ไทยจะได้อะไร ? จากการเป็นประธานอาเซียนปี 62

คอลัมน์ แตกประเด็น

โดย อรมน ทรัพย์ทวีธรรม กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

ประเทศไทยกำลังจะเป็นเจ้าภาพการประชุมระหว่างประเทศที่สำคัญอีกครั้งในปีหน้า โดยเมื่อ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้รับไม้การเป็นประธานอาเซียนของไทยต่อจากสิงคโปร์ เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา หมายความว่าในปี 2562 ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมอาเซียนในกรอบต่าง ๆ ทั้งเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และวัฒนธรรม และในระดับต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ อธิบดี ปลัดกระทรวง รัฐมนตรี และผู้นำประเทศ รวมแล้วประมาณ 180 การประชุม

อย่างไรก็ดี การเป็นประธานอาเซียนของไทยไม่ได้มีภารกิจเพียงแค่การเป็นเจ้าภาพ หรือเป็นสถานที่จัดประชุม แต่ยังหมายถึงไทยจะมีบทบาทสำคัญในการเป็นประธานการประชุมต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น ซึ่งนับเป็นโอกาสที่จะได้ผลักดันประเด็นต่าง ๆ ที่จะช่วยกระชับความสัมพันธ์ ส่งเสริมความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจ และสร้างภูมิคุ้มกันให้สมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ

ท่ามกลางสถานการณ์ทางเศรษฐกิจโลกที่ท้าทาย ทั้งเรื่องที่ประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่นำมาตรการกีดกันทางการค้ามาใช้ตอบโต้กัน และการเข้าสู่ยุคของการปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 4 (4th Industrial Revolution หรือ 4IR) ที่การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ได้ส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจการค้าและรูปแบบการใช้ชีวิตของผู้คน

การประชุมแรกของไทยในฐานะประธานอาเซียนเริ่มต้นขึ้นแล้ว เมื่อวันที่ 29-30 พฤศจิกายน 2561 ณ กรุงเทพฯ เป็นการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ (SEOM Retreat) มีวัตถุประสงค์สำคัญ คือ ให้ไทยในฐานะประธานอาเซียน ได้นำเสนอประเด็นด้านเศรษฐกิจที่ต้องการให้สมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ ร่วมกันผลักดันให้บรรลุผลสำเร็จในปี 2562 ภายใต้แนวคิด “ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล และยั่งยืน” หรือ “Advancing Partner-ship for Sustainability”

แบ่งได้เป็น 3 ด้าน 12 ประเด็น ได้แก่ ด้านที่ 1 ก้าวไปข้างหน้าสู่อนาคต (future orientation) เพื่อเตรียมอาเซียนให้พร้อมรับมือการเข้าสู่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 4 หรือ 4IR เช่น การเตรียมแรงงาน ผู้ประกอบการ และประชาชนอาเซียน รับมือกับการที่เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ และระบบออโตเมชั่น จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในภาคส่วนต่าง ๆ การส่งเสริมให้ผู้ประกอบการขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (MSMEs) สามารถพัฒนาและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัล

ด้านที่ 2 ส่งเสริมความเชื่อมโยง (enhanced connectivity) ทั้งระหว่างสมาชิกอาเซียนด้วยกันเอง และระหว่างอาเซียนกับนอกอาเซียน เช่น การเชื่อมโยงระบบศุลกากรอิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะเอกสารใบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าของอาเซียนทางอิเล็กทรอนิกส์ ระหว่างสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ (ระบบ ASEAN Single Window) เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้า ลดระยะเวลาการผ่านพิธีการทางศุลกากร และลดภาระต้นทุนทางธุรกิจ

และด้านที่ 3 ส่งเสริมความยั่งยืน (sustainability) โดยการดำเนินงานของอาเซียนควรเป็นไปเพื่อสนับสนุนให้เกิดความยั่งยืน เช่น ความร่วมมือเพื่อให้เกิดการประมงที่ยั่งยืน สนับสนุนการใช้พลังงานทดแทน เป็นต้น

ซึ่งหากในการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโส และรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนที่ไทยจะจัดขึ้นในปีหน้า สมาชิกอาเซียนอื่นเห็นพ้องร่วมกันขับเคลื่อนให้ภารกิจ 3 ด้าน 12 ประเด็นนี้ ให้ประสบความสำเร็จได้ในปี 2562 ทั้งไทยและอาเซียนก็จะสามารถพัฒนาเพิ่มศักยภาพทางการแข่งขัน และมีความพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

นอกจากนี้ เนื่องจากการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรืออาร์เซป ซึ่งประกอบด้วยสมาชิก 16 ประเทศ คือ อาเซียน 10 ประเทศ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ถือเป็นตลาดใหญ่ที่มีประชากรรวมกันกว่า 3,560 ล้านคน มูลค่าการค้าระหว่างกันเป็น 1 ใน 3 ของการค้าโลก การผลักดันให้การเจรจาอาร์เซป ซึ่งเปิดรอบมานานกว่า 5 ปีแล้ว ให้ประสบผลสำเร็จสามารถสรุปผล และลงนามความตกลงกันได้ในปี 2562 ถือเป็นหนึ่งในภารกิจที่สำคัญมากของไทยในฐานะประธานอาเซียน

โดยเฉพาะท่ามกลางบรรยากาศความขัดแย้งทางการค้าของประเทศขนาดใหญ่ที่ส่งผลกระทบไปทั่วโลก ความสำเร็จของอาร์เซปจะช่วยส่งเสริมการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศของไทย โดยเฉพาะในส่วนของการเปิดตลาดและอำนวยความสะดวกทางการค้า

ทั้งนี้ เนื่องจากไทยมีสัดส่วนการค้ากับ 15 ประเทศสมาชิกอาร์เซป ถึง 2 ใน 3 ของการค้าโลก คิดเป็นมูลค่าการค้ารวมสูงถึง 2.68 แสนล้านเหรียญสหรัฐ

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!