กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เตรียมความพร้อม รับมือเบร็กซิต

คอลัมน์ แตกประเด็น

โดย อรมน ทรัพย์ทวีธรรม

การถอนตัวของสหราชอาณาจักรออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) หรือที่เรียกกันว่า เบร็กซิต (Brexit) นั้น จนถึงบัดนี้ได้ใช้เวลาใกล้ครบ 2 ปีแล้ว โดยเริ่มนับกันเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2560 ซึ่งเป็นวันที่สหราชอาณาจักรยื่นหนังสือแจ้งความจำนงอย่างเป็นทางการต่ออียู ตามผลการลงประชามติเมื่อ 23 มิถุนายน 2559 ที่ร้อยละ 51.9 ของผู้ลงคะแนนทั้งหมด สนับสนุนให้สหราชอาณาจักรออกจากการเป็นสมาชิกอียู (คะแนนลงประชามติส่วนใหญ่ในไอร์แลนด์เหนือ สกอตแลนด์ และลอนดอน สนับสนุนให้คงอยู่ในสหภาพยุโรปต่อไป ในขณะที่ภูมิภาคที่เหลือของอังกฤษและเวลส์สนับสนุนให้ออกจากสหภาพยุโรป)

โดยมีสาเหตุสำคัญจากที่ไม่ต้องการรับภาระหนี้ของประเทศสมาชิกอื่น ปัญหาการไหลเข้าของต่างชาติและผู้อพยพในยุโรป ความต้องการเสรีภาพในการตัดสินใจทำข้อตกลงการค้ากับประเทศอื่นได้เอง ซึ่งตามสนธิสัญญาลิสบอนของอียูกำหนดให้สหราชอาณาจักรต้องออกจากอียูภายใน 2 ปี หรือภายใน 29 มีนาคม 2562 โดยช่วง 2 ปีนี้ทั้งสองฝ่ายจะต้องเจรจากันเพื่อจัดทำความตกลงเกี่ยวกับรูปแบบและเงื่อนไขความสัมพันธ์ใหม่ เพื่อให้การออกจากอียูเป็นไปอย่างราบรื่นเป็นขั้นตอน

อียูเป็นการรวมกลุ่มระหว่าง 28 ประเทศในยุโรป ทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ในลักษณะสถาบันแบบเหนือรัฐ วัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างสันติภาพ และความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ โดยมีการถ่ายโอนอำนาจการบริหารจากประเทศสมาชิกไปสู่อียู มีการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ เงินทุน และคน เสมือนเป็นประเทศเดียวกัน มีสกุลเงินยูโรที่ใช้ใน 19 ประเทศสมาชิก มีการจัดทำและใช้กฎระเบียบร่วมในด้านต่าง ๆ อาทิ งบประมาณ เกษตร ศุลกากร การค้า สิ่งแวดล้อม ขนส่ง สิทธิผู้บริโภค

การออกจากสมาชิกอียูจะทำให้สหราชอาณาจักรต้องออกจากการเป็นตลาดเดียวของอียู ซึ่งหมายถึงไม่มีการเคลื่อนย้ายอย่างเสรีเสมือนประเทศเดียวกันของสินค้า บริการ เงินทุนและคน กับประเทศสมาชิกอียูอีก 27 ประเทศ ไม่ต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบของอียู รวมทั้งยกเลิกพันธกรณีระหว่างประเทศในฐานะประเทศสมาชิกอียูที่ทำกับประเทศต่าง ๆ และองค์กรระหว่างประเทศ

หลังใช้เวลาในการเจรจาระหว่างกันมาปีกว่า เมื่อ 24 พฤศจิกายน 2561 สหราชอาณาจักรและอียูได้ประกาศว่า สามารถสรุปผลการเจรจาความตกลงเกี่ยวกับรูปแบบและเงื่อนไขความสัมพันธ์ในอนาคตได้แล้ว ในชั้นนี้

เหลือรอดำเนินกระบวนการภายในประเทศเพื่อให้สัตยาบันที่จะทำให้ผลการเจรจามีผลใช้บังคับได้ทัน 29 มีนาคม 2562 ซึ่งเป็นวันที่สหราชอาณาจักรต้องออกจากอียู

อย่างไรก็ดี ทั้งสองฝ่ายได้ตกลงให้มีช่วงเวลาเปลี่ยนผ่าน 21 เดือน เริ่มตั้งแต่ 30 มีนาคม 2562 ถึง 31 ธันวาคม 2563 จะเป็นช่วงที่สหราชอาณาจักรยังคงเป็นสมาชิกอียูดั้งเดิมทุกอย่าง แต่ไม่มีอำนาจร่วมการตัดสินใจใด ๆ ในอียู เพื่อให้สหราชอาณาจักรมีเวลาปรับตัวเพียงพอก่อนออกจากอียูเต็มรูปแบบ

รวมทั้งหาแนวทางดำเนินการที่จะไม่กระทบอำนาจอธิปไตยของแต่ละฝ่ายหลังแยกตัวออกจากกัน ขณะเดียวกัน ก็ไม่กระทบกับความตกลงสันติภาพระหว่างไอร์แลนด์ที่จะยังอยู่ในอียูกับไอร์แลนด์เหนือที่จะแยกตัวออกมาพร้อมสหราชอาณาจักร เพื่อหลีกเลี่ยงการตั้งด่านชายแดนบนเกาะไอร์แลนด์ระหว่างกันอย่างถาวร ด้วยกระแสทางการเมืองของฝั่งสหราชอาณาจักรที่ยังมีท่าทีไม่ยอมรับ

ร่างความตกลงฯจากปัญหาสองไอร์แลนด์ และท่าทีของฝ่ายอียูที่ไม่ยอมเปิดโอกาสให้เจรจาปรับร่างความตกลงฯที่สรุปไปแล้วเมื่อ 24 พฤศจิกายน 2561 จึงต้องลุ้นว่าช่วงกลางเดือนมกราคม 2562 รัฐสภาสหราชอาณาจักรจะให้ความเห็นชอบร่างความตกลงฯหรือไม่

หากผลออกมาว่าไม่เห็นชอบ สหราชอาณาจักรจะต้องออกจากการเป็นสมาชิกอียูแบบไม่มีข้อตกลง (Brexit with no deal) กฎหมายและกฎระเบียบของอียูที่บังคับใช้กับสหราชอาณาจักรมากว่า 40 ปี จะสิ้นสุดการบังคับใช้ในสหราชอาณาจักรทันทีโดยไม่มีช่วงปรับตัวใด ๆ ซึ่งอาจกระทบต่อการค้าและการลงทุนระหว่างสหราชอาณาจักรและอียู แต่ทั้งสองฝ่ายก็เตรียมการเพื่อรองรับกับสถานการณ์ฉุกเฉินหากมี “no deal” ด้วย

โดยที่ผ่านมาได้ออกประกาศหลายฉบับ เช่น ด้านการขนส่ง การบริการทางการเงิน ศุลกากรเเละการส่งออกสินค้า เป็นต้น เพื่อสร้างความมั่นใจต่อประชาชน ผู้บริโภค และนักธุรกิจ ในการเตรียมพร้อมรับมือและป้องกันการหยุดชะงักของธุรกิจ โครงสร้างพื้นฐาน บริการสาธารณะ และเศรษฐกิจของประเทศ แต่คงไม่สามารถรองรับผลกระทบทางลบจาก “no-deal” ได้ทั้งหมด

ขณะนี้เหลือเวลาอีก 3 เดือน ก่อนสหราชอาณาจักรจะออกจากการเป็นสมาชิกอียู (Brexit) ปลายเดือนมีนาคม 2562 ซึ่งยังมีความไม่แน่นอนว่าสุดท้ายแล้วความสัมพันธ์ระหว่างสหราชอาณาจักร

และอียูจะลงเอยอย่างไร สร้างความไม่แน่นอนให้เศรษฐกิจการค้าโลก และกระทบความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจ มีผลทำให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรในปี 2561 เเละ 2562 มีแนวโน้มชะลอตัวลง ค่าเงินปอนด์ผันผวนและอ่อนค่าลงจากการขาดความเชื่อมั่นของนักลงทุน

ผลกระทบจากเบร็กซิตต่อไทย ประเมินได้ใน 3 แง่มุม

1.ภาพรวมการค้า สหราชอาณาจักรเป็นคู่ค้าลำดับที่ 18 ของไทย และอันดับที่ 2 จากอียู ปี 2560 มีมูลค่าการค้า 7,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 1.53 ของการค้าทั้งหมดของไทย เบร็กซิตน่าจะมีผลกระทบต่อภาพรวมการค้าไทยไม่มาก รวมทั้งในช่วงแรกกฎระเบียบของสหราชอาณาจักรต่อประเทศที่สาม จะยังใช้แบบเดียวกับอียูก่อน ภาคส่งออกอาจกระทบเล็กน้อยจากความต้องการซื้อที่ลดลงจากการอ่อนค่าลงของเงินปอนด์

2.ผลกระทบรายสินค้า โดยเฉพาะสินค้าที่มีโควตาภาษี เช่น สัตว์ปีกแช่เย็นและแช่แข็ง มันสำปะหลัง และข้าว เมื่อสหราชอาณาจักรออกจากอียูจะต้องแบ่งโควตาภายใต้องค์การการค้าโลก (WTO) ระหว่างอียูกับสหราชอาณาจักร ขณะนี้ไทยอยู่ระหว่างเจรจากับอียู ไม่ให้สูญเสียส่วนแบ่งของตลาดในสหราชอาณาจักรและในอียู3.ผลกระทบเชิงบวก การออกจากอียูอาจเป็นข้อดีต่อไทย เนื่องจากสหราชอาณาจักรต้องเจรจาความตกลงทางการค้ากับคู่ค้าเดิมของอียูและต้องเร่งหาพันธมิตรการค้าใหม่ ๆ อาจเพิ่มโอกาสไทยในการเจรจาความตกลงทางการค้าเสรี ( FTA) ในเวลาที่เหมาะสม อีกทั้งสองฝ่ายได้แสดงความสนใจเข้าร่วมความตกลง CPTPP เหมือนกัน อาจมีความร่วมมือระหว่างกันได้ในอนาคต

สำหรับด้านการลงทุน เป็นโอกาสที่ดีที่จะชักชวนนักลงทุนสหราชอาณาจักรเข้ามาลงทุนในไทย โดยเฉพาะในเขตพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ในสาขาที่เชี่ยวชาญ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเป้าหมาย 12 สาขา (12 S-curve) เช่น การบินและโลจิสติกส์ ยานยนต์สมัยใหม่ ดิจิทัล เป็นต้น เพื่อส่งเสริมและยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมไทยและใช้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิต รวมถึงธุรกิจด้านการศึกษาของสหราชอาณาจักรที่คนไทยให้ความสนใจและยอมรับในคุณภาพ

 

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!