ดอกเบี้ยขึ้น…ต้นทุน-ภาระหนี้เพิ่ม

บทบรรณาธิการ

การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) โค้งสุดท้ายนัดสุดท้ายปีนี้่ 19 ธันวาคม 2561 ไม่ว่าผลจะออกมาให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในระดับเดิมที่ 1.50% ต่อปี หรือมีมติปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย แต่แนวโน้มปี 2562 ที่กำลังจะมาถึงดอกเบี้ยในประเทศคงขยับขึ้นตามเทรนด์ตลาด

เพราะในสภาพความเป็นจริงแม้เศรษฐกิจโลกยังมีความสุ่มเสี่ยงไม่แน่นอนจากสงครามทางการค้า แต่เศรษฐกิจและการจ้างงานในสหรัฐมีแนวโน้มดีขึ้น ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ดำเนินนโยบายทางการเงินเข้มงวดมากขึ้น โดยทยอยประกาศปรับขึ้นดอกเบี้ยขณะที่สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น จีน แม้ยังดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจ แต่นักวิเคราะห์ฟันธงว่าการดำเนินนโยบายการเงินในภาวะปกติเริ่มใกล้เข้ามา

ในส่วนของไทยนั้นแม้ที่ประชุม กนง.เมื่อ 14 พฤศจิกายนที่ผ่านมา จะให้คงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% แต่ส่งสัญญาณชัดว่าพิจารณาจากทิศทางเศรษฐกิจที่ยังขยายตัวต่อเนื่อง ปัจจัยเงินเฟ้อ รวมทั้งความเสี่ยงของเสถียรภาพระบบการเงินแล้ว การดำเนินนโยบายทางการเงินในลักษณะผ่อนคลายคงดอกเบี้ยในระดับที่ต่ำค่อย ๆ ลดความจำเป็นลง

ชี้ให้เห็นว่าทิศทางดอกเบี้ยนโยบายหมดยุคขาลงกำลังเข้าสู่ช่วงขาขึ้นตามเทรนด์อัตราดอกเบี้ยในตลาดโลก แต่ยังรอเงื่อนไขและจังหวะเวลาที่เหมาะสมว่าจะมาถึงเร็วหรือช้า กนง.จะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมกลางสัปดาห์นี้ หรือรอไปต้นปีนี้ ซึ่งมีกำหนดการประชุมนัดแรก 6 กุมภาพันธ์ 2562

แต่การปรับโหมดดอกเบี้ยขาลงเป็นขาขึ้นไม่ว่าจะเร็วหรือช้า สิ่งที่จะตามมาคืออัตราดอกเบี้ยเงินกู้จะถูกปรับขึ้นทั้งระบบ ก่อนดอกเบี้ยเงินฝากจะขยับตาม ทำให้ลูกหนี้รายเดิม รวมทั้งผู้ที่ต้องการยื่นขอสินเชื่อใหม่มีต้นทุนสูงขึ้น ภาระหนี้เพิ่มขึ้น ทั้งสินเชื่อที่อยู่อาศัย รถยนต์ ธุรกิจรายใหญ่-เอสเอ็มอี สินเชื่อบุคคล บัตรเครดิต ฯลฯ

บรรดาลูกหนี้ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจขนาดใหญ่หรือเล็ก เอสเอ็มอี บุคคลธรรมดา แม้กระทั่งหน่วยงานรัฐ รัฐวิสาหกิจจึงต้องปรับตัวรองรับล่วงหน้า และตระหนักถึงภาระหนี้ที่ต้องแบกรับเพิ่ม ผลพวงจากดอกเบี้ยในตลาดเงินตลาดทุนปรับขึ้นครั้งแรกในรอบหลายปี

ที่สำคัญต้องตั้งการ์ดป้องกันในลักษณะเผื่อเหลือเผื่อขาด รับมือดอกเบี้ยขยับสูงขึ้นต่อเนื่องตามมาหลายระลอก โดยเฉพาะอย่างยิ่งลูกหนี้บุคคลธรรมดา ผู้ประกอบการรายเล็ก เอสเอ็มอี ซึ่งส่วนใหญ่ต้องบริหารจัดการทางการเงินด้วยตนเอง

แนวทางหนึ่งที่สามารถทำได้คือ ต้องรู้จักประมาณตน ด้วยการประเมินสถานะทางการเงิน การวางแผนทางการเงินให้ถูกต้องเป็นจริง ควบคู่กับบริหารจัดการรายรับ-รายจ่ายให้มีประสิทธิภาพ ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!