ทำไม “ความเหลื่อมล้ำ” ถึงเป็นคำฮิต ?

คอลัมน์ แตกประเด็น

โดย รัชดา เจียสกุล บ.โบลลิเกอร์ แอนด์ คอมพานี (ประเทศไทย)

ช่วงนี้ดราม่าเรื่องความเหลื่อมล้ำมาแรง ดิฉันจะไม่ขอพาดพิงความหวังดีของ คุณบรรยง พงษ์พานิช หรือความน่าเชื่อถือของรายงานเครดิต สวิส หรือความน่าตื่นเต้นของการชี้แจงจากสภาพัฒน์ หรือการอุตส่าห์โยงเรื่องคุณทักษิณ ของ ท่าน ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล แต่อยากจะแตกประเด็นว่า การยกเรื่องความเหลื่อมล้ำขึ้นมานี้เป็นเครื่องมือที่น่ากลัว ที่จะสร้างความเกลียดชังในสังคมต่อไปหรือไม่ ? หรือเราต้องเริ่มมีนโยบายเพื่อลดความเหลื่อมล้ำอย่างจริงจังแล้ว ?

ดิฉันไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านรัฐศาสตร์ แต่ระยะหลังเริ่มสนใจว่าทำไมรัฐบาลของบางประเทศถึงมีนโยบายแสนอันตราย ? หรือทำไมนักการเมืองที่มีนโยบายแบบสุดโต่งถึงได้รับการเลือกตั้งมาดำเนินนโยบายสุดโต่งแบบกู่ไม่กลับ เช่น เรื่อง Brexit นโยบายก่อสงครามการค้า หรือแม้กระทั่งนโยบายรับจำนำข้าวทุกเมล็ด ? คำตอบคือทุกอย่างล้วนแล้วแต่เป็นเรื่อง “ประชานิยม”

ก่อนคำว่า “ความเหลื่อมล้ำ” แต่ก่อนเราเคยฮิตคำว่า “ประชานิยม” ฝรั่งเขาใช้คำว่า “populism” ซึ่งคำว่าประชานิยม สมัยก่อนที่เราคุ้นชินก็น่ารัก น่ารัก กุ๊กกิ๊กดี ประมาณว่าเอาเงินมาแจก ๆ กัน

ทำสิ่งที่คนชอบเยอะ ๆเช่น ขึ้นรถเมล์ฟรี ฟรีค่าน้ำค่าไฟ แจกเงินไปซื้อของใช้จำเป็น แจกเมล็ดพันธุ์ต้นกล้าพืชผลการเกษตร 30 บาทรักษาได้ทุกโรค จะเห็นว่าแนวนี้ ปัจจัยสี่ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค ต้องดูแลให้ครบ มาแนวนี้น่าจะดีนะคะมีศัพท์เทคนิคของประชานิยมแบบนี้

ว่า “ประชานิยมแบบมีส่วนร่วม” หรือ “inclusionary populism” โดยเฉพาะในยุค 4.0 ที่น่ากังวลว่าเทคโนโลยี 4.0 จะมาแย่งงานมนุษย์ ถึงกับมีการพูดถึงแนวคิดการให้ universal income หรือให้รัฐจ่ายเงินเดือนฟรี ๆ ให้ประชาชน

คำว่า “ประชานิยมแบบมีส่วนร่วม” นี้ คือการดึงประชาชนที่อยู่ชายขอบ ที่มีโอกาสน้อย เข้ามารับสวัสดิการให้มากขึ้น สร้างความอยู่ดีกินดีให้เขา เพื่อแลกคะแนนเสียง ให้นักการเมืองที่เสนอนโยบาย “ประชานิยมแบบมีส่วนร่วม” ได้ขึ้นสู่อำนาจ ที่แจกคนละ 500 นี่ก็น่ารักกุ๊กกิ๊กแนว “ประชานิยมแบบมีส่วนร่วม” นี่เอง

แต่ในยุคหลังการขึ้นสู่อำนาจ หรือสู่ตำแหน่งประธานาธิบดี ของคุณทรัมป์ นี่สิคะ คำว่า “ประชานิยม” ถูกนำมาไฮไลต์ใหม่ แต่กลับเป็นการวิเคราะห์ในมุมกลับ จาก “ประชานิยมแบบมีส่วนร่วม” กลับกลายเป็น “ประชานิยมแบบกีดกัน”หรือภาษาฝรั่งว่า exclusionary populism

ช่วงหลังมานี่ เราจะเริ่มเห็นความสำเร็จของ “ประชานิยมแบบกีดกัน” สายดาร์กมากขึ้น เช่น ความสำเร็จของคุณทรัมป์ ที่เกิดจากกล้าพูด

สิ่งที่ชาวชนบทอเมริกันคิด แต่ไม่กล้าพูด ว่าไม่อยากต้อนรับแรงงานจากเม็กซิโก ไม่อยากต้อนรับผู้อพยพ หรือความสำเร็จของกลุ่มผู้สนับสนุน Brexit ที่เรียกร้องอำนาจอธิปไตยของสหราชอาณาจักร กลับคืนจากสหภาพยุโรป

ที่สำคัญ คือ นโยบาย “ประชานิยมแบบกีดกัน” สายดาร์กนี้ ล้วนแล้วแต่พยายามสร้างความเกลียดชังต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง คนใดคนหนึ่ง หรือคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง โดยเฉพาะกลุ่มอิทธิพล หรือภาษาอังกฤษเรียกกลุ่ม “elites” หรือภาษาการเมืองไทยเรียก “อำมาตย์” ที่น่าขำคือ ขนาดมหาเศรษฐีอย่างคุณทรัมป์ ยังรังเกียจอำมาตย์ ซึ่งในกรณีของเขา คือ พวกนักการเมือง สื่อมวลชน กลุ่มผลประโยชน์ ล็อบบี้ยิสต์ บริษัทด้านเทคโนโลยีสำคัญในซิลิคอนวัลเลย์ และผู้จัดการกองทุน เมื่อกลางปีนี้มีงานวิจัยด้านรัฐศาสตร์

ที่น่าสนใจฉบับหนึ่ง ชื่อเรื่อง “An Unlikely Populist : Donald Trump and the Rhetoric of Elite and Minor” หรือแปลเป็นไทยว่า “เป็นเขาได้ไง นายคนนี้หรือคือผู้นำลัทธิประชานิยม ? : วาทศาสตร์ เรื่องอำมาตย์ และชนกลุ่มน้อยของคุณทรัมป์” งานวิจัยนี้ได้นับว่าตลอดเวลาช่วงเลือกตั้ง

คุณทรัมป์ใช้ศัพท์แสง แนวประชานิยมแบบกีดกันไปกี่ครั้ง โดยได้มีการระบุว่ามีศัพท์แสงอยู่เพียง 10 กว่าแนว ที่ทำให้เขาได้รับการเลือกตั้ง

ดิฉันอยากนำมาเล่าสู่กันฟัง เพื่อสร้างความหรรษา อยากให้ลองไปทำตารางบิงโก เวลาฟังนักเลือกตั้งในประเทศไทยได้ใช้ศัพท์แสงแบบคุณทรัมป์ แนวประชานิยมแบบกีดกันสายดาร์กดังนี้ค่ะ

คำฮิต เช่น “the elite” หรือถ้าเป็นไทยคงใช้ “กลุ่มทุนใหญ่” หรือ “กลุ่มอำมาตย์” อันนี้คุณทรัมป์ใช้ไป 882 ครั้ง และเป็นที่น่าสังเกตว่า

คุณทรัมป์นี่ใช้ภาษาหยาบคาย ระหว่างหาเสียงเลือกตั้งไป 117 ครั้ง มีการใช้คำว่า “common sense” “crisis of representation” “nonegotiation” “no compromise” รวมกันไปหลายร้อยคำ มีการวิเคราะห์ว่ามีการใช้ภาษาแบบไม่หลีกเลี่ยงการดูหมิ่นหรือการสร้างความขุ่นเคือง เรื่องเพศ ผิว วัฒนธรรม ผู้พิการ หรือ antipolitical correctness และโจมตีคู่แข่งประหนึ่งเป็นคนชั่วร้ายเลวทราม ตลอดเวลา

บทความนี้ต้องการสร้างความบันเทิง ในการติดตามวิวัฒนาการของประชานิยมรูปแบบต่าง ๆ แต่ขณะเดียวกันก็มิได้เห็นว่าการให้ความสำคัญกับเรื่องความเหลื่อมล้ำควรถูกละเลย แต่เราควรรู้ทันว่าการยกประเด็นความเหลื่อมล้ำขึ้นมานั้น เพียงเพื่อสร้างความเกลียดชังเพื่อหวังผลทางการเมือง หรือมีข้อเสนอเชิงนโยบายอะไรที่น่าสนใจ

ดิฉันสนใจนโยบายลดความเหลื่อมล้ำโดยเลิกใช้เงินสด หรือ cashless society ของอินเดีย หรือนโยบายการเปิดเผยข้อมูลการยื่นภาษีของทุกคนในประเทศของประเทศฟินแลนด์ ดิฉันสนใจข้อเสนอการใช้เทคโนโลยีมาลดความเหลื่อมล้ำ การเพิ่มทักษะเปลี่ยนทักษะประชาชนในสาขาที่อ่อนไหว และการออกแบบสวัสดิการทางสังคมตลอดช่วงชีวิต (whole life social protection)

ดิฉันรอฟังความคิดเห็นต่อนโยบายเพื่อลดความเหลื่อมล้ำเหล่านี้ จากนักเลือกตั้งไทยรอบนี้ค่ะ

 

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!