure3yourlife/10152074629467568/

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!