วัดใจรัฐ คุมค่ายา ฤๅโปรยยาหอมก่อนเลือกตั้ง

คอลัมน์ ชั้น 5 ประชาชาติ

โดย กฤษณา ไพฑูรย์

นับเป็นข่าวดีรับต้นปีใหม่ 2562 ของประชาชนตาดำ ๆ อีกครั้ง เมื่อที่ประชุม “คณะกรรมการว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.)” ซึ่งมี นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน ได้มีมติยื่นมือเข้ามาควบคุมเรื่อง “เวชภัณฑ์ บริการรักษาพยาบาล บริการทางการแพทย์ และบริการอื่น ๆ ของสถานพยาบาล” เข้ามาอยู่ในบัญชีควบคุม หลังจากที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากประชาชนที่เข้าไปใช้บริการโรงพยาบาลเอกชนหลายแห่ง และปรากฏให้เห็นในโลกโซเชียลก็มากมายหลายความเห็นเกี่ยวกับ “การปรับขึ้นค่าบริการที่ค่อนข้างโหดขึ้นทุกปี ๆ”

ตัวผู้เขียนเองมีประสบการณ์ตรงในการเข้าไปใช้บริการในโรงพยาบาลรัฐ และโรงพยาบาลเอกชนมาหลายแห่ง และรู้สึกช็อก ! ไปชั่วขณะเกือบทุกครั้งที่เห็นใบเสร็จรับเงินของบรรดาโรงพยาบาลเอกชน ระบุราคาค่ายา ค่าเวชภัณฑ์ ค่าบริการรักษาพยาบาล ค่าบริการทางการแพทย์ และบริการอื่น ๆ ที่มีการปรับเพิ่มขึ้นทุกวัน

โดยเฉพาะช่วงปีที่ผ่านมาได้เคยเข้าไปใช้บริการ “ฉีดวัคซีนโรคพิษสุนัขบ้า” ทั้งโรงพยาบาลรัฐและเอกชนหลายแห่ง ซึ่งเคยเล่าให้ฟังกันไปบ้างแล้วถึงค่าบริการของโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งเพียงครั้งเดียว เข็มเดียว ราคา 6,046 บาท !

ขอเท้าความคร่าว ๆ มีรายละเอียดวงเงิน 6,046 บาท แบ่งเป็นค่ายาผู้ป่วยนอก 3,660 บาท ค่ายาฉีด (บาดทะยัก) 501 บาท ค่าวัคซีน (พิษสุนัขบ้า) 952 บาท เวชภัณฑ์ 83 บาท ค่าบริการการพยาบาล ผู้ป่วยนอก 120 บาท ค่าบริการโรงพยาบาล กรณีผู้ป่วยนอก 80 บาท ค่าตรวจรักษากรณีผู้ป่วยนอก 650 บาท แต่มีการให้ “ส่วนลด” ค่ายาผู้ป่วยนอก 366 บาท ให้ “ส่วนลด” ค่ายาฉีด (บาดทะยัก) 50 บาท เท่ากับจำนวนเงินสุทธิที่ต้องจ่าย 5,630 บาท

แถมเจ้าหน้าที่การเงินของโรงพยาบาลดังกล่าวยังพูดว่า “พี่มีประกันอุบัติเหตุ ไม่ต้องจ่ายเองไม่ใช่หรือ ?”…ทำให้หลายครั้งอดคิดไม่ได้ว่า ยิ่งผู้ป่วยรายใดมี “ประกันสุขภาพ” ยิ่งถูกฟันค่ารักษาพยาบาลหนักขึ้นหรือไม่ ?

จากที่ก่อนหน้านี้หลายเดือนเคยถูกแมวข่วน และไปฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้าที่โรงพยาบาลรัฐแห่งหนึ่งในต่างจังหวัด เสียค่าวัคซีนเพียง 102 บาท

และล่าสุดโค้งสุดท้ายปลายปี 2561 แจ็กพอต “ไส้ติ่งอักเสบ” ต้องผ่าตัดด่วน โดยช่วงเช้าได้พาตัวเองเข้าไปใช้บริการโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งที่อยู่ไม่ไกลจากบ้านมากนัก ตั้งแต่ก่อน 10 โมงเช้า แต่กว่าผลการตรวจจะสรุปออกมาปาเข้าไปเกือบบ่าย 3 โมงเย็นว่าต้อง “ผ่าตัดด่วน”…เวลารอคอยอันยาวนาน จนไม่อยากเชื่อว่า นี่คือ โรงพยาบาลเอกชน !

ที่สำคัญกว่านั้น เมื่อสอบถามเจ้าหน้าที่ว่าค่าผ่าตัดเท่าไหร่ ? ถึงกับช็อก ! 80,000-90,000 บาท ราคานี้อาจยังไม่รวมค่าบริการรักษาพยาบาล ค่าบริการทางการแพทย์ และบริการอื่น ๆ ค่าห้องพักฟื้น ฯลฯ ซึ่งคงคาดเดาได้ไม่ยากว่าต้องเตรียมเงินไว้ไม่ต่ำกว่า 150,000 บาท ! หรือมากกว่านั้น

แม้จะมีประกันชีวิตส่วนตัว และประกันสุขภาพกลุ่มออฟฟิศ แต่รู้สึกไม่ค่อยมั่นใจกับการรักษาพยาบาล และบริการที่ได้รับ ดังนั้น จึงรีบพาตัวเองไปรักษายังโรงพยาบาลรัฐขนาดใหญ่ระดับต้น ๆ ของประเทศ ที่คิดค่าผ่าตัดเพียง 10,000 บาท

แม้หลายคนอาจจะคิดว่า ไม่ต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลเองทุกครั้งที่ป่วยไข้ เพราะทำประกันสุขภาพและอุบัติเหตุไว้ แต่อย่าลืมว่า ค่ารักษาพยาบาลที่แพงแสนสาหัส ซึ่งเป็นภาระของบริษัทประกันชีวิตทั้งหลายต้องจ่ายเงินหนักขึ้นนั้นจะส่งผลกลับมาสู่เราอย่างแน่นอน เพราะบริษัทประกันชีวิตคงอยู่ไม่ได้เช่นกัน ถ้าไม่ปรับ “เบี้ยประกัน” เพิ่มขึ้น

ตอนนี้คงได้แต่รอว่า รูปธรรมของนโยบายดังกล่าว จะออกมาในรูปแบบใด จะเหมือนหรือแตกต่างกับที่บางประเทศ เช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ใช้หรือไม่

ยกตัวอย่างการกำหนดเพดานค่ายาราคาเท่านี้ ไม่ควรชาร์จเพิ่ม รวมถึงโรคบางโรคโรงพยาบาลต้องคิดค่ารักษาพยาบาลได้ไม่เกินเท่านี้ เป็นต้น

เส้นบางๆระหว่าง “ความเป็นธรรม” ของผู้ป่วยที่เข้าไปใช้บริการ และ “ความอยู่รอด” ของโรงพยาบาลเอกชน และโรงพยาบาลรัฐกึ่งเอกชนบางแห่ง ทั้งหมดคงต้องรอลุ้นผลการระดมความคิดเห็นของคณะอนุกรรมการ ซึ่งตั้งขึ้นสด ๆ ร้อน ๆ เพื่อพิจารณาเรื่องนี้ โดยมีตัวแทนจากหน่วยงานรัฐและเอกชนที่มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายมาร่วมกันพิจารณา ประกอบด้วย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงพาณิชย์ สมาคมประกันภัย มูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภค และสมาคมโรงพยาบาลเอกชน ก่อนคลอดออกมาเป็นมาตรการบังคับใช้ ก่อนการเลือกตั้งแน่นอน