ต่างด้าวในอุตสาหกรรมไทย “แต้มต่อหรือแค่ถ่อค้ำ”

คอลัมน์ เปิดมุมมอง

อภิยุกต์ อํานวยกาญจนสิน กองวิจัยเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

จากที่ประเทศไทยมีระดับการพัฒนาที่สูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะทางด้านผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศไทย (GDP) รายได้ประชากรและค่าจ้างแรงงานที่แตกต่างกันค่อนข้างมาก ทำให้เกิดช่องว่างทางเศรษฐกิจระหว่างกันมาก จึงทำให้เกิดการเคลียร์ย้ายแรงงานโดยมีแรงงานต่างด้าวอพยพจากประเทศเพื่อนบ้านหลั่งไหลเข้ามาทำงานประเทศไทย โดยเฉพาะการเข้ามาประกอบอาชีพด้านเกษตรกรรม ประมง ผู้รับใช้ในบ้าน กรรมกร รวมถึงงานที่มีความเสี่ยงโรงงานอุตสาหกรรมหลายประเภท ซึ่งหาแรงงานคนไทยได้ยาก

ช่วงที่ผ่านมาภาครัฐออกกฎหมายว่าด้วยการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว 2 ฉบับ ได้แก่ “พระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560” มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 23 มิถุนายน 2560 และ “พระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2561 มีผลบังคับใช้ 28 มีนาคม 2561 เพื่อให้มีการใช้ระบบอนุญาตเพียงเท่าที่จำเป็น และกำหนดกระบวนการในการควบคุมและตรวจสอบการนำคนต่างด้าวเข้ามาทำงาน การทำงานของคนต่างด้าว การรับคนต่างด้าวเข้าทำงานให้ง่ายและสะดวกยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม ในส่วนของภาคอุตสาหกรรมยังมีข้อถกเถียงกันอยู่ว่า แรงงานต่างด้าวในภาคอุตสาหกรรมถือเป็นแต้มต่อที่ผู้ประกอบการไทยมีอยู่จริงหรือไม่

กลุ่มแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ (เมียนมา ลาว และกัมพูชา) มีสัดส่วนประมาณร้อยละ 90 ของคนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตทำงานทั่วราชอาณาจักร เป็นส่วนขับเคลื่อนที่สำคัญให้กับเศรษฐกิจและภาคอุตสาหกรรมไทย

ข้อมูลแรงงานต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตทำงานคงเหลือทั่วราชอาณาจักร จากสำนักบริหารแรงงานต่างด้าว กรมการจัดหางาน ณ เดือนมีนาคม 2561 มีทั้งสิ้น 2,189,868 คน แบ่งตามพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวฯประกอบด้วย (1) คนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตทำงาน มาตรา 59 ประเภทตลอดชีพ 241 คน (2) คนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตทำงาน มาตรา 59 ประเภททั่วไป 109,019 คน (3) คนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตทำงาน มาตรา 62 ประเภทส่งเสริมการลงทุน 45,062 คน

(4) คนต่างด้าวที่ได้รับใบอนุญาตทำงาน มาตรา 63 ประเภทชนกลุ่มน้อย 61,068 คน (5) คนต่างด้าว มาตรา 64 ซึ่งหมายถึงคนต่างด้าวสัญชาติเมียนมา ลาว และกัมพูชา ที่เข้ามาทำงานบริเวณชายแดนในลักษณะไป-กลับ หรือตามฤดูกาล 21,093 คน (6) คนต่างด้าว มาตรา 59 พิสูจน์สัญชาติ ซึ่งผ่านการพิสูจน์สัญชาติและปรับสถานะการเข้าเมืองถูกกฎหมายเรียบร้อยแล้ว 1,1,315,615 คน และ (7) คนต่างด้าว มาตรา 59 นำเข้าตาม MOU 637,770 คน ทั้งนี้ จำนวนแรงงานต่างด้าวในข้อ (6)

และ (7) รวมกันมีทั้งสิ้น 1,953,385 คน ซึ่งมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 90 ของคนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตทำงานทั่วราชอาณาจักร กลุ่มแรงงานสัญชาติเมียนมา ลาว และกัมพูชา อยู่ในภาคอุตสาหกรรมมากที่สุดคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 37.37 โดยอยู่ในอุตสาหกรรมกิจการต่อเนื่องการเกษตรมากที่สุด ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญในการเลือกใช้แรงงานต่างด้าวก็เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันในระยะสั้น

จำนวนแรงงานต่างด้าวในข้อ (6) และ (7) ดังที่ได้กล่าว ซึ่งจัดรวมเป็นกลุ่มแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ (เมียนมา ลาว และกัมพูชา) ประกอบด้วย สัญชาติเมียนมามากที่สุด 1,398,656 คน คิดเป็นร้อยละ 71.6 ลาว 180,168 คน สัดส่วนร้อยละ 9.22 และกัมพูชา 374,561 คน คิดเป็นร้อยละ 19.17 ของกลุ่ม พิจารณาจำแนกตามประเภทกิจการ กลุ่มแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติอยู่ในภาคอุตสาหกรรมมากที่สุดร้อยละ 37.37 รองลงมาคือ ภาคก่อสร้างร้อยละ 17.27 และภาคการค้า ร้อยละ 14.51 เป็นต้น

การใช้แรงงานต่างด้าวอาจจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ฉุดรั้งไม่ให้มีความก้าวหน้า หรือการพัฒนาในการลงทุนเชิงนวัตกรรมในระบบเศรษฐกิจไทย ซึ่งมีรายงานการศึกษาเชิงประจักษ์ที่สนับสนุนแนวความคิดในประเด็นดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม ด้วยปัจจัยทางด้านภูมิศาสตร์ ประเทศไทยรายล้อมด้วยประเทศที่มีฐานะทางเศรษฐกิจด้อยกว่า เช่น เมียนมา ลาว และกัมพูชา ทำให้มีโอกาสดีกว่าประเทศอื่นในการเข้าถึงแหล่งแรงงานราคาถูก อาจเป็นปัจจัยฉุดรั้งไม่ให้มีความก้าวหน้าหรือการพัฒนาในการลงทุนเชิงนวัตกรรมในระบบเศรษฐกิจไทยผู้ประกอบการอาจพอใจใช้แรงงานต่างด้าวราคาถูก ไม่มีแรงกระตุ้นพัฒนาธุรกิจให้สามารถแข่งขันได้ดีขึ้น หรือภายใต้สมมุติฐานว่าจะมีแรงงานข้ามชาติราคาถูกพร้อมทำงานอยู่ตลอดไป จะเป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจลงทุนเพิ่มในวิสาหกิจที่ใช้แรงงานฝีมือระดับล่างอย่างเข้มข้น แต่นักเศรษฐศาสตร์เชื่อว่าการที่วิสาหกิจต้องพึ่งพิงการใช้แรงงานราคาถูกในระยะเวลายาวนานจะไม่จูงใจ ปรับตัวให้มีประสิทธิภาพ

ส่งผลให้ผลิตภาพของแรงงานต่ำลง ค่าจ้างโดยส่วนรวมจะลดลง ในที่สุดจะนำไปสู่มาตรฐานการครองชีพที่ตกต่ำลงด้วย

กล่าวโดยสรุป ภาคอุตสาหกรรมไทยยังคงต้องพึ่งพิงแรงงานต่างด้าวจำนวนมาก เพื่อมาทดแทนในตำแหน่งที่แรงงานไทยไม่ทำหรืออาจจะหาได้บ้างแต่ต้องจ่ายค่าแรงงานที่สูงและเงื่อนไขการทำงานที่มีมากขึ้น หรืองาน 3 D คือกลุ่มงานที่ยาก (dif-ficult) อันตราย (dangerous) และสกปรก (dirty) โดยแรงงานต่างด้าว 1 ใน 3 ที่อยู่ในไทยทำงานอยู่ในภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตฯแปรรูปสินค้าเกษตร เครื่องนุ่งห่ม และแปรรูปอาหารทะเล ซึ่งประเทศไทยมี “แต้มต่อ” หรือมีโอกาสดีกว่าประเทศอื่น ๆ ในอาเซียนในการเข้าถึงแหล่งแรงงานราคาถูกจากปัจจัยทางด้านภูมิศาสตร์

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่สำคัญยิ่งอีกประการหนึ่งในการจ้างแรงงานต่างด้าวโดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรม ก็เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันในระยะสั้นเปรียบเสมือน “ถ่อค้ำ” ระหว่างที่กำลังพยายามเปลี่ยนผ่านไปสู่การผลิตสินค้าที่ใช้ทักษะฝีมือแรงงานมากขึ้น และมีเครื่องจักรเกี่ยวข้องเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มอุตฯที่ใช้แรงงานเข้มข้น รวมถึงผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs)

นักเศรษฐศาสตร์เชื่อว่า การที่วิสาหกิจต้องพึ่งพิงการใช้แรงงานราคาถูกในระยะเวลายาวนาน จะไม่จูงใจให้ธุรกิจปรับตัวให้มีประสิทธิภาพ ทำให้ไม่ไปลงทุนทั้งในด้านการฝึกอบรมและเทคโนโลยี ดังนั้น การดำเนินนโยบายด้านแรงงานต่างด้าวของไทยโดยเฉพาะในช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่การผลิตที่ใช้เทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์ และนวัตกรรม ตามนโยบายประเทศไทย 4.0 จึงเป็นสิ่งที่นักเศรษฐศาสตร์และผู้กำหนดนโยบายทางเศรษฐกิจในหน่วยงานภาครัฐควรให้ความสำคัญและความสนใจเป็นอย่างยิ่ง

ท้ายที่สุดการที่ภาครัฐออกกฎหมายว่าด้วยการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว 2 ฉบับดังกล่าว จึงอาจจะเป็นกุศโลบายจากภาครัฐให้ผู้ประกอบการโดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น

และกลุ่ม SMEs ใช้แรงงานต่างด้าวเท่าที่จำเป็น และค่อย ๆ ทยอยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในด้านอื่น ๆ ที่เป็นปัจจัยส่งเสริมการเจริญเติบโตในระยะยาว อาทิ การพัฒนาเครื่องจักร เทคโนโลยี นวัตกรรม เพื่อนำพาประเทศก้าวข้าม “กับดักของประเทศรายได้ปานกลาง (middle income trap)” ก้าวสู่ “ประเทศรายได้สูง” ที่ “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน”

 

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!