พายเรือเพื่อเจ้าพระยา

ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับข่าว

คอลัมน์ สามัญสำนึก

โดย พิเชษฐ์ ณ นคร

แต่ละปีมีปริมาณขยะไหลลงสู่ทะเลรวมแล้ว 5-6 หมื่นตัน คือข้อมูลสถิติที่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งรวบรวมไว้ ฟังดูแล้วน่าตกใจและหลายคนคงคาดไม่ถึง ไม่แปลกที่ประเทศไทยจะถูกจัดอันดับเป็นประเทศที่มีขยะในท้องทะเลมากที่สุดเป็นอันดับที่ 5 ของโลกไม่รวมขยะมูลฝอยจากชุมชนที่ปริมาณสูงถึงกว่า 27 ล้านตันต่อปี ซึ่งหากนำมากองรวมกันจะมีความสูงเทียบเท่าตึกใบหยก 2 รวมแล้ว 140 ตึก กองพะเนินเทินทึกกำจัดกันไม่หวาดไหว แต่ละปีจึงมีปริมาณขยะตกค้างไม่ต่ำกว่าปีละ 10 ล้านตัน ไม่มีทางอื่นนอกจากต้องเร่งเดินหน้าโรดแมปแก้ปัญหาขยะที่รัฐบาลกำลังผลักดันไม่ให้สะดุดลงกลางคัน

เช่นเดียวกับปัญหาขยะในทะเล ที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันกำจัด แนวทางหนึ่งที่ทำให้ปริมาณขยะที่จะไหลลงสู่ทะเลลดลงได้ คือ การป้องกันไม่ให้มีการปล่อยทิ้งขยะลงในแม่น้ำ คู คลอง ซึ่งเป็นแหล่งน้ำต้นทาง

นี่คือที่มาของกิจกรรมดี ๆ โครงการ “พายเรือเพื่อเจ้าพระยา เก็บขยะจากปากน้ำโพถึงอ่าวไทย” โปรเจ็กต์เล็ก ที่ช่วยแก้ปัญหาใหญ่ของประเทศ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ร่วมกับหน่วยงานรัฐและภาคเอกชน และเครือข่ายภาคประชาคมเรื่องสิ่งแวดล้อม จัดขึ้นระหว่างวันที่ 10-22 ธันวาคม 2561 รวม 10 วัน ใน 10 จังหวัด ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา จากปากน้ำโพถึงอ่าวไทย

เริ่มตั้งแต่ จ.นครสวรรค์ ผ่านอุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี กรุงเทพมหานคร จนถึงสมุทรปราการ

รูปแบบกิจกรรม ผู้เข้าร่วมโครงการซึ่งประกอบด้วยชุมชน วัด โรงเรียนริมแม่น้ำเจ้าพระยาทั้ง 10 จังหวัด จะร่วมเปิดตัวโครงการ พร้อมรับฟังการเสวนา “จากเจ้าพระยาถึงอ่าวไทย” จากนั้นจะร่วมกันพายเรือคยักเก็บขยะในแม่น้ำเจ้าพระยาทั้ง 2 ฝั่ง ตลอดระยะทาง 400 กิโลเมตร

แต่ละจังหวัดจะมีจุดคัดแยกขยะอย่างเป็นระบบเพื่อสาธิต ควบคู่กับจัดกิจกรรมให้ความรู้เรื่องการจัดการขยะและน้ำเน่าเสียแก่เยาวชน การรณรงค์ให้ความรู้ชุมชน การส่งเสริมการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม คาดว่าจะมีผู้ร่วมกิจกรรมในโครงการไม่ต่ำกว่า 1 แสนคน

มีเป้าหมายปลูกจิตสำนึกและสร้างการมีส่วนร่วมกับชุมชนในการรักษาสิ่งแวดล้อม และให้เห็นถึงผลกระทบจากการทิ้งขยะพลาสติก ขยะอื่น ๆ รวมทั้งน้ำเน่าเสียในแม่น้ำ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงชุมชน แม่น้ำ ลำคลองในพื้นที่สายน้ำเจ้าพระยาให้เป็นโครงการนำร่อง เป็นกิจกรรมตัวอย่างในการขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยชุมชนหรือบ้าน วัด โรงเรียน ตลอดจนหน่วยงานภาครัฐและเอกชนร่วมมือกันเป็นแบบอย่างให้คนในพื้นที่ลุ่มน้ำแห่งอื่น ๆ ทั่วประเทศได้ร่วมมือกันปรับภูมิทัศน์ ลดมลพิษทั้งในแม่น้ำและริมฝั่งแม่น้ำ

นอกจากนี้ ยังส่งเสริมการทำกิจกรรมการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างปราชญ์ชุมชนกับนักเรียนในพื้นที่ เพื่อช่วยกันอนุรักษ์พื้นที่ป่าดั้งเดิมและพันธุ์ไม้ท้องถิ่นในบริเวณริมฝั่งแม่น้ำ คู คลอง รักษาไว้ซึ่งความสมบูรณ์และความสมดุลทางนิเวศวิทยาทั้งบนบกและในน้ำ รวมทั้งสร้างความสามัคคีในการรักษาพื้นที่ระหว่างภาครัฐ เอกชน และประชาชน

หลังจากออกจากจุดสตาร์ตที่ศาลเจ้าพ่อเทพารักษ์ เจ้าแม่ทับทิม จ.นครสวรรค์ ขบวนเรือจะพายเรือผ่าน จ.อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง ปลายสัปดาห์นี้จะเข้าเขต จ.พระนครศรีอยุธยา ผ่านปทุมธานี นนทบุรี จนถึงจุดหมายปลายทางที่ปากอ่าวไทย จ.สมุทรปราการ วันที่ 22 ธันวาคม 2561

วันสุดท้ายจะจัดกิจกรรมพิเศษบริเวณสวนเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เฉลิมพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา ต.ทรงคนอง อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ ภายใต้ชื่องาน “รักษ์ ปลูก สาน คุ้งบางกะเจ้ายั่งยืน” เริ่มจากกิจกรรมปั่นจักรยานศึกษาเส้นทางธรรมชาติสู่วิถีสวนเกษตรชุมชนท่าวัดบางน้ำผึ้งนอก-สวนป่า บางน้ำผึ้ง-คลองแพ กิจกรรม “ปลูก ต่อ เติม ริมคลองแพ” เพาะกล้าลูกจาก ฯลฯ

ช่วงเย็นนัดหมายรวมตัวกันที่วัดพระสมุทรเจดีย์ ต.ปากคลองบางปลากด อ.พระสมุทรเจดีย์ ก่อนกิจกรรมดี ๆ “พายเรือเก็บขยะเจ้าพระยา จากปากน้ำโพถึงอ่าวไทย” 10 จังหวัด 400 กิโลเมตร จะปิดฉากลงเป็นทางการ