สวัสดี “ปีกุน” คนไทยอย่าก่อหนี้ (ดิน) พอกหางหมู

คอลัมน์ ชั้น 5 ประชาชาติ

โดย วิไล อักขระสมชีพ

เข้าสู่ฟ้าใหม่ปี 2562 ชีวิตเริ่มต้นปีกุน (หมู) กลิ่นอายวันปีใหม่ก็ยังอบอวลอยู่ในชั้นบรรยากาศแห่งความชื่นมื่นสุขสดใส อิ่มเอิบใจที่ได้เจอะเจอญาติพี่น้องเพื่อนพ้อง คำอวยพรก็จะหลั่งไหลส่งถึงกันมากล้น ต้นปีถือเป็นช่วงเวลาที่ทุกคนมีพลังความคิดบวก หลาย ๆ คนก็มีแผนชีวิตที่อยากจะทำ หรือสานความฝันหรือก้าวไปตามเป้าหมาย

แต่ไม่ว่าจะอย่างไร ชีวิตก็ต้องเดินหน้าต่อไปและไม่ประมาทเมื่อเจอมรสุมชีวิตผ่านมา ก็รีบฟื้นตัวเองกลับมาให้เร็วเท่าที่พลังชีวิตมีอยู่ในเวลานั้น ๆ แบบทางพุทธศาสนาที่เรียกว่า “อยู่กับปัจจุบัน” นั่นก็็คือพยายามรั้งสติตัวเองให้อยู่กับตัวเองมากที่สุดและแก้ปัญหาให้ผ่านไป

ย้อนไปช่วงปลายปีที่แล้ว มีเสียงเตือนกันว่า ปีนี้จะเป็นอีกปีที่มีความผันผวนสูงต่อเนื่องไล่เรียงเรื่องต่าง ๆ จากระดับโลกมาถึงรายประเทศ และจะยังมีเซอร์ไพรส์ให้เห็นได้ตลอด โดยเฉพาะส่งผลสะท้อนต่อเศรษฐกิจโดยเฉพาะปากท้องผู้คน เพราะโลกดิจิทัลเข้ามาครอบงำจะยิ่งทำให้วัฏจักรสั้นลง จะเห็นการแกว่งตัวแบบ “โล้ชิงช้า” ไหวไปไหวมาให้มึนตึ้บและผู้คนก็จะหยิบยกให้ปีนี้เป็นปีหมูทองบ้าง สำหรับคนที่ได้เจอะเจอสิ่งดี ๆ เข้ามาในชีวิต คนที่เจอเรื่องไม่คาดฝันหรือเรื่องไม่ดี ก็จะเรียกปีหมูป่าบ้าง หมูไฟบ้าง มีหลากหลายอารมณ์

แต่ที่แน่ ๆ สำหรับคนที่มีหนี้สินรุงรัง คงต้องบอกว่าเป็น “ปีที่ไม่หมู” แน่นอน เพราะจุดตายของคนมีหนี้ คือ มีรายได้แต่ไม่พอจ่ายดอกเบี้ยกู้ที่กำลังกลับมาสู่ภาวะ “ดอกเบี้ยขาขึ้น” อีกครั้ง

หลังจากที่เมื่อกลางเดือน ธ.ค. 61 แบงก์ชาติทิ้งทวนด้วยการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายราว 0.25% ขึ้นมาอยู่ที่ 1.75% ในรอบ 7 ปีนับจากปี 2554 พร้อมกับเสียงที่ดังตามมาว่า ดอกเบี้ยในตลาดจะปรับตัวเพิ่มขึ้นตามแน่นอน และดอกเบี้ยที่น่ากลัวสุดก็คือ “ดอกเบี้ยเงินกู้” เพราะต้องหาเงินมาจ่ายส่วนของดอกเบี้ยกู้ที่เพิ่มขึ้น ขณะที่เงินต้นก็แบกหนักจะลดได้ทีละน้อย ไม่ว่าจะภาคธุรกิจ หรือตัวบุคคล ก็ย่ำแย่กันได้ทั้งนั้น

แต่มุมของผู้ว่าการ ธปท. “ดร วิรไท สันติประภพ” ก็แจกแจงว่า การขึ้นดอกเบี้ยครั้งนี้เชื่อว่าตอนนี้สภาพคล่องในระบบยังสูง แบงก์ไม่ควรขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้อ้างอิง ซึ่งเป็นพวกตระกูล M ต่าง ๆ

ไม่ว่าจะเป็นอัตราดอกเบี้ย MLR (อัตราดอกเบี้ยที่เรียกเก็บจากลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี), MOR (อัตราดอกเบี้ยที่เรียกเก็บจากลูกค้ารายใหญ่ชั้นดีประเภทเงินเบิกเกินบัญชี) และ MRR (อัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารพาณิชย์เรียกเก็บจากลูกค้ารายย่อยชั้นดี) เช่น สินเชื่อที่อยู่อาศัย เป็นต้น

ด้านนายแบงก์ใหญ่ “นายเดชา ตุลานันท์” ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพก็บอกว่า เราจะไม่เป็นผู้นำในการขึ้นดอกเบี้ยแน่ แต่สมาคมธนาคารไทยจะมีการหารือกันในต้นปี”62

นายบัณฑูร ล่ำซำ ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ธนาคารกสิกรไทย ก็บอกว่าจะไม่เป็นผู้นำขึ้นดอกเบี้ยเช่นกัน

ขณะที่ธนาคารไทยพาณิชย์ที่ทำกำไรสุทธิสูงสุดในกลุ่มมาหลายปี ทางซีอีโอ “นายอาทิตย์ นันทวิทยา” ก็อยู่ใน safe zone เช่นเดียวกับแบงก์อื่น ๆ

ส่วนแบงก์กรุงไทยไม่มีทางขึ้น (ดอกเบี้ย) ก่อนอยู่แล้ว เพราะเป็นแขนขาของรัฐบาลอยู่แล้ว ส่วนกำไรเชิงพาณิชย์ เป็นเรื่องรองตามนโยบายของ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี สั่งมาตอนเยือนแบงก์กรุงไทย

แต่อย่างไรก็ตาม แบงก์คงจะชะลอการขึ้นดอกเบี้ยได้เพียงช่วงระยะสั้นเท่านั้น จากนั้นก็จะเห็นแบงก์ต้อง “ขยับขึ้น”

ดอกเบี้ยเงินกู้อยู่แล้วเพราะแบงก์ทำธุรกิจเชิงพาณิชย์ จึงจำเป็นต้องหารายได้จากดอกเบี้ยมาชดเชยรายได้จากค่าธรรมเนียม (ค่าฟี) ที่หายไปเยอะ หลังจากที่อีเพย์เมนต์เกิดขึ้นมามีทั้งพร้อมเพย์ คิวอาร์โค้ด และช่องทางใหม่ ๆ ที่ทำให้มีการแข่งขันสูง จนนำไปสู่ฟรีค่าทำธุรกรรมโอน-จ่าย แม้รายได้ค่าฟีจะลดหายเยอะ แต่แบงก์ก็ยังทำรายได้ทะลุหลักแสนล้านบาทกัน พร้อมกับโกยกำไรอู้ฟู่กันไปหลายหมื่นล้านบาททีเดียว และก็คงจะโกยรายได้-กำไรในปี”61 ต่อเนื่องไปอีก

ยิ่งปี”62 แบงก์เตรียมปล่อยกู้ตรงผ่านช่องทางออนไลน์ให้แก่ลูกหนี้รายบุคคลอีก ก็จะยิ่งเห็นตัวเลขหนี้ภาคครัวเรือนเพิ่มขึ้นอีก และยิ่งเรื่องมาตรการคุมเข้มสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ที่จะมีผลบังคับใช้ 1 เม.ย. 62 ก็จะทำให้คนที่ซื้อบ้านเร่งกู้เพื่อรับโอนบ้านกัน นอกจากนี้ ยังมีโปรเจ็กต์แบงก์รัฐที่ออกมาเอาใจชาวรากหญ้ากัน ไม่ว่าจะเป็นบ้านล้านหลังของ ธอส. แบงก์ออมสินก็มีสินเชื่อ

กลุ่มผู้ใช้แรงงาน เอสเอ็มอีแบงก์ก็มีสินเชื่อผู้ประกอบการอีก ซึ่งก่อนหน้าสภาพัฒน์ก็เคยให้ตัวเลขหนี้ครัวเรือน 12.34 ล้านล้านบาท (ไม่รวมหนี้นอกระบบ หนี้ กยศ.) ซึ่งเป็นแค่ตัวเลขสิ้นเดือน มิ.ย. 61 เท่านั้น และยังไม่รวมหนี้นอกระบบ และยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีก

ดูท่าทีปีนี้สัญญาณก่อหนี้ครัวเรือนจะเห็นภาพลูกหนี้แบกภาระหนี้บวมเบ่งเหมือน “ดินพอกหางหมู” แน่แท้

หากถามหาทางออกเรื่องนี้ ถ้าระดับประเทศก็คงแก้ยากและต้องใช้เวลา แต่แบงก์ชาติก็มี “คลินิกแก้หนี้” ที่รอให้บริการอยู่ แม้ที่ผ่านมายังดูแป้ก ๆ แต่ก็ต้องช่วยกันเข็น เพราะหากปล่อยให้ “หนี้ครัวเรือน” บานตะไท ก็จะยิ่งสะสมจุดเปราะบางของเศรษฐกิจไทยยิ่งขึ้น ท่ามกลางภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น

แต่จะให้ดีที่สุด ควรมีสติในการก่อหนี้ และก่อหนี้ให้น้อยที่สุด เพื่อความรอดอย่างมั่นคง

 

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!