มหากาพย์ 5G

คอลัมน์ สามัญสำนึก

โดย ดิษนีย์ นาคเจริญ

 

นอกจากนโยบายไทยแลนด์ 4.0 เพื่อขับเคลื่อนผลักดันให้ทุกภาคส่วนใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างจริงจังแล้ว รัฐบาลชุดนี้นำโดยรองนายกรัฐมนตรี “ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” ยังต้องการปักธงให้ประเทศไทยกดปุ่มเปิดบริการ 5G ให้ได้ในปี 2563 ด้วยเห็นว่า หากช้าไปกว่านี้อุตสาหกรรมต่าง ๆ มีสิทธิตามโลกไม่ทัน ด้วยว่าหลายประเทศในโลก โดยเฉพาะ “จีน” กำลังจะเปิดบริการในปี 2562 นี้แล้ว

บรรดายักษ์ผู้ผลิตอุปกรณ์โทรคมนาคมทั้งหลายขานรับกันถ้วนหน้า ขณะที่ค่ายมือถือ 2 ใน 3 ราย นำโดย “เอไอเอสและทรูมูฟ เอช” รับลูกทันควัน แต่เฉพาะแค่การเปิดทดสอบระบบร่วมกับผู้ผลิตอุปกรณ์เท่านั้น

แม้จะรู้อยู่แก่ใจว่าคงไม่เห็นบริการจริงในเร็ววันนี้แน่ ๆ แต่การรักษาภาพลักษณ์เรื่องความทันสมัยก็สำคัญ จึงไม่มีใครยอมใครในเรื่องนี้

แต่ถ้าหวังจะให้ลงทุนจริงจังคงอีกนาน เพราะแต่ละเจ้าเพิ่งจ่ายค่าคลื่น 900/1800 MHz และลงทุนบริการ 4G กันไปรายละนับแสนล้านบาท จึงเร็วไปที่ใครจะอยากลงทุนเพิ่มโดยเฉพาะบนเงื่อนไขการประมูลคลื่นแบบเดิม ๆ

โดย “วีรวัฒน์ เกียรติพงษ์ถาวร” หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านธุรกิจสัมพันธ์และองค์กร บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) อธิบายว่า 5G เป็นเทคโนโลยีสำหรับภาคอุตสาหกรรม ส่วน 4G เป็นเทคโนโลยีสำหรับผู้บริโภคจึงต้องมองด้วยว่าอุตสาหกรรมต่าง ๆ ของไทยพร้อมมากน้อยแค่ไหน ประกอบกับไทยเป็นประเทศ “ผู้ซื้อ” ไม่ใช่ “ผู้ผลิต” จึงต้องลงทุนอย่างฉลาด ทั้ง 4G ยังเติบโตได้อีกมาก

ฟากแม่ทัพกลุ่มทรู “วิเชาวน์ รักพงษ์ไพโรจน์” กล่าวว่า รัฐบาลจีนปักธงว่า 5G จีนต้องแซงสหรัฐอเมริกา จึงให้ใช้คลื่น 160 MHz ได้ฟรี เพราะมองว่า 5G ทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น รัฐบาลเก็บภาษีจากธุรกิจได้ดีขึ้น

ขณะที่ในไทยก่อนหน้านี้กับการประมูลคลื่น 10 MHz เป็นเงิน 76,000 ล้านบาทและ 5G ต้องใช้แถบคลื่นถึง 100 MHz หมายถึงต้องจ่ายเงินค่าคลื่นถึง 760,000 ล้านบาท ใช่หรือไม่ ถ้าใช่ 5G คงไม่มีทางเกิดได้แน่

ชัดเจนว่าค่ายมือถือบ้านเรายังไม่คิดลงทุน 5G ในเร็ววันนี้แน่ หากกฎ กติกา ในการได้มาซึ่งคลื่นความถี่ยังคงเดิม

“ค่าคลื่น” เป็นประเด็นใหญ่ นอกเหนือไปจากว่าแต่ละเจ้ายังอยู่ในช่วงเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากการลงทุน 4G ดังนั้นที่แอ็กทีฟอย่างยิ่ง หนีไม่พ้น “กสทช.”

“ฐากร ตัณฑสิทธิ์” เลขาธิการ กสทช. ย้ำว่า การสนับสนุนนโยบายรัฐบาลเพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติเรื่อง 5G เป็นภารกิจสำคัญที่ต้องผลักดันให้เกิดเร็วที่สุด จึงจะทบทวนการประเมินมูลค่าคลื่นใหม่ รวมถึงเงื่อนไขและระยะเวลาการจ่ายเงินค่าประมูล เพื่อให้สะท้อนความต้องการที่แท้จริง และสร้างแรงจูงใจในการลงทุนของภาคเอกชน

เป็นไปได้ที่จะใช้การประมูลแบบหลายย่านคลื่นพร้อมกัน รวมถึงการแบ่งรูปแบบใบอนุญาตออกเป็นแบบให้บริการทั่วประเทศ และแบบครอบคลุมเฉพาะพื้นที่ เช่น ใน EEC

“กสทช.” มองไกลไปถึงขั้นว่า เป็นการ set zero คลื่นโทรคมนาคม โดยอธิบายว่า 5G จะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่ขึ้นอยู่กับเอกชน ขณะที่ภาครัฐเป็นแค่ “ผู้สนับสนุน”

แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานที่ “รัฐไม่เสียประโยชน์” และช่วยแก้ปัญหาทั้งโทรคมนาคมและบรอดแคสต์ที่เกี่ยวพันกันได้ เช่น หากนำคลื่น 700 MHz ซึ่งทีวีดิจิทัลใช้อยู่มาประมูลใช้ด้านโทรคมนาคม รวมถึงผ่อนคลายเงื่อนไขการชำระเงินค่าประมูลคลื่นให้ผู้ประกอบการโทรคมนาคม ก็จะมีรายได้ไปเยียวยาผู้ประกอบการบรอดแคสต์ให้อยู่รอดได้ดีขึ้น

ฟาก “ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์” ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) มองว่า ภาครัฐควรเตรียมความพร้อมด้วยการสร้างกฎ กติกา การกำกับดูแลที่เอื้อให้เกิดแล้วปล่อยให้กลไกตลาดเป็นผู้กำหนดการลงทุน และไม่เห็นด้วยหากจะให้ใช้คลื่นฟรี เหมือนรัฐบาลจีนให้ไชน่าโมบาย เพราะเป็นรัฐวิสาหกิจจึงเป็นแค่เงินจากกระเป๋าซ้ายไปกระเป๋าขวา

“ไม่ได้ห่วงว่า 5G จะไม่เกิด แต่ควรเป็นไปตามความต้องการจริง 5G เป็นเทคโนโลยีอนาคต สักวันจะสำคัญมาก ไม่มีไม่ได้ แต่ไม่ใช่เรื่องจำเป็นเร่งด่วน ควรให้กลไกตลาดที่มีการแข่งขันตัดสิน เพราะจะตัดสินได้อย่างมีเหตุมีผล”

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!