สัญญาณอันตราย จากดอกเบี้ยต่ำ

คอลัมน์ สามัญสำนึก

โดย สุดใจ ชาญชาตรีรัตน์

หลังการประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งแรกในรอบ 7 ปี 4 เดือน เมื่อ 19 ธันวาคมที่ผ่านมา จาก 1.5% เป็น 1.75%

หลายฝ่ายมองว่าเป็นการเพิ่มภาระให้ประชาชน โดยเฉพาะภาคเกษตรและเอสเอ็มอี ซึ่งเป็นกลุ่มที่อ่อนแอ และไม่ได้รับอานิสงส์จากการขยายตัวของเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา ทั้งยังเป็นกลุ่มที่มีภาระหนี้สูง ทำให้ต้องแบกหนี้เพิ่มจากดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม การส่งผ่านดอกเบี้ยนโยบายสู่ธนาคารพาณิชย์ครั้งนี้แตกต่างไป เพราะครั้งนี้มีการส่งสัญญาณจากภาครัฐให้ธนาคารพาณิชย์ตรึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ไว้ก่อน

พร้อมกับส่ง “ธนาคารออมสิน” เป็นพระเอกมาเป็นผู้นำการปรับ “ขึ้น” อัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำแบบยกแผง ขณะที่ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ผู้ปล่อยสินเชื่อบ้านรายใหญ่ก็ประกาศตรึงดอกเบี้ยกู้ไปจนถึงหลังตรุษจีน

“วิรไท สันติประภพ” ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ส่งสัญญาณว่า ด้วยสภาพคล่องที่อยู่ในระบบสูง ธนาคารพาณิชย์ยังไม่มีความจำเป็นที่จะเร่งปรับอัตราดอกเบี้ยมาตรฐาน ทั้ง MLR / MRR / MOR แต่ธนาคารควรไปปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ของกลุ่มธุรกิจใหญ่ ซึ่งได้รับดอกเบี้ยพิเศษ MLR- มาก ๆ เพราะที่ผ่านมาแบงก์พาณิชย์ดัมพ์ดอกเบี้ยแข่งกับตลาดตราสารหนี้ที่ภาคเอกชนหันไปออก “หุ้นกู้” ที่มีต้นทุนต่ำกว่ากู้แบงก์

ผู้ว่าการ ธปท.อธิบายว่า การใช้อัตราดอกเบี้ยต่ำเป็นระยะเวลานานมีต้นทุน และผลข้างเคียงหลายอย่างมาก

อันแรกคือ “หนี้” ในระบบที่เพิ่มสูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็น “หนี้ภาคครัวเรือน” “หนี้ภาคธุรกิจ” หรือแม้แต่หนี้ภาครัฐ ที่มีส่วนสร้างจุดเปราะบางให้กับระบบการเงิน

สำหรับ “หนี้ครัวเรือน” แม้ตัวเลขต่อจีดีพีจะลดลงเล็กน้อย แต่ภาระหนี้ของคนไทยยังอยู่ในระดับสูงและระดับที่เสี่ยง โดยไตรมาส 2/2561 หนี้ครัวเรือนอยู่ที่ 12.34 ล้านล้านบาท หรือ 77.5% ของจีดีพี จากไตรมาส 1/2561 อยู่ที่ 11.68 ล้านล้านบาท คิดเป็น 77.7% ต่อจีดีพี

นอกจากนี้ผู้ว่าการ ธปท.ระบุว่า “หนี้ภาคธุรกิจ” ก็รับความเสี่ยงมากขึ้น หรือมีพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนสูงขึ้น โดยไม่คำนึงถึงความเสี่ยงที่เหมาะสมเกิดขึ้นในหลาย ๆ มิติ เช่นปีที่แล้วมีการออกตราสารหนี้ไม่มีเรตติ้ง (บริษัทไม่รู้จัก) คนก็แย่งกันซื้อ โดยไม่สนใจว่าเอาเงินไปทำอะไร ภาพของธุรกิจออกตราสารระยะสั้น 6 เดือน เพื่อไปลงทุนโครงการพัฒนาอสังหาฯระยะยาวก็เป็นความไม่สมดุล นำไปสู่การผิดนัดชำระหนี้ของบางบริษัท และปีนี้เห็นธุรกิจขนาดใหญ่หลายรายระดมทุนออกหุ้นกู้แบบตลอดชีพ (perpetual bond) การันตีผลตอบแทนสูง

ช่วง 3-4 ปีแรก คิดว่าเป็นตราสารหนี้ออกมาเท่าไหร่ก็ขายหมด คนไม่เข้าใจความเสี่ยงว่าต้องเลิกบริษัทถึงจะได้รับเงินคืน ก็เป็นจุดเปราะบางที่เกิดขึ้นที่เป็นผลมาจากดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำ

รวมถึงปัญหา “สหกรณ์ออมทรัพย์” ที่ขยายตัวเร็วมาก มีการระดมทุนเพิ่มทั้งที่มีเงินส่วนเกินอยู่แล้ว เพื่อไปลงทุนในอะไรแปลก ๆ สร้างผลตอบแทนที่สูงขึ้นมาจ่ายปันผลโดยไม่สนใจความเสี่ยง

และภาพการเก็งกำไรในตลาดอสังหาฯที่ “กู้เงิน” มาลงทุนเพื่อหวังผลตอบแทนที่สูงกว่า เพราะต้นทุนดอกเบี้ยบ้านถูก และธนาคารก็แข่งกันลดหย่อนมาตรฐานการปล่อยสินเชื่อทำให้เกิด “สินเชื่อเงินทอน” แบงก์ให้วงเงินกู้มากกว่ามูลค่าสินทรัพย์ และนำเงินส่วนหนึ่งไปใช้ส่วนตัว ทำให้แบงก์ชาติต้องออกมาตรการเงินดาวน์คุม “สินเชื่อที่อยู่อาศัย”

ทั้งหมดนี้คือสัญญาณอันตรายของภาวะดอกเบี้ยต่ำ จากคำอธิบายของผู้ว่าการ ธปท. ที่เป็นส่วนหนึ่งทำให้ต้องขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย เพราะอัตราดอกเบี้ยต่ำทำให้ “แรงจูงใจออมน้อย-แต่แรงจูงใจก่อหนี้สูง”

ดังนั้นการดูแลเสถียรภาพทางการเงิน ต้องชั่งน้ำหนักระหว่างผู้กู้และผู้ออม โดยเฉพาะในภาวะที่ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ที่ต้องสร้างความมั่นคงในการออมมากขึ้น ไม่ใช่ส่งเสริมก่อหนี้เพื่อกระตุ้นการบริโภค

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!